“งานศพ” ค่าใช้จ่ายสูง “เครือข่ายงดเหล้า” แนะชุมชน เดินหน้างานศพปลอดเหล้า

จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กหญิงรายหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษ โพสต์เล่าประสบการณ์การจัดงานศพมารดาเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2568 ว่ามีค่าใช้จ่ายสูงถึงกว่า 300,000 บาท ขณะที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากซองในงานศพเพียงประมาณ 36,746 บาท โดยผู้มาร่วมงานส่วนใหญ่ใส่ซองหลักสิบถึงหลักร้อยบาท แต่เจ้าภาพต้องจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มอย่างเต็มที่ นับตั้งแต่การล้มหมู ซื้อเหล้า ขอเงินเติมน้ำมันเพื่อขนเต็นท์ โต๊ะ และอื่นๆ จนหลังจบงานศพต้องเป็นหนี้กว่า 50,000 บาท นอกจากนี้ ในช่วงสงกรานต์ยังมีญาติมาสอบถามถึงการจัดทำบุญอุทิศส่วนกุศลอีกครั้ง ผู้โพสต์ระบุว่าตนเองไม่ได้มีส่วนตัดสินใจในการจัดงาน เพราะญาติเป็นผู้ดำเนินการ และเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดงานศพในภาคกลางก็พบว่ารูปแบบต่างกัน โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจและมีผู้แสดงความคิดเห็นหลากหลาย ส่วนใหญ่เห็นว่าควรจัดงานศพแบบเรียบง่าย เพราะผู้สูญเสียไม่ควรต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อเลี้ยงแขกในงานที่มีแต่ความโศกเศร้า

ต่อมา วันที่ 28 เม.ย. 2568 นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการเครือข่ายงดเหล้า กล่าวถึงปัญหาค่าใช้จ่ายและความเหมาะสมของประเพณีงานศพว่า เครือข่ายงดเหล้าได้ริเริ่มโครงการ “งานศพปลอดเหล้า เคารพผู้วายชนม์” เช่นที่บ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ซึ่งเริ่มจากโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยเน้นลดค่าใช้จ่าย ลดปัญหา ลดหนี้สิน และเพิ่มคุณภาพชีวิต พบว่าค่าใช้จ่ายงานศพหลักๆ แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1. ค่าพิธีกรรม (เช่น พิธีสงฆ์ พิธีเฉพาะถิ่น การจัดการศพโดยสัปเหร่อ) 2. ค่าโลง ดอกไม้ ตกแต่งไฟ 3. ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 4. ค่าจัดการสถานที่ โต๊ะ เต็นท์ และอำนวยความสะดวก

แนวทางลดค่าใช้จ่าย ได้แก่ งดเลี้ยงเหล้าเบียร์ในงาน ควบคุมค่าอาหาร เปลี่ยนสถานที่จัดงานไปวัด ปรึกษากับคณะสงฆ์เรื่องการถวายซองพระและจำนวนพระที่เหมาะสม หากทำได้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและตอบโจทย์งานศพที่เน้นการเคารพผู้วายชนม์ ไม่ใช่ “คนตายขายคนเป็น” ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยมติชุมชน เช่น ธรรมนูญตำบล ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือนโยบายของคณะสงฆ์ เพื่อให้เกิดเป็นธรรมเนียมในชุมชน

นายธีระยังยกตัวอย่างบ้านหม้อ หมู่ 6 ต.สันโป่ง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่เริ่มโครงการงานศพปลอดเหล้าตั้งแต่ปี 2552 โดยมีข้อตกลงร่วมกันในชุมชน หากเจ้าภาพไม่ปฏิบัติตาม เช่น ยังเลี้ยงเหล้าในงาน จะถูกงดรับกิจนิมนต์จากพระ งดเงินฌาปนกิจและความช่วยเหลือ และไม่ให้ยืมของส่วนกลางของหมู่บ้าน งานศพทุกงานจะจัดที่ศาลาในวัด ช่วยลดค่าใช้จ่ายและสร้างความร่วมมือในชุมชน ปัจจุบันมีชุมชนต้นแบบกว่า 51 แห่ง หากชุมชนใดสนใจสามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากเครือข่ายงดเหล้าได้

กองบรรณาธิการ SDNThailand