“สานพลัง ‘พุทธะ’ เพื่อ ลด ละ เลิก บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มูลนิธิโพธิยาลัย มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม เครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ (คพชน) เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคม ๙ ภาค เครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก เครือข่ายพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน เครือข่ายโรงเรียนพระปริยัติปลอดบุหรี่ ในฐานะองค์กรพระพุทธศาสนา และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าขยายวงกว้างไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีผลกระทบต่อร่างกาย เศรษฐกิจ สังคม สร้างปัญหาอาชญากรรม และความรุนแรงในครอบครัว จึงร่วมแสดงเจตนารมณ์เพื่อดำเนินการ “สานพลัง พุทธ เพื่อ ลด ละ เลิกบุหรี่ และเครื่องดื่นแอลกอฮอล์”

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และประธานคณะกรรมการบริหารแผน พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารแผนและผู้บริหารจากสำนักงาน สสส. ได้ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานภายใต้โครงการ “สานพลังพระพุทธศาสนาสร้างเสริมสุขภาพสังคมไทย” ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญในการใช้พลังของศาสนาในการขับเคลื่อนสุขภาวะของสังคมไทยอย่างยั่งยืน

          กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการเยี่ยมชมนิทรรศการภายในบริเวณงานที่จัดแสดงผลงานและแนวคิดจากโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพผ่านพระพุทธศาสนา และเยี่ยมศูนย์การเรียนโพธิยาลัย โรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบในการบูรณาการหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้ากับการส่งเสริมสุขภาพทั้งทางกาย จิตใจ และสังคม

ประเด็นก้าวต่อไปความร่วมมือในการขับเคลื่อนงาน 3 โครงการ          พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญทางวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ไม่เพียงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ยังเป็นแนวทางในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และสุขภาวะของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม โดยเฉพาะหลักธรรมคำสอนที่เน้น “ความไม่ประมาท” การมี “สติ” และการ “ลด ละ เลิก” อบายมุข เช่น เหล้า บุหรี่ และสารเสพติดโครงการ “วัดปลอดบุหรี่ สุขภาพดีด้วยวิถีธรรม” โดยพระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทโธ, ผศ.ดร.

          โครงการนี้ดำเนินงานบนฐานพุทธธรรม โดยมีเป้าหมายให้พระสงฆ์และวัดเป็น “ต้นแบบแห่งการเปลี่ยนแปลง” ในการลดการบริโภคบุหรี่ในสังคมไทย เริ่มต้นจากการ ตื่นตัวของพระสงฆ์ ที่ลุกขึ้นมาร่วมแก้ไขปัญหาอย่างมีระบบ ทั้งในแง่การพัฒนาพื้นที่ การใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ การปรับพฤติกรรมของพระภิกษุเอง ตลอดจนการสร้างเครือข่ายพระแกนนำและอาสาสมัคร           ผลลัพธ์ของโครงการที่น่าสนใจ ได้แก่ ส่งเสริมให้เกิด วัดปลอดบุหรี่กว่า 3,300 แห่ง ใน 24 จังหวัดทั่วประเทศ จัดตั้ง โรงเรียนพระปริยัติธรรมต้นแบบปลอดบุหรี่ 80 แห่ง มีพระสงฆ์ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้จริง 147 รูป มีประชาชนรวม 9,227 คน ลงนามใน “ใบอธิษฐานจิต”โครงการสร้างเสริมสถาบันพระพุทธศาสนาสุขภาวะเพื่อการลดปัจจัยเสี่ยงใน 10 จังหวัด

ดำเนินงาน โดยพระศรีสมโพธิ           พระพุทธศาสนาไม่เพียงเป็นแหล่งเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ หากยังเป็นกลไกสำคัญในการสร้างสุขภาวะของสังคม โดยเฉพาะเมื่อเชื่อมโยงกับโครงสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและเข้าถึงได้จริง โครงการ “สร้างเสริมสถาบันพระพุทธศาสนาสุขภาวะเพื่อการลดปัจจัยเสี่ยงใน 10 จังหวัด” จึงถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพของประชาชน ผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ โครงการนี้เน้นการเสริมสร้างศักยภาพของพระสงฆ์ โดยเฉพาะกลุ่ม พระสอนศีลธรรมในโรงเรียน และเครือข่าย “บวร” (บ้าน – วัด – โรงเรียน/ราชการ) ให้ทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง”

แนวทางการดำเนินงานและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เป้าหมาย ลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว ลดพฤติกรรมเสี่ยง และส่งเสริมค่านิยมการบวชเชิงจิตวิญญาณมากกว่าการจัดงานรื่นเริง           พื้นที่ดำเนินการ 173 พื้นที่/วัด ครอบคลุม 50 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างมกราคม  2567
ถึงกุมภาพันธ์ 2568 จำนวนผู้เข้าร่วม มีการจัดพิธี “งานบวชสร้างสุข” ให้แก่ นาคจำนวน 3,085 รูป ผลสัมฤทธิ์ด้านเศรษฐกิจ ลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยได้ถึง 100,000 บาทต่อการบวชหนึ่งงาน เฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดลงเฉลี่ย 20,000 บาท/งาน รวมยอดการประหยัดค่าใช้จ่ายจากทั้งโครงการกว่า 308,500,000 บาท ผลสัมฤทธิ์ด้านสังคม พบว่าช่วยลดเหตุ ความรุนแรงและทะเลาะวิวาทในงานบวช ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ โดยพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในงานบวชเฉลี่ยต่อปีลดลงจาก 9 ราย เหลือเพียง 4.5 ราย/ปี แก่นของ “งานบวชสร้างสุข” คือความสุขที่แท้จริงตามหลักพุทธธรรม “งานบวชสร้างสุข” ไม่ได้เป็นเพียงโครงการลดรายจ่ายเท่านั้น แต่ยังเป็น กระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ที่ส่งเสริมให้ครอบครัว ชุมชน และวัด ร่วมกันกลับคืนสู่สาระของการบวชที่แท้จริง โดยเน้นการ บวชเพื่อการฝึกตน บำเพ็ญธรรม และพัฒนาจิตใจ มากกว่าการจัดเลี้ยงเพื่อความสนุกสนาน

