เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคมภาคอีสานล่างได้จัดเวทีพัฒนาเครือข่ายและกลไก พระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคม โดยมีพระสงฆ์ผู้แทนระดับจังหวัดที่สำคัญ 4 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ พระครูอุดมโพธิกิจ อุบลราชธานี พระครูกิตติปริยัติคุณ ศรีสะเกษ พระครูบวรสังฆรัตน์ และยโสธร พระครูปริยัติพลากร และหน่วยงาน องค์กรท้องถิ่น และตัวแทนชุมชน ในพื้นที่ ต.จิกดู่ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ได้แลกเปลี่ยนการพัฒนากลไกเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาระดับภาค และค่านิยมในการจัดงานบวชในสังคมปัจจุบันที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน พร้อมลุย ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ งานบวชสร้างสุข เพื่อต้านทางกระแสค่านิยม การจัดงานบวช ที่สร้างทุกข์ในสังคม
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลาประมาณ 9:00 น เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา สังฆะเพื่อสังคมภาคอีสานตอนล่าง ร่วมกับ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอำนาจเจริญ หน่วยเผยแพร่ศีลธรรมทางพระพุทธศาสนาวัดโพนขวาว เครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิ สังฆะเพื่อสังคม นักวิชาการท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้านบ้านโพนขวาว และปราชญ์ชาวบ้านบ้านโพนขวาว โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขสุขภาพ (สสส.) ร่วมประชุมในเวที พัฒนากลไก โครงการขยายผลขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุข เฟส 2 ภาคอีสานตอนล่าง มีการถ่ายถอดบทเรียนทุนเดิมการขับเคลื่อนงานของพระสงฆ์ภาคอีสานล่างแนวคิดพัฒนาแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง งานศพปลอดเหล้า เป็นต้น
พระครูบวรสังฆรัตน์ เจ้าอาวาสวัดจำปา รองเจ้าคณะอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ประธานในที่ประชุมได้กล่าวว่า รู้สึกดีใจ ที่ได้มาร่วมในโครงการ ได้มาฟังแนวคิดของโครงการบวชสร้างสุข ทำให้การแลกเปลี่ยนเพิ่มพลัง เมื่อรู้ว่ายังมีแนวคิดอย่างนี้อยู่ซึ่งผมได้มีแนวคิดนี้และดำเนินการบวชสร้างสุขอยู่แล้ว ในพื้นที่ตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรารมย์ มีการบวชเหมือนกับการ จัดงานบวชไปที่เห็นคือมีการเลี้ยงสุรา ยาเมา มีการจ้างรถแห่แพงๆ เสียงดังซึ่งตรงนี้ผมมองว่ามันก่อปัญหา ลงทุนจัดงานบวชเยอะแต่อยู่แค่ 7 วันนี้ก็เป็นสิ่งที่มองว่าเป็นการบวชทุกข์ ไม่ได้บวชสุขใจ ยิ่งบวชยิ่งทุกข์
แต่ปัจจุบันนี้ดีอย่างหนึ่งที่มันมีโควิด 19 มันอยู่ในยุคที่ข้าวยากหมากแพง มีกฎหมาย ไม่กล้าจัดใหญ่เหมือนเมื่อก่อน ไม่มีการจัดงานใหญ่ แต่ก็มีผลทำให้ผู้ที่เข้ามาบวชน้อยเช่นกัน ต้องถือว่าวิกฤตเป็นโอกาสคนที่ จะบวชไม่ต้องจัดงานใหญ่ ถึงจะมีคนบวชน้อยจะได้พิสูจน์ได้ว่า บวชแบบเรียบง่ายตามพระธรรมวินัยก็บวชได้ ฉะนั้น บวชสร้างสุข บวชแบบเรียบง่าย บวชด้วยความตั้งใจ ผู้บวชตั้งใจ พ่อแม่ก็ตั้งใจ คือ การตอบแทนคุณพระพุทธศาสนา อย่างแท้จริง
