เครือข่ายงดเหล้าและสสส. จับมือภาคีเครือข่ายจัดค่ายสานพลังครอบครัวฯ

เดินหน้ายุทธการหักหอกเป็นดอกไม้ดูแลแคร์ใจต้านภัยปัจจัยเสี่ยงฟื้นฟูคืนคนดีสู่สังคม

เมื่อเร็วๆนี้ เครือข่ายงดเหล้า ภายใต้ การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถานฟื้นฟูสมรรถภาพพลเมืองกองทัพบก มณฑลทหารบกที่ 12 จังหวัดปราจีนบุรี และโรงพยาบาล อำเภอนาดี จัดโครงการค่ายสานพลังครอบครัวไทยต้านภัยวิกฤตจิตเวช ภายใต้ยุทธการ “การหักหอกเป็นดอกไม้” ในกิจกรรม “ร้อยใจให้โอกาสในอ้อมกอดของครอบครัว” กิจกรรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายสมใจพุทธเสนานายอำเภอนาดี ประธานในกิจกรรม ซึ่งให้ความสำคัญในการดูแลเคสเหล่านี้  ณ วังตะพาบรีสอร์ท ตำบลสะพานหิน อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี  

นางปทุมรัตน์เกตุเล็ก ประชาคมจังหวัดปราจีนบุรี อดีตพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มจิตเวช และยาเสพติด กล่าวว่า จากการดำเนินงานชุมชนคนสู้เหล้าในพื้นที่อำเภอประจันตคาม กว่า 10 ปี เรามีคนเลิกเหล้าสำเร็จ เป็นจำนวนไม่น้อย แต่ปัญหาที่มากกว่านั้น คือ มีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น จากยาเสพติด เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายร่างกาย ลักขโมยในชุมชน จึงขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนล้อมรักษ์ ต่อยอดจากการทำงานชุมชนคนสู้เหล้าบ้านเกาะมะไฟ ต.บ้านหอย อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง สามารถส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างเป็นกระบวนการ ด้วยยุทธการหักหอกเป็นดอกไม้ เป็นการดูแลผู้ป่วยวิกฤตจิตเวชที่เกิดจากปัญหาแอลกอฮอล์ และยาเสพติด เป็นพื้นที่ตัวอย่างของความร่วมแก้ปัญหาวิกฤติจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูง โดยใช้ชุมชนเป็นฐานจัดกระบวนการ พลิกใจให้เลิกยา มีระบบดูแล ติดตามจนผู้ป่วยจิตเวชกลับคืนสู่สังคมได้สำเร็จ

วิธีการ คือ เตรียมความพร้อมชุมชน ด้วยแนวทางดูแลเคสวิกฤตจิตเวช “โมเดลร้อยใจให้โอกาสในอ้อมกอดของชุมชน” /ส่งมอบเคสให้ชุมชนดูแลเคสต่อเนื่อง เราทำงานกันเป็นทีม ทีมโอบอุ้ม คอยเตือน ทีมวิกฤต ส่งต่อ และการเจรจาร้านค้าในพื้นที่ ที่ผ่านมาการดำเนินงานของอำเภอประจันตคามมีปัจจัยสำเร็จอยู่ที่ทีมงานเข้มแข็ง  มีความรู้  ประสานสื่อสารความรุนแรงผ่านกรุ๊ปไลน์ปักหมุดหยุดวิกฤตติดตามครอบคลุม อุปสรรคสำคัญคือญาติไม่รับกลับบ้าน / ชุมชนไม่กล้าดูแล  สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ การทำงานเป็นทีมช่วยได้มากก้าวต่อไป จึงจำเป็นต้องหาเจ้าภาพร่วม ทำชุมชน/ เทศบาล/ อบต.ต้นแบบ ดูแลจิตเวชวิกฤต (SMIV) อีกทั้งยังพบว่า วิธีทำให้เกิดความยั่งยืน คือพื้นที่/ชุมชนเป็นเจ้าของปัญหา ซึ่งจะทำให้สามารถจัดการตนเอง และดูแลเคสได้จริง

ด้านนางนวรัตน์นาคทองผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ตำบลบ้านหอย บ้านเกาะมะไฟ เปิดเผยว่า  เริ่มต้นเราทำรณรงค์ชุมชนคนสู้เหล้า โดยชมรมคนหัวใจเพชรเลิกเหล้า จากนั้น เกิดการระบาดของสารเสพติด เมื่อพบผู้ป่วยก็แจ้งตำรวจ จับแล้วก็ปล่อยกลับ เป็นอยู่แบบนี้ จึงส่งตัวเข้าสู่ระบบการรักษาของหมอที่โรงพยาบาลจิตเวชประมาณ 1 เดือน แต่ กลับออกมาแล้ว ญาติก็ไม่สามารถดูแลให้ผู้ป่วยกินยาได้ เนื่องจาก ผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้สารเสพติด เขาจะอาละวาดคลุ้มคลั่ง ทุบตี พ่อแม่ ทำร้ายข้าวของในครอบครัว แล้วก็สร้างความเดือดร้อน ก่อความรำคาญก้าวร้าวให้กับชุมชน 

