วันที่ 17 มีนาคม 2565 ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ สภาพลเมืองสุรินทร์ สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานตอนล่าง (ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ศูนย์ประสานภาคีพัฒนาจังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมกว่า 150 คน จัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องชาวจังหวัดสุรินทร์และมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมแล้วจะทำให้งานช้างสุรินทร์ ได้รับการพัฒนาสามารถสะท้อนอัตลักษ์ที่เป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรมและกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญเป็นงานที่ปลอดปลอดเหล้าปลอดภัยทำให้คนสุรินทร์และนักท่องเที่ยวมาเที่ยวอย่างมีความสุข
นางลาวัลย์ งามชื่น กล่าวว่า สภาพลเมืองสุรินทร์ เป็นพื้นที่กลางที่พยายามประสานความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันออกแบบ เพื่อทำให้คนสุรินทร์มีสุขภาวะที่ดี การที่จังหวัดสุรินทร์ได้จัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องชาวสุรินทร์ในครั้งนี้ เพราะอยากเห็นการพัฒนารูปแบบการจัดงานช้างสุรินทร์ ที่มีคนสุรินทร์มีส่วนร่วม และคนสุรินทร์ได้ประโยชน์ เพราะ “มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์” จัดขึ้นที่สนามแสดงช้างเป็นประจำทุกปี แต่การจัดงานในช่วงหลาย 10 ปีมานี้ มีภาคีเครือข่ายชาวสุรินทร์ หลายภาคส่วนสะท้อนว่า รูปแบบการจัดงานเปลี่ยนไป ไม่ได้เน้นวิถีชีวิตระหว่างคนกับช้าง หรืออาจเรียกได้ว่าขาดอัตลักษณ์ของการเป็นเมืองช้างสุรินทร์ รวมไปถึงขาดการมีส่วนร่วมของคนสุรินทร์อย่างแท้จริง
นายบำรุง เป็นสุข สคล.ภาคอีสานตอนล่าง กล่าวว่า
ในช่วงปี 2549-2553 มีการเก็บข้อมูลความรุนแรงในงานช้างสุรินทร์ พบว่ามีลูกหลานที่มาเที่ยวงานเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 4-6 คนต่อปี ข้อมูลสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ในปี 2553 มีการทะเละวิวาท 168 ครั้ง เกิดอุบัติเหตุ 89 ครั้ง และมีเด็กเยาวชนเสียชีวิต 6 ราย ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทางเครือข่ายองค์กรงดเหล้าร่วมกับประชาสังคมสุรินทร์สร้างสุข จึงได้เก็บข้อมูลรับฟังความคิดเห็นว่า “คนสุรินทร์อยากเห็นงานช้างเป็นอย่างไรหากจะจัดงานช้างปลอดเหล้าเห็นด้วยหรือไม่” ซึ่งร้อยละ 98 พี่น้องจังหวัดสุรินทร์อยากให้จัดงานปลอดเหล้าเพื่อสร้างความปลอดภัย หลังจากนั้นได้นำข้อมูลเข้าในการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดสุรินทร์ จนกระทั่งปี 2554 จังหวัดสุรินทร์ประกาศให้งานช้างสุรินทร์เป็นปลอดเหล้า ตลอดเวลา 10 ปี ผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่สำคัญไม่มีการเสียชีวิตของเด็กเยาวชนงานอีกเลย ดังนั้นจึงอยากให้งานนี้เป็นงานช้างสุรินทร์สร้างสุขที่ปลอดเหล้าปลอดภัยต่อไป
ดร.ประภาพร บุญปลอด อาจารย์จากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ กล่าวว่า
ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นมาทางสถาบันได้ร่วมออกแบบเครื่องมือเพื่อสำรวจความคิดเห็นในช่วงการจัดงานช้างของคนสุรินทร์-นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวงาน จำนวน 985 คน ร้อยละ 76.24 เป็นชาวสุรินทร์ ร้อยละ 14.31 เป็นคนจังหวัดอื่นที่อาศัยในจังหวัดสุรินทร์ ร้อยละ 9.45 เป็นนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ พบว่าระดับความพึงพอใจ 3 ระดับจากมากไปหาน้อยเกี่ยวกับ 1)อาหารที่นำมาเลี้ยงช้างมีความปลอดภัยพึงพอใจระดับปานกลางร้อยละ 40 รองลงมาระดับมากร้อยละ 37.50 รองลงมาระดับมากที่สุดร้อยละ 11.57 2) ประเภทร้านค้าในงานช้างมีความหลากหลายและเหมาะสม พึงพอใจระดับปานกลางร้อย 31.84 รองลงมาระดับน้อยร้อยละ 21.41 รองลงระดับน้อยที่สุดร้อยละ 9.85 3) กิจกรรมเชิงวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์ พึงพอใจระดับปานกลางร้อยละ 32.80 รองลงมาระดับน้อยร้อยละ 27.30 รองลงระดับน้อยที่สุดร้อยละ 8.62 4) ร้านอาหารในบริเวณงานช้างมีความหลากหลายและสะอาดถูกสุขอนามัย พึงพอใจระดับปานกลางร้อยละ 31.37 รองลงมาระดับน้อยร้อยละ 18.17 รองลงระดับน้อยที่สุดร้อยละ 8.12 5) ประชาชนมีบทบาทในการร่วมแสดงความคิดเห็นในการออกแบบการจัดงานช้างแฟร์ งานเลี้ยงอาหารช้างและงานแสดงของช้างพึงพอใจระดับน้อยร้อยละ 49.45 รองลงมาระดับปานกลางร้อยละ 30.56 รองลงระดับมากร้อยละ 9.03 6)ควรเพิ่มให้มากขึ้นในงานกาชาด งานช้างแฟร์จังหวัดสุรินทร์ มากที่สุดภาพเก่าเล่าเรื่องช้าง ข้าหอมมะลิ ผ้าไหมและวิถีคนสุรินทร์ร้อยละ 62.59 รองลงมาการออกบู๊ธสินค้าและของดีชุมชนร้อยละ 59.78 รองลงลำดับสามภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองสุรินทร์ร้อยละ 49.65 รองลงลำดับสี่การประกวดและแสดงภาพสถานที่ท่องเที่ยวเมืองสุรินทร์ร้อยละ 49.45 รองลงมาระดับห้าการแสดงกันตรึม /กันตรึมออเคสตร้า ร้อยละ 45.65
ดร.คุณภัทร ศรศิลป์ กล่าวว่า
ข้อมูลความพึงพอใจในช่วงการจัดงานสอดคล้องกับข้อมูลจากการโฟกัสกรุ๊ปเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มใน 7 กลุ่มคือกลุ่มชาวช้าง กลุ่มศิลปิน-วัฒนธรรม กลุ่มสื่อมวลชน กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจ โรงแรม กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวและผลิตผ้าไหม และกลุ่มเด็กเยาวชน จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบข้อเสนอเพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมและมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้งานช้างเป็นมหัศจรรย์งานช้าง ที่สะท้อนอัตลักษณ์ วิถี วัฒนธรรมของคนสุรินทร์อย่างแท้จริง คือควรมี
1) กลไกกลางหรือคณะกรรมการจัดงานที่องค์ประกอบจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชาวช้างและภาคประชาสังคมในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อร่วมกำหนดรูปแบบงาน
2) เตรียมงานและมีการประชาสัมพันธ์ก่อนถึงวันจัดงานไม่ให้กระชั้นชิด
3) รูปแบบการจัดงานควรส่งเสริมให้คนสุรินทร์ใส่ผ้าไหมมาเที่ยวงานช้าง และจัดโซนบู๊ธของอำเภอ โซนวัฒนธรรมลาว เขมร กูยและจีน โซนผลผลิตข้าว ผ้าไหม โซนอาหารถิ่นและโซนส่งเสริมการแสดงออกของเด็กเยาวชนที่สร้างสรรรค์
