เทศบาลนครตรังและอบต.ใกล้เคียง ประสานความร่วมมือกับโครงการปลูกพลังบวก เพื่อสร้างจิตสำนึก ภูมิคุ้มกันลดปัจจัยเสี่ยง(เหล้า บุหรี่) เด็กปฐมวัย ของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) อบรมเชิงปฏิบัติการครูและผู้ดูแลเด็กพร้อมผู้บริหารสถานศึกษา 80 คน เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีภูมิคุ้มกันและสร้างความปลอดภัย สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี
นายภูวณัฐ สมใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ทุกหน่วยงานทั้งจังหวัดตรัง มีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบดูแลและพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้เขาเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การดำเนินงานมีเพียงหน่วยนโยบายไม่ได้ ต้องอาศัยสถานดูแลเด็ก คุณครูและผู้ดูแลเด็กที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการบ่มเพาะ สร้างทักษะชีวิต ให้เด็กมีความแข็งแกร่ง รู้เท่าทันภัยรอบตัวและเอาตัวรอดจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้อย่างรู้เท่าทันและปลอดภัย จังหวัดตรังได้นำโครงการปลูกพลังบวก เพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง สำหรับเด็กปฐมวัย ของ สสส.มาพัฒาครู สร้าง Mind Set ติดอาวุธ สร้างองค์ความรู้ ให้ครูและผู้ดูแลเด็ก มีประสบการณ์เพื่อนำไปสื่อสารกับเด็กและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ปกครอง หวังผลว่าเด็กเล็กของตรัง จะรู้เท่าทันสามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะและสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ปลอดภัยในอนาคต
นายนิวรณ์ แสงวิสุทธิ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครตรัง กล่าวว่า ในฐานะที่ผมเป็นกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานยู่ด้วย นโยบายข้อแรก ของ สพฐ. ในยุคนี้ก็คือความปลอดภัยของเด็กทุกชั้นทุกระดับยิ่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจึงยังเป็นนโยบายหลักในการดูแลของกระทรวงศึกษาธิการและของท้องถิ่นเอง โดยเทศบาลนครตรังโดยนายกเทศมนตรีก็ได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ เอาไว้แล้ว เพื่อให้ผู้บริหารของศูนย์ได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ มาตรการในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้น มีการจัดจ้างเวรยามในการเฝ้าดูแลสถานศึกษาในพื้นที่ คนแปลกหน้าไม่มีทางที่จะได้เข้าไปในสถานศึกษา มีการกำหนดขอบเขตให้กับผู้ปกครองในการเข้าไปส่ง และไปรับบุตรหลาน คนนอกไม่สามารถเข้าไปถึงตัวเด็กได้ อีกทั้งการสร้างจิตสำนึกของเด็กๆ ในศูนย์โดยมีครูเป็นคนคอยชี้แนะ ฝึก และออกแบบกิจกรรมเพื่อให้เด็กมีความรู้สึกว่าต่อไปนี้เรื่องของความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ ทุกคนต้องช่วยกันดูแลตนเองโดยผ่านการปลูกฝังจากโรงเรียน ส่วนมาตรการของเทศบาลที่จะเข้าไปในเรื่องของการกำกับ ดูแล ส่งเสริมและสนับสนุนและป้องกันให้โรงเรียนได้เดินไปตามแนวทางที่เทศบาลได้กำกับต่อไป
