วันที่ 14 ตุลาคม 2566 เวลาประมาณ 14.00 น. ผู้แทนรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้ากลุ่มสุขภาพจิตและยาเสพติดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นายเกรียงไกร ยอดเรือน ประธานมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการโครงการ “เครือข่ายมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาสร้างเสริมสุขภาพ จังหวัดเชียงใหม่” University Deal for Health Promotion Network of Chiang Mai “U DEAL WE DO” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระ จูน้อยสุวรรณ พร้อมด้วยสมาชิกเครือข่าย นำโดย รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการฯ ผู้บริหาร หัวหน้างานฯ และผู้นำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมลงนามความเข้าใจ (MOU) ณ ห้องประชุมโรงแรมไอบิส สไตล์ เชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อประมาณปี 2549 เครือข่ายองค์กรงดเหล้า หรือ สคล ได้รับงบประมาณจาก สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่และเครือข่ายระดับภาคเหนือตอนบน ผลการดำเนินงานเครือข่ายประสพผลสำเร็จและได้รับความสนใจเข้าร่วมโครงการในรูปแบบกิจกรรมต่างๆเป็นอย่างดียิ่ง
วันนี้จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล) มหาวิทยาลัยและสถาบันการอุดมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้งที่จะเริ่มต้นโครงการฯลักษณะดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก 5 ประการ ดังนี้
- เพื่อสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาสร้างเสริมสุขภาวะในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งระดับผู้บริหาร ระดับปฏิบัติการ และผู้นำองค์กรนักศึกษา
- เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการรณรงค์ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะในหลากหลายมิติ ของสมาชิกเครือข่ายฯ
- เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมและสานต่อ แนวคิดของแกนนำนักศึกษาในการเสริมสร้างสุขภาพภายในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาที่สังกัด
- เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ แนวปฏิบัติที่ดี ในการเสริมสร้างสุขภาพของสมาชิกเครือข่ายแต่ละมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่
- เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆของ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ในอนาคตต่อไป เป็นที่ทราบกันดีว่าการสร้างเสริมสุขภาพนั้นมีมิติที่หลากหลาย เช่น ด้านโภชนาการ กิจกรรมทางกาย การนอนหลับ การลดความเครียดและความวิตกกังวล การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง การปฏิบัติทางเพศ การป้องกันสิ่งเสพติด การเคารพในการใช้เทคโนโลยี การได้รับการรับรองและสนับสนุนจากครอบครัวและชุมชน และรวมถึงการประกอบอาชีพ เป็นต้น ดังนั้นกิจกรรมโครงการฯ จึงได้กำหนดให้มี 4 กิจกรรมหลัก เพื่อให้นำไปสู่เนื้อหาและตอบสนองต่อมิติต่างๆของการสร้างเสริมสุขภาพ ดังนี้คือ
- กิจกรรม “WE DEAL” เชิญชวนมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษา ทั้ง 12 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมเป็นเครือข่ายฯ และจัดพิธีลงนามความเข้าใจร่วมกัน (MOU) และเผยแพร่ต่อสาธารณะ ด้วยสื่อประเภทต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และสื่อโซเชี่ยลมีเดียประเภทต่างๆ
- กิจกรรม “WE SHARE” กิจกรรมนี้เป็นการนำแนวปฏิบัติที่ดีต่อการสร้างเสริมสุขภาพของสถาบันฯ ในเครือข่าย(ทั้งมิติด้านร่างกายและจิตใจ) แลกเปลี่ยนความรู้ โดยการนำเสนอจาก ผู้บริหาร หรือ ผู้ปฏิบัติการ และสรุปภาพรวมเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ
- กิจกรรม “WE DO” กิจกรรมนี้จะเป็นการนำเสนอตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดี ในการสร้างเสริมสุขภาพ (ทั้งมิติด้านร่างกาย และจิตใจ) ผ่านกิจกรรมนักศึกษา ที่ได้มีการวางแผนงานไว้แล้ว โดยผู้นำองค์กรนักศึกษาของแต่ละสถาบันฯ และมีกิจกรรมสัมพันธ์แบบ “WE DO” เพื่อให้ผู้นำนักศึกษาได้รู้จักกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
- กิจกรรม “WE ARE ONE” กิจกรรมนี้จะเป็นการขมวดเนื้อหา สรุปภาพรวมจากกิจกรรมที่ 2 และ 3 ในการทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพ ระดับผู้บริหาร ระดับปฏิบัติการ และระดับผู้นำองค์กรนักศึกษา(ทั้งมิติด้านร่างกาย และจิตใจ) จากทุกสถาบันฯที่ร่วมเป็นเครือข่ายฯ และวางแผนร่วมกันในการกำหนดแผนการดำเนินงานกิจกรรมเครือข่าย โครงการระยะ
ต่อไป (Phase 2) และทำพิธีมอบใบประกาศณียบัตรแก่มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมโครงการฯ หากผลการดำเนินงานร่วมกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โอกาสในการได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุน ต่างๆเช่น ทุนสนับสนุนจาก กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) หรือองค์กรอื่นๆ การดำเนินงานอาจขายผลไปสู่เครือข่ายมหาวิทยาลัยสถาบันอุดมศึกษาระดับภาคเหนือตอนบน ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วและได้รับความสนใจและความร่วมมือเป็นอย่างดี
ที่มา : นักสื่อสารองค์กรเครือข่ายงดเหล้าภาคเหนือตอนบน