4) จัดเส้นทางการท่องเที่ยวปลอดภัยที่เชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกบริเวณจัดงานช้างให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมชาวช้างบ้านตากลาง ปราสาทศีขรภูมิ และช่องจอม ตลอดปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดสุรินทร์
5) งานเลี้ยงอาหารช้าง ควรรับซื้อและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอาหารปลอดภัยให้สอดคล้อง “สุรินทร์เมืองเกษตรอินทรีย์”
6) งานช้างสุรินทร์ต้องเป็นงานปลอดเหล้าปลอดภัยเพราะสถานที่จัดงานเป็นสถานที่ราชการที่ต้องปฏิบัติการตามพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2551
7) ควรกำหนดสัดส่วนผู้ประกอบการร้านค้าในงาน และเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการที่คนสุรินทร์ ได้เข้ามาจำหน่ายผลิตผลและสินค้าท้องถิ่นให้มากขึ้น และควรเก็บค่าเช้าบู๊ธจำหน่ายสินค้า ค่าจอดรถให้ถูกลง และค่าผ่านประตูเข้าชมงานให้ถูกลง
นายพรชัย มุ่งเจริญพร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ในนามของคนสุรินทร์
มีความภูมิใจที่ไปไหนมาไหนเรียกเราว่าคนเมืองช้าง และช้างยังเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยอีกด้วย อบจ.มีความพยายามให้ช้างสุรินทร์ กลับคืนถิ่นแล้วสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ สำหรับการทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการจัดงานประจำปี อบจ.จะมีการทำงานเกี่ยวช้างอยู่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การแต่งงานบนหลังช้าง วันช้างไทย ประเพณีสงกรานต์แสดงช้างกลางปี ซึ่งการแสดงช้างในแต่ละปีเพียงแค่ 2 วัน ซึ่งไม่เพียงพอ จึงมีนโยบายที่จะทำอย่างไรให้ 636 วัน มีการแสดงช้างทุกวันหรือมากที่สุด จึงมีแนวคิดที่จะสร้างปางช้างในเมือง ทำให้มีการแสดงช้างได้มากขึ้น และมีการนำเอาประเพณีต่างๆและมวยไทยที่คนสุรินทร์มีชื่อเสียงมาประกอบ ซึ่งคนไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงมวยไทยในต่างชาติได้รับการยอมรับมาก แต่พอกลับมาบ้านเรากลับไม่ได้รับความสนใจ สิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดขาย ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวช้างมีอาชีพและรายได้เลี้ยงตนเองได้
แบรนด์แขมร์สะเร็น คนสุรินทร์ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันตีโจทย์และมาช่วยกันสร้าง เพื่อเพิ่มมูลค่าและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับคนสุรินทร์ บ่อยครั้งที่ไปประชุมที่กัมพูชา พูดเขมรออกไปนิดหน่อยชาวกัมพูชาจะชี้มาทันทีว่ามาจากสุรินทร์ มันทำให้เราคิดว่านี่คืออัตลักษณ์ของชาวสุรินทร์ ชาวสุรินทร์นั่งอยู่ในใจเขาแล้ว ดังนั้นวันนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีประชาชน ได้ทำให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อช่วยกันสะท้อนคิด สะท้อนทำในการพัฒนางานช้างสุรินทร์สร้างสุข ร่วมกัน
หลังจากนี้ สภาพลเมืองสุรินทร์ จะรวบรวมและสังเคราะห์ข้อคิดเห็นต่างๆให้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย และจะมีเวทีการแชร์ การเชื่อม เพื่อให้เกิดเป้าหมายร่วมและทำให้ “งานช้างสุรินทร์สร้างสุขยกระดับการมีส่วนร่วมโดยคนสุรินทร์” และคนสุรินทร์ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงต่อไป