สสส. และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ลงนาม MOU ร่วมกับ ม.ราชภัฎ หวังขับเคลื่อนกลไกเครือข่ายนักสื่อสารเยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะชุมชน สร้างการรู้เท่าทันด้านสุขภาพ พัฒนาต่อยอดผ่านสื่อ เพื่อแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สู่สังคม
10.00 น.) วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ในพิธีลงนามความร่วมมือออนไลน์ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวถึงกิจกรรม งานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ระหว่าง สสส. สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) เครือข่าย 10 มหาวิทยาลัยราชภัฎ เป้าหมายของความร่วมมือครั้งนี้ว่า เป็นการร่วมกันสร้างและพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมการสื่อสารผ่านกลไกเครือข่ายนักสื่อสารเยาวชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงค่านิยมและเป็นการส่งเสริมสุขภาวะชุมชน ซึ่งเป็นภารกิจหลักของ สสส. อีกทั้งยังเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายวิชาการวิชาชีพเครือข่ายนักสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและสุขภาวะชุมชน ซึ่งเป็นคณาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎทั่วประเทศ และเครือข่ายเคเบิ้ลทีวีสื่อต่างๆในพื้นที่โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับทักษะการผลิตสื่อรณรงค์ และให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การดื่มบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนและผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งในช่วงเวลาปกติและในห้วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้นักศึกษาได้ตระหนักรู้ และสื่อสารรณรงค์ออกมาในรูปแบบสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากประเด็นเรื่องผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ยังมุ่งหวังขยายผลไปสู่ปัญหาสุขภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ อาทิ ผลกระทบที่เกิดจากบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า การพนัน สิ่งเสพติดอื่นๆ ตลอดจนโรค NCDs ต่างๆ อันจะส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพของคนไทยในที่สุด
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ระบุว่า ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 เรื่องนักดื่มหน้าใหม่ พบอายุเฉลี่ยของผู้ที่ดื่มครั้งแรกเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 20.3 ปี ผู้ชายจะดื่มไวกว่าผู้หญิงเล็กน้อย โดยผู้ชายจะดื่มครั้งแรกเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 19.3 ปี และผู้หญิง 23.7 ปี ที่น่ากังวลคือ พบเยาวชนไทยเริ่มดื่มครั้งแรกตั้งแต่อายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ สูงถึงร้อยละ 12.2 ซึ่งในแต่ละปีเรามีนักดื่มหน้าใหม่ และผลกระทบก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและค่านิยมทางสังคมมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้หลากหลายมาตรการควบคู่กันไป การสื่อสารก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญในการสร้างการรับรู้และความตระหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นปัญหาที่สามารถร่วมกันป้องกันและแก้ไขได้ การได้รับรู้ รับฟัง “เสียงจากผู้ได้รับผลกระทบ” จะทำให้ได้เห็นแง่มุมต่างๆ ความทุกข์ทรมาน รวมทั้งความสูญเสีย ซึ่งเป็นเรื่องที่ตามมาหลังจากมีการดื่ม แต่ส่วนใหญ่ธุรกิจเลือกที่จะไม่พูด ไม่นำเสนอข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ การเปิดเผยเรื่องราวจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ เหยื่อ และครอบครัวผู้ที่เกี่ยวข้อง จะเป็นเครื่องยืนยันที่ดีที่สุด ในการสื่อสารให้ประชาชนเกิดความตระหนัก รู้เท่าทันการตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์ และปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพต่างๆ การผลิตสื่อบนฐานข้อมูลจริง จะช่วยตีแผ่ให้สังคมไทยได้ยินเสียงของผู้ได้รับผลกระทบเหล่านั้น เพื่อมุ่งสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสังคมในการลดละเลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในท้ายที่สุด
