บูชาแม่กาเผือก ความเชื่อยี่เป็งของชาวล้านนา

เรื่องโดย : ศุภกิตติ์ คุณา

ประเพณียี่เป็งอันงดงามของชาวล้านนาในภาคเหนือของประเทศไทย มีรากฐานความเชื่อที่เชื่อมโยงกับตำนานอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์สารสนเทศภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า พระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ประกอบด้วย พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตม และพระศรีอริยะเมตไตร โดยพระโคตมพุทธเจ้าคือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันที่ชาวพุทธเคารพบูชา ตำนานเล่าขานว่าพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ล้วนถือกำเนิดจากแม่กาเผือก และจะอุบัติขึ้นในภัทรกัปป์ ซึ่งเป็นกัปป์สุดท้ายแห่งพระพุทธศาสนา

“ยี่เป็ง”
มาจากไหน

ประเพณียี่เป็งเป็นงานบุญอันงดงามที่จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนยี่ตามปฏิทินล้านนา ซึ่ง “ยี่ ” แปลว่า สอง ก็คือ เดือนสองในปฏิทินไทย โดยคำว่า “เป็ง” ในภาษาล้านนาหมายถึงพระจันทร์เต็มดวงหรือวันเพ็ญนั่นเอง ปฏิทินล้านนามีความพิเศษที่แตกต่างจากภาคกลาง โดยจะเร็วกว่าสองเดือน ในระบบเดือนของชาวล้านนา เดือนแรกเรียกว่า “เดือนเกี๋ยง” ต่อด้วย “เดือนยี่” ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ของภาคกลาง เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนยี่ จึงเรียกว่า “ยี่เป็ง”

ประเพณียี่เป็งของล้านนามีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากประเพณีลอยกระทงในภาคกลาง เมื่อใกล้ถึงวันเพ็ญ ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันประดิษฐ์ซุ้มประตูป่าอันวิจิตรไว้หน้าบ้าน พร้อมจุดผางประทีปเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า แสงสว่างจากผางประทีปที่ประดับตามบ้านเรือนและวัดวาอารามทั่วเมืองสร้างบรรยากาศที่งดงามตระการตา

แม้จะตรงกับวันลอยกระทงของภาคกลาง แต่ประเพณียี่เป็งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชาวล้านนาไม่นิยมลอยกระทงเหมือนภาคกลาง แต่จะประดิษฐ์ “สะเปา” หรือเรือสะเปา ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาในหลายพื้นที่ของล้านนา

“ผางประทีป”
บูชาแม่กาเผือก

หนึ่งในกิจกรรมยี่เป็งของชาวล้านนา คือ การจุดประทีปบูชา หรือ ต๋ามผางปะทีป ซึ่งจะทำกันในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ แตกต่างจากประเพณีลอยกระทงของภาคกลาง โดยชาวล้านนาจะประดับตกแต่งบ้านเรือนด้วยโคมไฟและแสงประทีป สร้างบรรยากาศอันงดงามทั่วทั้งเมือง

ประเพณีนี้มีรากฐานมาจากความเชื่อในตำนานพระพุทธเจ้าห้าพระองค์และแม่กาเผือก สะท้อนแนวคิดเรื่องความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ชาวล้านนาจะจุดประทีปบูชาตามสถานที่ต่างๆ ที่เคยให้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต เช่น ครกตำข้าว บ่อน้ำ บันไดบ้าน ยุ้งข้าว เป็นต้น

ในเมืองเชียงใหม่มีการจัดงานที่ใช้ผางประทีปเป็นแกนหลักของงานคือ “ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง” ซึ่งเป็นพิธีจุดประทีปบูชาเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของบรรพกษัตริย์ผู้ปกครองและพัฒนาบ้านเมืองมาแต่อดีต สร้างภาพอันงดงามของดวงประทีปนับพันที่ส่องสว่างทั่วเมืองเชียงใหม่ ประเพณีนี้ไม่เพียงแสดงถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนา แต่ยังสะท้อนวิถีชีวิตและจิตวิญญาณแห่งความกตัญญูของชาวล้านนาที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และยังสร้างทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวเข้ามาชมวัฒนธรรมท้องถิ่น ทดแทนการปล่อยโคมลอยในเขตเมืองที่อาจะเป็นเหตุเกิดเพลิงไหม้ได้

