ถอดบทเรียน : งานบวชสร้างสุข “ร่วมอุดมการณ์ ร่วมใจ ร่วมกลไก เครือข่ายสังฆะเพื่อสังคมภาคกลาง”

เมื่อวันที่ 19 -20 พฤศจิกายน 2565 คณะทำงานกลไกขับเคลื่อนเครือข่ายสังฆะเพื่อสังคมภาคกลาง  ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง กระบวนการจัดการความรู้ : ถอดบทเรียน “งานบวชสร้างสุข” ภาคกลาง ในฐานะ ทีมงานร่วมอุดมการณ์ ร่วมใจ กลไกสังฆะเพื่อสังคมภาคกลาง ณ อุ่นเรือน รีสอร์ท อ.เมือง จ.นครนายก มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 19 คน ประกอบด้วย แกนนำเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา พุทธอาสา นักวิชาการ ผู้ประสานเครือข่าย สคล.ระดับจังหวัดและระดับภาคภาค เพื่อเสริมทักษะการถอดบทเรียน สร้างการเรียนรู้ (อารมณ์/ความรู้สึก และ การสังเกตการณ์) อย่างมีส่วนร่วม และเพื่อพัฒนากลไกในการขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุขโดยมี พระครูภัทรธรรมคุณ, ดร. เจ้าคณะอำเภอพัฒนานิคม รักษาการประธานเครือข่ายสังฆะเพื่อสังคมภาคกลาง เป็นประธานเปิดการอบรม

พระปัญญา จิตฺปญโญ, ดร. ผู้จัดการเครือข่ายสังฆะเพื่อสังคมภาคกลาง ชี้แจงวัตถุประสงค์ความเป็นมา แนะนำวิทยากร ตลอดจนอธิบายถึง คุณค่า/ความหมายในการจัดกระบวนการพัฒนาศักยภาพ “ทีมงาน” เปรียบเสมือนการ “ติดอาวุธทางปัญญา” ที่มีทั้งแบบลุ่มลึกต้องอาศัยวิจารณญาณในการคิดตาม และ แบบซึ่งหน้า ตรงไปตรงมา ชัดเจน เข้าถึงง่าย ซึ่งหากนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ย่อมสามารถบรรลุเป็นมรรคเป็นผลได้ ทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และบั้นปลาย ตามกำลังสติปัญญาและความเพียรของแต่ละคน กระบวนการอบรมในครั้งนี้ เป็นไปตามหลักธรรม คือ มีลักษณะเป็น “อกาลิโก” ทันสมัย ถูกกาลเวลา ซึ่งวิทยากร และทีมผู้จัด ได้ออกแบบมาอย่างละเมียดละไม สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1) ในเบื้องต้น ใช้กลยุทธ์ “สังฆะนักพัฒนาอาสานำ พุทธอาสาตาม” เริ่มด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์งาน “บวชสร้างสุข” จาก “นิยาม/ความหมาย” ที่เป็นแก่นแท้ของ “การบวช” โดยมีท่านมหาทนงชัย บูรณพิสุทธิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคกลาง และ มหาประชาญ มีสี ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดสิงห์บุรี ได้นำประสบการณ์ในฐานะที่เคยบวชศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม จนสำเร็จเป็นมหาจริงๆ ถึงเปรียญธรรม 7 ประโยค และ เปรียญธรรม 3 ประโยค ตามลำดับ

รศ.ดร.กาสัก เต๊ะขันหมาก ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นวิทยากรกระบวนการ ได้อธิบายเชื่อมประเด็นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เข้าสู่หลักการ แนวคิด กระบวนการถอดบทเรียน โดยใช้เทคนิค “เพื่อนช่วยเพื่อน” นั่นคือ การหยิบยกตัวอย่างการถอดบทเรียนพื้นที่อื่น ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ข้อดี คือ ผู้เข้าร่วม/ผู้เรียน จะสามารถเชื่อมกับประสบการณ์การทำงานของตนเองในพื้นที่ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว (ประหยัดเวลา/ช่วยให้ผู้เรียนไม่ฟุ้ง) โดยเน้นให้เห็น/เข้าใจ/ตระหนักว่า “หัวใจ” ของกระบวนการถอดบทเรียน ใช้การแบ่งกลุ่มย่อย (3 กลุ่ม ๆ ละ 3-4 รูป/คน) เป็นเครื่องมือ กระตุ้นให้ “ผู้เรียน” ได้นำความรู้จากประสบการณ์ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ภายใต้โจทย์แรก คือ การวางกรอบแนวคิด Conceptual Flame Work “งานบวชสร้างสุข”