การจะรับกลับมาในชุมชน ต้องปรับทัศนคติตัวเองก่อน เราต้องอ่อนโยนลง เราเห็นพยาบาลพูดจาดี แล้วคนป่วยเชื่อ คนป่วยยอมกินยา กับ พยาบาล ผู้ใหญ่ก็เอามาปรับใช้ ให้ความรัก/อ่อนโยน ชื่นชมเขา ทำให้เขามีตัวตน/คุณค่าในชุมชน/สังคม ผู้ป่วยจิตเวช เขารู้สึกได้ว่าใครจริงใจกับเขา คือ เราพยายามแสดงออกทุกวิถีทาง เพื่อให้เขารู้ว่า เราเป็นห่วงเขา ขณะนี้ที่ผู้ใหญ่ดูแลอยู่ 4 เคส เป็นสีเหลือง 3 Case (ที่ยังต้องกินยาอยู่) และ สีเขียว คือ สะอาดแล้ว 1 เคส (เรียกว่ารอด) นับเป็นความสำเร็จก้าวแรก 

นางสาวณัฐชุตาประสมศรี (คุณแม่น้องชบานามสมมุติ) อายุ 56 ปี กล่าวว่า ที่ผ่านมาครอบครัวเรา อบอุ่นดี แม่ไม่เคย ดุด่าตีลูก …แม่มีพ่อเลี้ยง น้องก็เริ่มมีแฟน เราเลยห่างๆกัน แม่รู้สึกว่าลูกไม่ค่อยใกล้ชิดกับแม่ เพราะน้องไปอยู่กับแฟน ขับรถส่งของ เพื่อนๆ ที่เขาดื่มเหล้าด้วยกันประจำ ใช้สารเสพติดกันเยอะ น้องก็ใช้ด้วยกันกับแฟน  พอสังเกตอาการน้องเริ่มแปลกๆ พูดคนเดียว อาการฉุนเฉียว หงุดหงิดโมโหง่าย เขาจะเห็นบางสิ่งที่คนปกติไม่เห็น ได้ยินเสียงที่เราไม่ได้ยิน เหมือนหูแว่ว เมื่ออาการไม่ดีขึ้น แม่เลยปรึกษาทางแพทย์และเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาการน้องหนักมากขึ้น แม่เลยโทรตามเจ้าหน้าที่มารับตัว ซึ่งตอนนี้น้องมาบำบัดรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล อำเภอนาดี

ค่ายครอบครัวครั้งนี้ แม่มาเพื่อเรียนรู้เข้าใจผู้ป่วยกลุ่มนี้ เราจะช่วยลูกได้อย่างไร? ต้องดูแลร่างกาย จิตใจให้เขาฟื้นกายใจได้กลับมาเป็นปกติได้อย่างไร? เมื่อลูกเป็นแบบนี้ แม่คิดว่าถ้าไม่ตัดสินใจออกมาดูแลลูกก็คงจะไม่ได้ลูกกลับคืนมา แม่คิดว่าน้องต้องเข้ารับการบำบัด ซึ่งแม่ก็ได้มาดูแลน้องได้  2 เดือนแล้ว ขณะนี้ลูกดีขึ้น ประมาณ 50% แล้ว แต่เขายังจำบางเรื่องไม่ค่อยได้ แม่มีกำลังใจที่จะต่อสู้เอาลูกกลับคืนมาเหมือนเดิม และคืนมาอยู่ด้วยกันกับครอบครัวสู่สังคมอย่างมีความสุข

นางสาวอารีย์เหมะธุลินผู้จัดการเครือข่ายงดเหล้าภาคตะวันออก กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสานพลังครอบครัวฯ แคร์ใจในชุมชน ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 14 ครอบครัว จากที่เราทำงานเรื่องเหล้าในชุมชนพบว่าคนที่เคยดื่มหนักมาก่อนเขาจะก้าวไปสู่สารเสพติดขั้นที่มากกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงในสังคม ที่เราไม่อาจมองผ่านได้ เมื่อลูกหลานของพวกเราก้าวพลาดไป เราต้องร่วมมือกันประคับประคอง เตรียมพร้อมดูแลให้พวกเขากลับคืนสู่ครอบครัว และอยู่ในชุมชน/สังคม ได้อย่างมีความสุข

กองบรรณาธิการ SDNThailand