ตำนานแม่กาเผือก (แม่กาเผือก และไข่ทั้งห้าฟอง)

ตำนานแม่กาเผือก เล่าว่า วันหนึ่งขณะที่แม่กาออกไปหาอาหารได้เกิดพายุทำให้ไข่ทั้งห้าฟองของแม่กาเผือกถูกพัดตกจากรังไหลไปตามแม่น้ำ มีแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์เก็บไปเลี้ยง เมื่อไข่ทั้งห้าฟองฟักออกมาเป็นมนุษย์เป็นเพศชาย และได้บวชเป็นฤๅษีทั้งห้าองค์ เมื่อฤๅษีทั้งห้าได้พบกัน จึงไต่ถามถึงมารดาของแต่ละองค์ แต่ละองค์ก็ตอบว่า แม่ไก่เก็บมาเลี้ยง แม่นาคเก็บมาเลี้ยง แม่เต่าเก็บมาเลี้ยง แม่โคเก็บมาเลี้ยง และแม่ราชสีห์เก็บมาเลี้ยง ฤๅษีทั้งห้าองค์จึงสงสัยว่า แม่ที่แท้จริงของตนเป็นใคร จึงพากันอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ ด้วยคำอธิษฐาน จึงทำให้พกาพรหมผู้เป็นแม่ได้แปลงกายเป็นกาเผือกบินลงมาเล่าเรื่องในอดีตให้ฤๅษีทั้งห้าฟัง และได้บอกว่าหากคิดถึงแม่ ให้นำด้ายดิบมาฟั่นเป็นตีนกาจุดเป็นประทีปบูชาในวันยี่เป็ง ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายประทีสตีนกา จึงทำให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ (คัมภีร์อานิสงส์ผางประทีส, ม.ป.ป.)

สำหรับการบูชาผางประทีปนั้น ยังเป็นการบูชาแสงสว่าง เชื่อว่าจะทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีแสงสว่างนำทางชีวิตให้โชติช่วงชัชวาลดั่งแสงจากผางประทีป ด้วยเหตุนี้ช่วงประเพณียี่เป็ง จึงสว่างไสวเต็มไปด้วยแสงผางประทีป

ผางประทีป หรือ ผางปะตี๊ด ผางประทีส เป็นเครื่องสักการบูชาในพระพุทธศาสนา คำว่า ผาง คือ ภาชนะดินเผาคล้ายถ้วยเล็กๆ ใช้เป็นถ้วยสำหรับใส่ขี้ผึ้งหรือน้ำมันและไส้ของประทีสที่ทำมาจากเส้นฝ้าย ส่วนคำว่า ปะตี๊ด, ประทีส คือแสงสว่าง โดยการสะกดออกเสียงนั้นจะแตกต่างไปตามแต่ละสำเนียงในพื้นที่