บรรยากาศการเรียนรู้ ช่วงนี้ เป็นเรื่องของการ “เปิดจิตจูนใจ” ละมุน ละไม หากว่ากันที่ “แก่นธรรม” คำสอนของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์มีองค์ความรู้ ชัดแจ้ง ขณะที่ฝั่งฆราวาส ก็มี “แก่นแห่งศรัทธาและทาน” ที่เหนียวแน่น คารวะธรรม และกัลยาณมิตร จึงเจืออยู่ในทุกขณะจิตของ ผู้เรียน ผู้สอน และผู้จัด ทุกคนตระหนัก และ รับรู้ได้ถึง สภาวะการเรียนรู้ ในแบบที่เรียกได้ว่า “เราเป็นดั่งครูของกันและกัน” ทำให้ทุกคนมองเห็นทางสว่าง ในการเชื่อมงานทางโลก และทางธรรม เข้าด้วยกัน

2) ในท่ามกลาง ใช้กลยุทธ์ สังฆะอาสานำ พุทธะอาสาหนุน อบอุ่นด้วย รักและสามัคคีที่มีพลัง โดยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มย่อย และให้ “เพื่อนร่วมเรียนรู้” แต่ละกลุ่ม ช่วยกัน “เติมเต็ม/ต่อยอด” เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกคน ต้องกลับถิ่นฐาน ไปจัดการความรู้ “บวชสร้างสุขบ้านตัวเอง” ก่อนจะนำมา แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนอีกครั้ง เพื่อมองหาโอกาสในการ “ต่อยอด/ขยายผล” ต่อไป จังหวะนี้ทำให้นึกถึงสุภาษิตไทยที่ว่า “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ

3) ในบั้นปลาย วิทยากรหลัก ได้หยิบยกบทความ “ปลาร้า…รากเหง้าภูมิปัญญา สู่การพัฒนาสุขวิถีอย่างยั่งยืน” มาให้ “ผู้เรียน” ได้เรียนรู้ร่วมกัน โดยชั้นแรกให้ทุกคนอ่าน (อยู่กับตัวเอง เรียนรู้การอ่านจับประเด็น) จากนั้น ตั้งคำถาม เพื่อกระตุ้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ว่าอ่านแล้ว ใคร สะดุดใจ กับ “คำเด่น” หรือ “ประโยคเด็ด” ไหนบ้าง (ข้อดีของการเรียนรู้แบบนี้คือ “ผู้สอน” วัดความรู้/ความเข้าใจ “ผู้เรียน” ได้ และ “ประเมินได้ว่า ควรจะเติมอะไร อย่างไรให้ผู้เรียน”

จากนั้น ผู้จัดการฯ ในฐานะวิทยากรร่วม ได้ออกแบบให้ “ผู้เรียน” ได้ฝึก/พัฒนาทักษะ “การประเมินตนเอง” แบบมีส่วนร่วม ด้วยเครื่องมือง่ายๆ ในการสรุปบทเรียนหลังจบปฏิบัติการ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า After Action Review : AAR โดยใช้กระดาษ 3 สี ๆ ละ แผ่น โดย แผ่นที่ 1 (สีเขียว : ใน 2 วันนี้ ท่านได้ความรู้ใหม่อะไรบ้าง) แผ่นที่ 2 (สีส้ม : ใน 2 วันนี้ อยากบอกและชื่นชม อะไร อย่างไรบ้าง) และ แผ่นสุดท้าย (สีชมพู : แล้วท่านจะนำความรู้ที่ได้จาก 2 วันนี้ กลับไปทำอะไร อย่างไรบ้าง)

ความรู้ที่ได้ (จากกระดาษสีเขียว)

          1.ความรู้ทางโลก

  • เปิดโลกทัศน์
    • สถานที่
    • บุคคล : จากการพบปะ เสวนา และ แลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • กระบวนการถอดบทเรียนในเชิงทฤษฎีเชื่อมกับประสบการณ์การปฏิบัติจริง
    • การเก็บข้อมูล : เรื่องอะไร/เก็บกับใคร (ใครคือผู้รู้)/ใช้เครื่องมืออะไร
    • การวิเคราะห์ข้อมูล : สาระสำคัญในข้อมูล/ความเชื่อมโยงของข้อมูล
    • กรอบแนวคิด/องค์ประกอบ : ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และ ผลลัพธ์ (Output Outcome Impact)
    • กระบวนการทำงาน : มีขั้นตอน สนุก มีสาระ
  • การบริหารจัดการงาน/การบูรณาการเครือข่าย
    • การทำงานเป็นระบบ : 1) โจทย์ 2) ประเด็น 3) เก็บข้อมูล 4) วิเคราะห์ 5)สังเคราะห์ข้อมูล และ 6) สรุปผลการดำเนินงาน
    • การเชื่อมคน/งาน/สิ่งแวดล้อม
    • การตั้งคำถาม : การสร้างชุดคำถาม ,แบบสอบถาม/สัมภาษณ์ ครอบคลุมรอบด้าน เช่น โครงการบวชสร้างสุข (นาค,ญาติ,อุปัชฌาย์,ผู้นำฯ ฯลฯ)

