ในสถานการณ์เกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประ จำหมู่บ้าน (อสม.) จะมีบทบาทในชุมชนเป็นอย่างมาก พวกเขาจะออกมาช่วยเป็นผู้ดูแล ติดตาม ตรวจตรา สังเกตความผิดปกติบุคคลเข้าออกในชุมชน จากภาพลักษณ์ที่ดีของ อสม. แสดงให้เห็นถึง การมีจิตใจที่อาสา ความเสียสละ เป็นที่พึ่งพาของชุมชน ทำให้ อสม.เป็นที่ยอมรับของสังคมทั้งในระดับชุมชนและระดับชาติ และในวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี กำหนดให้เป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ที่มีผลการปฏิบัติงานเป็นด่านหน้าดีเด่นอีกด้วย
นางรำพึง อาศัยบุญ อายุ 60 ปี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชุมชนบ้านส่วยใน อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เธอเล่าว่า เข้ามาเป็น อสม.ตั้งแต่ปี 2536 แล้ว คนเป็น อสม.ต้องมีจิตอาสามาเป็นอันดับแรก เพราะจะต้องช่วยเหลืองานสาธารณสุข ซึ่งหน้าที่ของ อสม.คือ แจ้งข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข (ทำงานระหว่างสาธารณสุขกับชุมชน) คนเป็นอสม.จะไม่มีเกษียนอายุ นอกจากตาย หรือลาออก ซึ่งตลอดระยะเวลา 30 ปี ป้ารำพึง มีความตั้งใจสำหรับการทำงานเป็น อสม. เพราะได้มีโอกาสช่วยเหลือคนในชุมชนได้ ป้าบอกว่า เคยได้ยินข้อความ เป็นคำพูดของในหลวงราชกาลที่ 9 ท่านบอกว่า “โลกยังต้องการคนดี มาช่วยเหลือสังคม” ประโยคนี้ ฟังแล้วมันเกิดความปิติ ตื้นตันมากๆ ทำให้เป็น อสม. มาจนถึงทุกวันนี้
ที่ผ่านมาเคยได้รับรางวัล อสม.ดีเด่นระดับตำบล และระดับอำเภอมาแล้ว เดี๋ยวนี้พอเขาให้มาทำผลงานส่งระดับจังหวัด ป้าคิดว่าไม่เอาแล้ว เป็นอสม.แค่ได้ทำงาน ได้ช่วยคนในชุมชน เราทำดีไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนอะไรมากมาย ไม่ได้รอให้ใครมาชื่นชม เราทำงานช่วยเหลือสังคมได้ ไม่ได้หนักหนาอะไร ทำดีทำได้ทุกวัน ไม่ต้องมีวันหยุด เราทำความดีตอนไหนก็ได้ไม่ต้องรอให้ใครมาชื่นชม
เมื่อก่อน ป้ารำพึงเป็นสาวเย็บผ้า พอในชุมชนมีตำแหน่ง อสม.ว่าง ก็มีคนมาชวนไปทำ มันดีนะถ้าเราได้ช่วยคนอื่นแล้วเขาคลายทุกข์ได้ เราก็ปลื้มใจ อิ่มเอมไปด้วย ตอนที่เป็น อสม.ช่วงแรกๆ จำได้ว่า สมัยที่มีโรคร้ายที่ใครๆก็กลัวมาก คือ โรคเอดส์ ใครที่เป็นก็มีแต่คนรังเกียจ แต่อสม.ต้อง เป็นคนเข้าไปคุยเจรจา ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร จะติดต่อทางไหนบ้าง เราต้องเป็นคนสื่อสาร ว่าเราอยู่ร่วมกันได้ ทางหน่วยงาน สาธารณสุขเขาจัดอบรมให้ อสม. เลยไม่กลัว ทางรัฐบาล เขาให้ผู้ป่วยเปิดตัวเอง และอยู่ร่วมกับชุมชนให้ได้ ส่วนงานสาธารณสุขอื่นๆ ลูกน้ำยุงลาย เบาหวาน ความดัน รณรงค์งดเหล้า งดบุหรี่ เราก็ทำได้ กลายเป็นมีความรู้หลายเรื่อง ใครเป็นอะไรก็มาปรึกษา อ.ส.ม.ได้
ป้ารำพึงกล่าวต่อว่า ยิ่งช่วงของการแพร่ระบาด โควิด-19 พวกเรา ต้องออกปฏิบัติหน้าที่ เพราะ ต้องทำข้อมูลการสำรวจชุมชน มีจุดตรวจ มีการวัดไข้ นอกจากจะดูแลคนในชุมชน zone ต่างๆ ที่มีจำนวน 10-15 หลังคาเรื่องต่ออสม.1 คน ในพื้นที่ของตัวเอง แล้วต้องไปช่วยจุดตรวจต่างๆในการคัดกรองอีกด้วย รู้ว่าเสี่ยง แต่ก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสังคม และพวกเราก็ได้รณรงค์ เน้นให้งดการดื่มกินหล้า สังสรรค์ หรือการจัดงานต่างๆในชุมชนให้งดเลี้ยงเหล้า เนื่องจากข่าวที่มีในสื่อที่เป็นปัญหา เรื่องคลัสเตอร์โควิด เพราะเลี้ยงวันเกิด มีการเลี้ยงเหล้า กินแล้วก็สนุกจนลืมตัว กอดคอ นั่งดื่ม พูดคุยใกล้ๆกัน ก็ติดกันได้ สำหรับในชุมชนเราก็มีการออกมารณรงค์ ร่วมกับเด็กๆ YSDN หรือ Young stop drink network พวกเขาก็มาช่วยคนในชุมชนบ้านส่วย อำเภอพิมาย ช่วยทำความเข้าใจ ให้ข้อมูล คอยเป็นหูเป็นตา ต้องช่วยกันดูแล ร่วมกับ อสม. ทำให้คนในชุมชนเขาก็ให้การยอมรับมีอะไรก็มาปรึกษา ใครไป ใครมา ก็มาปรึกษา ที่บ้าน ครอบครัวเราเขาก็เข้าใจ
สำหรับเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในชุมชนของเราเอง ป้าไม่เคยคิดว่าเป็นอุปสรรคอะไร เพราะป้า ไม่เคยท้อเลย ถึงใครจะบอกว่าที่บ้านก็ ไม่ค่อยมีจะกิน แต่ก็ยังอยากจะออกไปช่วยเหลือคนอื่น. แต่ป้าคิดว่า ถ้าจะรอให้เรามีเงิน มีทอง มีทุกอย่างพร้อมแล้วค่อยออกมาช่วยเหลือสังคม แล้วเมื่อไหร่เราจะพร้อม เมื่อไหร่เราจะได้ออกมาช่วยสังคมได้ มันต้องช่วยกัน มันทำได้เลย ก็คิดอยู่ในใจค่ะว่า “ถึงไม่มีสตางค์..แต่ฉันก็มีใจ” อสม. พวกเราพร้อมจะทำทุกสิ่งที่สามารถช่วยเหลือและทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับคนในชุมชนนี้ด้วย.ป้ารำพึงกล่าวทิ้ง