แต่ว่าการทำเรื่องดีๆ ต้องให้หัวหน้าองค์กรหน่วยหลักๆ ได้รับรู้และเห็นด้วยขับเคลื่อนไปด้วยกัน ถึงจะมีพลัง เราต้องผลักดันให้เป็นนโยบายระดับจังหวัด กราบเรียนให้เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล พระสงฆาธิการ ให้ท่านได้รู้สนับสนุน และหน่วยงานราชการมี สำนักงานวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนา และหน่วยงานอื่นๆ ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน จังหวัดศรีสะเกษ ยินดีที่จะประสานให้เกิดนโยบายงานบวชสร้างสุขระดับจังหวัด
โดยพระครูโพธิวีระคุณ เจ้าคณะอำเภอปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด และกรรมการมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม ผู้ประสานงานเครือข่ายพระสงฆ์ภาคอีสานบน ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดการขับเคลื่อนงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณะบวชสร้างสุขในพื้นที่ “การบวชในยุคครั้งพุทธกาลนั้นบวชแบบเรียบง่ายขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก ปัจจุบันมีระเบียบ และช่วงโควิด อีกหนึ่งมุม ในด้านของชุมชน การบวชนั้นจะต้องมีการจัดงานเลี้ยงฉลองใหญ่โต มีการเลี้ยงเหล้าเลี้ยงเบียร์ บางงาน พอได้ฤกษ์พิธีบวช นาคยังเมาอยู่เลย จนอาตมาบอกว่า หายเมาก่อนพรุ่งนี้ค่อยมาบวช อันนี้เป็นประสบการณ์ตรง และที่เคยพบเจอที่ผ่านมา
“นี่ก็บวชไม่กี่วันนะ หลาย ๆ งาน แต่ก็มีการจัดงานอย่างใหญ่โต เลี้ยงอาหารโต๊ะจีน เลี้ยงเหล้า เลี้ยงยากันในงาน มีมหรสพขบงันกันในขบวนแห่นาค หมดงบประมาณไปหลายแสนบาท อนึ่ง เป็นการแข่งขันกันในหน้าตาทางสังคม กลายเป็นค่านิยมที่ผิดเพี้ยนไปในสังคม ปัญหาตามมา คือ เป็นหนี้เป็นสิน ขบวนแห่ที่พากันกินเหล้า เต้นแร้งเต้นกาในขบวนแห่นาค บ้างก็มีการทะเลาะวิวาทกันก็มี เกิดการสูญเสีย แทนที่จะได้บวชเอาบุญ ดันเป็นบาปไปซะงั้น
เราในฐานะพระสงฆ์เอง มองเห็น ชาวบ้านเขาเดือนร้อน ชุมชนเดือนร้อน ก็ควรที่จะเข้าไปช่วยบอกกล่าว เข้าไปเตือนสติญาติโยม แต่กระนั้น บางครั้งถ้าเราจะพูดอยู่คนเดียวเขาก็คงจะไม่ฟัง จะต้องอาศัย กลไก ความร่วมมือกันในหลาย ๆ ภาคส่วนช่วยกันพูด ช่วยกันเตือน ช่วยกันสร้างกระแสที่ดีงาม และถูกต้องของการบวชนั้นให้เกิดขึ้น”
ส่วนคณะสงฆ์ที่เข้าร่วมประชุมและแกนนำชุมชน และผู้แทนหน่วยงานในท้องถิ่น เห็นตรงกันว่า โครงการนี้ เป็นโครงการที่ดี และควรที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองเป็นอย่างยิ่ง ด้วยที่เห็นด้วยมาตั้งนานแล้วว่า การบวชควรจะบวชแบบเรียบง่ายยึดพระธรรมวินัย แต่ด้วยกระแสของสังคม ที่ไม่อาจต้านทานได้ เลยต้องยอมรับไปตามสภาพ
ด้านผู้ใหญ่บ้าน บ้านโพนขวาว กล่าวว่า “วันนี้พอได้ฟังแนวคิดของโครงการบวชสร้างสุขแล้ว รู้สึกดีใจมาก ขอเท้าความว่า ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน นั้น ช่วงที่ผ่านมารับศึกหนักมาก กับการจัดงานแต่งงาน หรือ แม้กระทั่งงานบวชในชุมชน เนื่องด้วยในสถานการณ์ โควิด – 19 ชาวบ้านเวลา จะจัดงาน ก็จะมาปรึกษา ผู้ใหญ่บ้านว่า จะขอจ้างหมอลำ ได้ไหม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คือจ้างเอาไว้แล้วค่อยมาบอก ผมเองก็หนักใจ เพราะทุกวันนี้จะจัดงานอะไร ต้องประสานขออนุญาต นายอำเภอก่อน โดยผมเซ็นรับรอง