ทางด้าน ผศ.ดร.จุฑาทิพย์ พหลภาคย์ คณบดี คณะวิทยาการจัดการ มรภ.พระนคร (ตัวแทนท่านคณบดีจากมหาวิทยาลัยราชภัฎทั้ง 10 แห่ง) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบทั้งต่อพฤติกรรมทางสุขภาวะและการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมากมาย ในขณะเดียวกันได้ส่งผลให้โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่สำหรับเชื่อมโยงผู้คนหลากหลายเข้าหากัน เราจึงไม่อาจปฏิเสธว่าการรณรงค์แบบเดิมๆจะเป็นวิธีที่ทรงพลังได้ดั่งเดิม มีความจำเป็นต้องติดตั้งความรอบรู้ทางด้านสุขภาพเพื่อให้เป็น “ต้นทุน” ให้บุคคลแต่ละคน ในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษา ด้วยศักยภาพของคณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ ของแต่ละมหาวิทยาลัยฯ ที่มีทั้งความรู้และประสบการณ์ การดำเนินการในเรื่องที่สำคัญและมีประโยชน์สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมการสื่อสารรูปแบบออนไลน์ เป็นทั้งโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแสดงพลังทางสังคม ตลอดจนช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานด้านสุขภาวะต่อไป
ผศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าวต่อว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) และภาคีเครือข่ายวิชาการวิชาชีพเครือข่ายนักสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและสุขภาวะชุมชนจาก 10 มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ที่จะทำให้องค์ความรู้ในการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะชุมชนผ่านการพัฒนาศักยภาพ ความสามารถ และทักษะในการสื่อสารรณรงค์ของนักนิเทศศาสตร์ออกไปในวงกว้าง อันจะนำไปสู่การลดผลกระทบเชิงลบและขยายผลผลกระทบเชิงบวกด้านสุขภาวะอย่างยั่งยืน
ในส่วนของ คุณธีรภัทร เอื้ออารีวรกุล กรรมการนโยบาย บริษัทไทยเคเบิลบรอดแคสติ้งจำกัด Cable Channel 37 HD ในนามตัวแทนเคเบิลทีวีทั่วประเทศ กล่าวว่า ทางองค์กรให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์สื่อเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากผลงานเครือข่าย 10 มหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นการสร้างสรรค์สื่อสะท้อนเป็นบทเรียน และที่น่าชื่นชมมากๆ ในนามดิจิทัลทีวีท้องถิ่นหรือเคเบิลทีวี ยินดีสนับสนุนบทบาทสื่อท้องถิ่นร่วมขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม ช่วยเชื่อมโยงและขยายการทำงานของภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ และเชื่อว่าจะได้สร้างการรับรู้จากพลังของเด็กและเยาวชน สานพลังเครือข่ายเคเบิลดิจิทัลทีวีสู่นักสื่อสารสุขภาวะลดปัจจัยเสี่ยง: สร้างพื้นที่การเผยแพร่สื่อรณรงค์และประเด็นลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพและสังคม ฉะนั้นผลงานทุกชิ้นจะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านทุกช่องทาง พร้อมทั้งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ Cable Channel 37 HD ในช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคมร่วมกัน.
ในส่วนของการดำเนินโครงการนี้ เป็นความร่วมมือจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฎทั้ง 10 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ มรภ.พระนคร, มรภ.หมู่บ้านจอมบึง, มรภ.เทพสตรี, มรภ.รำไพพรรณี, มรภ.สงขลา, มรภ.นครศรีธรรมราช, มรภ.เชียงใหม่, มรภ.พิบูลสงคราม, มรภ.ศรีสะเกษ, มรภ.อุดรธานี ทั้งนี้ ยังมีเครือข่ายเคเบิ้ลทีวีและสื่อในท้องถิ่น ใน 10 จังหวัดนำร่อง โดยการทำงานจะเน้นเรื่องการพัฒนากลไกความร่วมมือและนวัตกรรมในการสื่อสารบนโลกสมัยใหม่ การทำงานร่วมกันในครั้งนี้จะเป็นต้นแบบให้กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศให้เกิดความตระหนักและร่วมหาวิธีสื่อสารดูแลป้องกันไม่ให้ประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเยาวชนที่เป็นนักศึกษาตกเป็นเหยื่อการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีความรอบรู้เท่าทันประเด็นปัญหาทางด้านสุขภาพมากขึ้น