พ.ต.อ.อาคม บัวทอง รองผู้บังคับการภูธรจังหวัดตรัง กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับศูนย์พัฒนาเด็กจังหวัดหนองบัวลำภูเป็นบทเรียนของประเทศ โดยการป้องกันความเสี่ยงจะเน้นใน 2 ลักษณะ คือหนึ่ง ในเรื่องของความพร้อมของบุคลากร อาคารสถานที่และสถานที่ตั้ง เนื่องจากเด็กๆ เป็นกลุ่มเปราะบาง ในเรื่องของสถานที่ มีความมั่นคงแข็งแรง ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงง่าย ส่วนหัวหน้าศูนย์และครูพี่เลี้ยงต้องมีความพร้อม บุคลากรก็จะต้องมีหน้าที่ที่แบ่งกัน เช่นเป็นผู้สอน เป็นผู้เดินตรวจความเรียบร้อย การประสานงานกับเจ้าหน้าที่โดยตรง ถ้ามีสิ่งบอกเหตุเดี่ยวนี้เรามีเทคโนโลยี ทั้งกล้อง CCTV เราไม่จำเป็นที่จะต้องให้บุคคลที่เราไม่อยากให้เข้ามาก่อเหตุ เราสามารถดูแล และควบคุมได้ทางกล้อง และสามารถแจ้งเหตุร้ายไปยังตำรวจได้อย่างทันท่วงที ผ่านทาง 191 ตำรวจเองก็เข้าสู่การควบคุมได้ ภาพที่สอง ทักษะในขณะเกิดเหตุ “หนี ซ่อน สู้” ในเมื่อเราสู้ไม่ได้เราก็ต้องหนี และเข้าไปซ่อน แต่หากเราคิดว่าเราได้เปรียบ เราสามารถสู้ได้ เราก็สามารถสู้ได้ กำลังน้อยก็สามารถสู้กำลังมากได้ถ้าเราใช้สติปัญญา
ทั้งนี้ ส่วนเรื่องของรากเหง้าของปัญหาที่ผู้ร้ายมาก่อเหตุ พ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างไร มันก็จะส่งผลหมดทุกอย่าง ถ้าพ่อแม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด มันก็จะเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีให้กับเด็ก แต่ถ้าหากในครอบครัวมีความอบอุ่นไม่ยุ่งเกี่ยวกับบายมุขต่าง ๆ มันก็จะทำให้เด็กไม่ติดยา ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข ไปด้วย เพราะฉะนั้นคนจะเป็นอย่างไรอยู่ที่พ่อแม่เลี้ยงดู ถ้าพ่อแม่อยู่กับลูกตลอด กิน อยู่ หลับนอน กับลูกเราสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้เลยว่าอบายมุขต่าง ๆ ไม่มีแน่นอน ภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งนำไปสู่ความปลอดภัย สถาบันครอบครัวจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด และครูเปรียบเสมือนเป็นครอบครัวที่สองให้กับเด็กในการสร้างภูมิคุ้มกันภายในจนนำไปสู่ความปลอดภัยในสถานศึกษา
นายบุญชู อังสวัสดิ์ หัวหน้าคณะวิทยากรภาคใต้ โครงการปลูกพลังบวกฯ กล่าวถึงความสำคัญของโครงการ ว่า หัวใจสำคัญของโครงการ คือ การฝึกอบรมคุณครู ที่จะเป็นผู้นำ มีหน้าที่ มีภารกิจ โดยตรงที่จะบ่มเพาะและพัฒนาเด็กเล็กทำให้เกิด Growth mindset ที่ดีมีภูมิคุ้มกัน การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ทางโครงการมีชุดกิจกรรมปลูกพลังบวกฯ ที่ประกอบด้วย หนังสือนิทาน เพลง เกมส์การศึกษา รวมทั้งมีคู่มือครู คู่มือผู้ปกครอง สานสัมพันธ์ บ้าน โรงเรียน พ่อ แม่ ลูกผูกพันธ์ สู่ผู้ปกครองและชุมชน เพื่อให้คุณครู ผู้บริหารสถานศึกษา นำไปสื่อสารยังเด็กปฐมวัย สร้างจิตสำนึกที่ดีเมื่อเขาเติบโตต่อไป ทั้งหมดทั้งมวลนี้วิทยากรถ่ายทอดอย่างเต็มที่ วาดหวัง ว่าผู้ได้รับการถ่ายทอดครั้งนี้จะนำไปใช้กับเด็กต่อไป และจะมีการติดตามประเมินให้กำลังใจคุณครูอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเรื่องรัฐบาลให้ความสำคัญแต่ขาดการติดตามหนุนเสริมด้วยพลังบวกอย่างจริงจัง โครงการนี้ จึงให้ความสำคัฐในความร่วมมือในพื้นที่จากท้องถิ่นและจากหน่วยงานราชการ และวิชาการ รวมทั้ง ชุมชนรอบสถานศึกษา บ้าน วัดโรงเรียนเพื่อให้เกิดความเป็นเจ้าของและสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้เด็กๆ ได้เติบโต เพราะการเลี้ยงดูเด็กไม่ใช่เพียงครอบครัว หรือโรงเรียนแต่เป็นทั้งชุมชนที่จะร่วมมือกัน