ประกาศเจตนารมณ์

“สานพลัง ‘พุทธะ’ เพื่อ ลด ละ เลิก บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

>>>>>>>>>>&&&&&<<<<<<<<<<

สังคมไทยได้ชื่อว่าเป็น “สังคมพุทธ” ด้วยเหตุที่มีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมมาแต่โบราณกาล ชาวพุทธต่างถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งเป็นสรณะ กล่าวคือ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นแบบแห่งมนุษย์ผู้มีความสามารถในการฝึกฝนพัฒนาตนเองสู่สันติสุขภายใน มีพระธรรมเป็นปฏิปทาเป็นมรรคาสู่สันติสุข มีพระสงฆ์ผู้เดินตามรอยแห่งพระศาสดาสามารถเข้าถึงประสบการณ์แห่งสันติสุขภายใน และมีบทบาทในการเกื้อกูลสังคมให้เกิดประโยชน์ สุข ตามฐานานุรูป

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มูลนิธิโพธิยาลัย มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม เครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ (คพชน) เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคม ๙ ภาค เครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก เครือข่ายพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน เครือข่ายโรงเรียนพระปริยัติปลอดบุหรี่ ในฐานะองค์กรพระพุทธศาสนา และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าขยายวงกว้างไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีผลกระทบต่อร่างกาย เศรษฐกิจ สังคม สร้างปัญหาอาชญากรรม และความรุนแรงในครอบครัว จึงร่วมแสดงเจตนารมณ์เพื่อดำเนินการ “สานพลัง พุทธ เพื่อ ลด ละ เลิกบุหรี่ และเครื่องดื่นแอลกอฮอล์” ดังนี้

๑. สนองตอบต่อมติมหาเถรสมาคม เรื่อง “แนวทางการปฏิบัติการจัดงานบุญปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า” โดย

๑.๑ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดสภาพแวดล้อมพื้นที่แสดงสัญลักษณ์เป็นเขตปลอดบุหรี่ และปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสดงสัญญาลักษณ์ห้ามสูบบุหรี่หรือปลอดบุหรี่ เครื่องหมายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เขตปลอดบุหรี่และเขตปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวัด มหาวิทยาลัยสงฆ์ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม

๑.๒ สร้างความเข้าใจ และความร่วมมือกับประชาชนที่มาติดต่อใช้พื้นที่วัดประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมอื่นใด ไม่ขายบุหรี่และขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งไม่ให้มีการสูบบุหรี่ ไม่ให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่วัด มหาวิทยาลัยสงฆ์ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม

๑.๓ จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมให้พระภิกษุสามเณร ปฏิบัติเป็นแบบอย่างในการไม่สูบบุหรี่ รณรงค์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของการสูบบุหรี่ พิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งผลกระทบต่อร่างกาย เศรษฐกิจ สังคม ปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรงในครอบครัว ตลอดถึงรณรงค์ในโอกาสต่าง ๆ เพื่อสร้างค่านิยมในการไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหมู่ประชาชน

๑.๔ สนับสนุน และส่งเสริมต้นแบบการจัดงานบุญปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า อาทิ “งานบวชสร้างสุข” ซึ่งเน้นยึดหลักพระธรรมวินัย ประหยัด เรียบง่าย  เพื่อเป็นแบบอย่างในการจัดงานบุญสร้างสุขภาวะให้กับผู้บวช ครอบครัว ชุมชนซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และลดความรุนแรง ทะเลาะวิวาทที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย

          ๒. ส่งเสริม สนับสนุน และสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการสร้างพื้นที่รูปธรรม “ปลอดบุหรี่” และ “ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ในวัด มหาวิทยาลัยสงฆ์ และโรงเรียพระปริยัติธรรม บูรณาการหลักพุทธธรรมในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม “ปลอดบุหรี่” และ “ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เพื่อการรณรงค์สร้างค่านิยมในการไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างภูมิคุ้มกันทางใจ และเสริมพลังจิตสำนึกผ่านกระบวนการทางพระพุทธศาสนา วิถีแห่งศีล สมาธิ และปัญญาเพื่อหยุดยั้งวงจรของพฤติกรรมเสี่ยง และฟื้นฟูพลังชีวิตของสังคม ของประชาชนอย่างยังยืน

๓. ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายในการป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประกาศเจตจำนงที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้รัฐบาลคงนโยบาย มาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มูลนิธิโพธิยาลัย มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม

เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ (คพชน) เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคม ๙ ภาค เครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก เครือข่ายพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน เครือข่ายโรงเรียนพระปริยัติปลอดบุหรี่  และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๘

ข่าวโดย :นางสาวเพ็ญพิศ ชงักรัมย์ 14 พฤษภาคม 2568