2.ความรู้ทางธรรม

  • คุณค่า/ความหมาย “การบวช”
  • วัฒนธรรมองค์กรของ คณะสงฆ์ที่ควรรู้ นำสู่การปรับใช้ในการทำงาน
  • วิถีปฏิบัติของพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย
  • แง่มุมการบวช มิติใหม่ๆ

ชื่นชม/ให้กำลังใจ (กระดาษสีส้ม)

  • สถานที่ : สับปายะ ท่ามกลางการสนับสนุนของพลังบวร ก่อเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบ “วิสาสา ปรมา ญาติ” มีการเชื่อมกับพลังธรรมชาติ (เขื่อนขุนด่านปราการชล) ทำให้ผ่อนคลาย
  • บรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ : เป็นกันเอง /ไม่เครียด /รู้สึกมีคุณค่า ที่ได้มีส่วนร่วม ได้รับพลัง ทางความรู้/ความคิด
  • วิทยาการ : ชื่นชมวิทยากรที่ตั้งใจ ทุ่มเทออกแบบการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้
  • คณะทำงาน : มีความตั้งใจ ร่วมมือ ร่วมใจกัน เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ทุกท่านสามารถให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์นำไปต่อยอดในพื้นที่ได้/เห็นพัฒนาการตนเอง /ทีมงาน
  • ทีมพระสงฆ์นักพัฒนารุ่นใหม่ : มีความตั้งใจเรียนรู้ /ให้ความรู้/เสียสละ (เวลา/ความคิด) /ให้คำปรึกษาและแนะนำดี (พระสงฆ์ 3 รูปจาก อ.พัฒนานิคม เป็นดาวรุ่ง ของ วงการเครือข่ายพระสงฆ์ ขออนุโมทนาสาธุ) ชื่นชมความตั้งใจทุกรูปในการทำงานบวชสร้างสุข
  • เนื้อหา/กระบวนการ :
    • เนื้อหา : แนวทาง หลักการทำงาน ชัดเจน ทำให้สามารถนำไปทำงานต่อในพื้นที่ได้
    • การออกแบบกระบวนการ

สิ่งที่จะกลับไปทำต่อ (กระดาษสีชมพู)

  • ออกแบบกรอบแนวคิด/กระบวนการถอดบทเรียนและเขียนรายงานเชิงวิจัย
  • มีพลังความเชื่อมั่นที่จะกลับไปดำเนินงานต่อในพื้นที่
  • ทำงานบวชสร้างสุขให้มีรูปธรรมมากขึ้น
  • นำความรู้
  • พัฒนากระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล/จัดเรียงข้อมูล/เชื่อมโยงข้อมูลในการพัฒนางาน 1 ชุมชน/เพื่อนมิตรธรรม ร่วมเรียนรู้
    • พัฒนาคน/ชุมชน (วิเคราะห์คน/วิเคราะห์งาน) ได้อย่างเป็นระบบ
    • ลงพื้นที่ ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ กับเจ้าอาวาส /ผู้นำชุมชน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเก็บข้อมูลอย่างมีขั้นตอน
    • ต่อยอดกระบวนการทำงานโครงการกิจกรรม (กรอบแนวคิดการถอดบทเรียน : เชิงวิชาการ ทำให้เกิดความเชื่อมั่น/มั่นใจมากขึ้น
    • ถอดบทเรียนการทำงาน “บวชสร้างสุข”ในชุมชน (วัดโคนอน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี)
    • ทำหน้าที่ Back stopping ลมใต้ปีกให้กับขบวนการสังฆะเพื่อสังคมภาคกลาง ในฐานะ พุทธะอาสาด้านวิชาการ/การสื่อสาร
    • สื่อสารสาธารณะ/สร้างกระแสบวชสร้างสุข
  • ต่อยอด/ขยายผล
    • แบบอย่างการทำงานเป็น “ทีม”
    • นำ “บวชสร้างสุข”ขยายผลสู่วัดอื่นๆ ต่อไป
    • ขยายความรู้/ความเข้าใจงานโครงการบวชสร้างสุขในพื้นที่ ให้มากขึ้น

อารีย์  เหมะธุลิน พุทธอาสาด้านวิชาการ รายงาน