เนื่องจากเป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัส โคโรน่า 2019 หนักใจขึ้นไปอีก เมื่อการจัดงานนั้น จะต้องเกิดคลัสเตอร์โควิดขึ้นมา ฉะนั้น แล้ว ถ้าจะมีโครงการบวชสร้างสุขนี้เกิดขึ้น ผมน้อมรับเลยทันที พร้อมร่วมขับเคลื่อนเต็มที่ ” และยังได้แลกเปลี่ยนถึงแนวทางการขับเคลื่อนอีกว่า “การขับเคลื่อนโครงการ จะต้องขับเคลื่อนไปอย่างเป็นระบบ โดยขั้นตอนแรก เราจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวบ้านให้ได้ก่อน เราต้องหาคนที่มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการ ก็คือใครที่จะบวชแต่ไม่มีเงิน มีงบประมาณ มาเข้าร่วมโครงการนี้เลย ทำให้เป็นแบบอย่าง จากนั้นจะผลักดันในเวทีประชาคมหมู่บ้าน ให้ได้กระทำให้เป็นแนวเดียวกัน ผมเชื่อว่าถ้ามีต้นแบบ สัก 2 – 3 งาน ก็คงจะเป็นแบบอย่างให้ทำต่อ ๆ กันได้ แต่ว่า จะให้ได้ร้อยเปอร์เซนต์ นั้นก็อาจจะเป็นไปได้ยาก แต่เราก็คงต้องขับเคลื่อนไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ”
ผศ.ดร. อนันต์ แม้นพยัคฆ์ นักวิชาการจาก ม.ราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า “ผมคิดว่า โครงการนี้น่าจะมีบทเรียนมาจาก งานศพปลอดเหล้า ซึ่งงานศพปลอดเหล้าน่าจะเคลื่อนยากกว่า เพราะมีการจัดหลายคืน และเป็นข้ออ้างว่าอยู่เป็นเพื่อนศพ แต่งานบวช ก็ยากอีกอย่างหนึ่งที่จะเข้าเคลื่อน เพราะมีในเรื่องของค่านิยมในหน้าตาทางสังคม ผลเชื่อเรื่อง ทุนทางสังคมของพระสงฆ์กับชาวบ้านที่เป็นผู้นำทางสังคม คิด นำทำ และต้องมีสร้างกระแสเข้ามาช่วย โดยอาศัยหน่วยงานระดับจังหวัดหรือท้องถิ่นร่วมด้วย และผมก็ยังเชื่อว่าพระสงฆ์ผู้นำทางสังคมที่ไม่เป็นทางการ แต่มีบารมีและอำนาจในการต่อรองกับชุมชนมากกว่า เนื่องจากเป็นผู้นำทางจิตใจ การขับเคลื่อนงานบวชสร้าสุข อาจจะต้องมีการกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน ว่าจะเคลื่อนในระดับ หมู่บ้าน ระดับตำบล หรือในระดับอำเภอ กำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนแล้วพยายามสร้างข้อแตกต่าง ของรูปแบบการจัดงานบวชสร้างสุข กับงานบวชที่ไม่ใช่งานบวชสร้างสุขว่า มันเป็นอย่างไร ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่าย หรือเรื่องอื่น ๆ ให้ได้เห็นข้อแตกต่างให้ได้มากที่สุด”
พระอธิการโสภณ ปิยธมฺโม ผู้ประสานงานเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคมภาคอีสานตอนล่าง “จากที่ได้รับแนวคิดและข้อเสนอแนะแนวทางในการขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุขครั้งนี้ จากผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ครูบาจารย์ พระเถระ ทุกรูป ก็ถือว่าเป็นแนวทาง และเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะขับเคลื่อนโครงการบวชสร้างสุข เพื่อจะให้เป็นแนวทางในการสร้างสังคมคุณธรรม โดยโครงการในครั้งนี้ก็จะใช้ระยะเวลาในการขับเคลื่อน 14 เดือนตั้งแต่เดือนเมษยน ไปถึงเดือนพฤษภาคม ปี2566 นี่คือ งบประมาณที่ ทาง สสส. จัดสรร ผ่านมายัง มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม เพื่อให้ทั้ง 4 จังหวัด ทั้งคณะกรรมการเรา ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในวันนี้ การขับเคลื่อนงานในลำดับต่อไป ทางผู้นำชุมชน หรือหน่วยงานเองก็คงจะต้องไปขยายต่อ ทางคณะขับเคลื่อนเราเองก็จะมีเวทีเสวนา ลักษณะแบบนี้จขึ้นอีก ในหลาย ๆ พื้นที่ เพื่อสร้างเครือข่าย กลไก ในการขับเคลื่อนให้ขยายออกไปอย่างวงกว้าง ”
ภายในเวทีประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วม ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิเอง หน่วยงานองค์กรทางพระพุทธศาสนา ตัวแทนชุมชน และภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ ต่างมองไปแนวทางเดียวกันว่า เราจะต้องร่วมมือ กันขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุข ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ได้ เพื่อสร้างสังคมแห่งคุณธรรมสร้างสังคมแห่งสุขภาวะที่ดี
สุดท้าย นายชัยณรงค์ คำแดง ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม ผู้รับผิดชอบโครงการขยายผลการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุข ได้สรุปความคิดเห็นของที่ประชุมว่า “ที่ประชุมได้เห็นประโยชน์ร่วมกันของการขับเคลื่อนงานบวชสร้าง โดยเฉพาะผลกระทบที่ผ่านมาของการจัดงานบวชที่ไม่ยึกรอบพระธรรมวินัย ยึดค่านิยมทางสังคมมากเกินไป ดังนี้
1. ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การจัดงานบวชที่มุ่งที่จะเอาทุนคืน ความมีหน้าตาของเจ้าภาพ คนมีเงิน จัดใหญ่ เชิญแขกเป็นจำนวนมาก คนไม่มีก็จัดใหญ่ทำให้เกิดปัญหาเป็นหนี้สสินของเจ้าภาพผู้จัดงานบวช
2. ผลกระทบด้านสังคม การจัดงานบวชที่มุ่งเน้นความสนุกสนานมากเกินไป มีการจัดงานใหญ่ มีมหรสพ ดนตรี หมอลำ รถแห่ เลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้เกิดปัญหาความรุนแรง ทะเลาะวิวาท เกิดความขัดแย้งภายในชุมชน ระหว่างชุมชน ดังสถิติการสำรวจข้อมูลที่เป็นข่าวก่อนโควิด 3 ปี (59-61) ทะเลาะกัน 50 งานฆ่ากันตาย 30 ศพ
3. ผลกระทบทางพระพุทธศาสนา การเข้าถึงศาสนายากยิ่งขึ้นเพราะกว่าจะได้บวชต้องมีเงินอย่างน้อย 1 แสนบาท ถ้าบวกกับค่านิยมทางสังคมต้องมีเงินถึง 3 แสนถึงจะจัดงานบวชและบวชได้ ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันคนมีเวลาน้อย คนบวชน้อย กระบวนการควรพัฒนาให้เข้าถึงง่าย อำนวยความสะดวก และเมื่อบวชเข้ามาแล้วต้องมีการดูแล อบรมสั่งสอนให้ได้หลักธรรมที่จะนำไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป
4. ถือเอาช่วงวิกฤษโควิด พระสงฆ์ ไวยาวัจจกรวัด ถือโอกาสเชิญชวน แนะนำ หาเจ้าภาพต้นแบบ จัดงานบวชวิถีใหม่ ยึดพระธรรมวินัยแบบเรียบง่าย ประหยัด ปลอดเหล้า ปลอดภัย ไกลโควิด
ดังนั้น การขับเคลื่อนงาน “บวชสร้างสุข” ภาคอีสานล่าง ควรขยายขอบเขตขับเคลื่อนแบบองค์รวม เริ่มต้นพื้นที่ที่พร้อมหาเจ้าภาพต้นแบบ ประชาคมแกนนำ ชาวบ้าน ภาพใหญ่คณะสงฆ์ขับเคลื่อนภายใต้กรอบ “ธรรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ปี 2560 โดยเฉพาะสนับสนุนบทบาทพระสงฆ์ “ผู้นำด้านสร้างสุขภาวะชุมชนและสังคม” บทเรียนที่สำคัญ การขับเคลื่อนแผ่นดินธรรมแผ่นทอง และงานศพปลอดเหล้าของภาคอีสานล่าง อำเภอหัวตะพานก็เป็นพื้นที่ต้นแบบ โดยเป้าหมายจะมีกระบวนการผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะของจังหวัด มีจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอำนาจเจริญ ต่อไป