“ประตูป่า”
การจำลองต้อนรับ
พระเวสสันดรเสด็จกลับ

ประเพณีการทำประตูป่าในช่วงประเพณีเดือนยี่เป็งของชาวล้านนา สืบเนื่องจากในช่วงเดือนยี่เป็ง นอกจากจะมีการประดับประดาด้วยผางประทีป โคมไฟแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ชาวล้านนานิยมทำก็คือ การสร้างซุ้มประตูป่า ซึ่งการตกแต่งประตูหน้าวัดของชาวล้านนา จำลองเป็นป่าหิมพานต์เพื่อต้อนรับพระเวสสันดรเสด็จกลับเข้าสู่นครหลังจากพระเวสสันดรได้ไปบำเพ็ญเป็นฤาษีอยู่ในป่าหิมพานต์แล้วก็ท่านเสด็จกลับ ชาวบ้านชาวเมืองก็พากันประดับประดาตกแต่งด้วยใบมะพร้าว ต้นกล้วย ต้นอ้อย แขวนโคม ทำโคมหูกระต่ายบูชา ตรงซุ้มประตูป่า เพื่อที่จะรับเสด็จพระเวสสันดร นางมัทรี และลูกกลับเข้าสู่เมือง เดิมสมัยก่อนนั้นจะประดับซุ่มประตูป่าที่วัด ในระยะหลังก็เริ่มมีการประดีบตกแต่งประตูป่าตามบ้าน ตามหน่วยงาน โดยจะตกแต่งให้สวยงามต้อนรับพระเวสสันดรเสด็จกลับแวะเข้ามาในบ้าน มีการตกแต่งซุ้มให้สวยดึงดูดพระเวสสันดรเสด็จเข้ามาสู่เมือง เป็นธรรมเนียมการสร้างซุ้มประตูป่าในช่วงประเพณีเดือนยี่เป็ง

การจุดบอกไฟน้ำต้น หรือบอกไฟดอก เพื่อพุทธบูชาและจำลองและฝนห่าแก้ว

บอกไฟน้ำต้น

บอกไฟน้ำต้น หรือหลายที่เรียกว่า บอกไฟดอก บอกไฟน้ำเต้า บอกไฟบะขี้เบ้า ตามชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป การจุดบอกไฟน้ำต้น นิยมจุดเพื่อใช้จุดเป็นพุทธบูชา บูชาพระเกศแก้วจุฬามณี จะลักษณะเป็นพลุดอกไม้ไฟประกายแสงงดงาม จุดในเวลากลางคืน ทำมาจากภาชนะดินเผา ผสมส่วนประกอบพิเศษ เมื่อจุดไฟจะเกิดประกายคล้ายดอกไม้ไฟ ประเพณีนี้มีความเชื่อและวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการ

ภาพบอกไฟน้ำต้นหรือบอกไฟดอกที่ชาวล้านนานิยมจุดในช่วงยี่เป็ง

ประการแรก เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยนิยมจุดบอกไฟบริเวณหน้าพระธาตุหรือวิหาร เพื่อแสดงความเคารพและความศรัทธา ประการที่สอง เพื่อรับเสด็จพระเวสสันดรตามความเชื่อในธรรมเทศนาพื้นเมือง ที่กล่าวถึงแก้ว 7 ประการและฝนห่าแก้ว ชาวบ้านจึงจำลองเหตุการณ์โดยใช้บอกไฟน้ำต้น เมื่อจุดแล้วจะเกิดประกายไฟพวยพุ่งขึ้นฟ้าคล้ายฝนแก้วที่โปรยปรายลงมา สร้างความเลื่อมใสศรัทธาและความเชื่อว่าจะนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่บ้านเมือง

ประเพณีนี้แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนโบราณที่ผสมผสานความเชื่อทางศาสนากับการสร้างสรรค์วัตถุที่ใช้ในพิธีกรรม เพื่อสร้างความศรัทธาและความสามัคคีในชุมชน

ว่าวฮม
(โคมลอย, โคมควัน)

ว่าวฮม หรือ ว่าวลม หรือเรารู้จักในสื่อคือ โคมลอย โคมควัน เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงประเพณีเดือนยี่เป็งของชาวล้านนา แต่เดิมนิยมทำขึ้นในวัด มีพระเณรและลูกศิษย์วัดร่วมกันทำขึ้นมา มีความเกี่ยวเนื่องมาจากความเชื่อว่า พระสารีริกะธาตุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าอีกส่วนหนึ่งนั้นอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วเราจะไปบูชาได้อย่างไร คนสมัยโบราณก็เลยคิดในเรื่องของการออกแบบทำโคมลอย หรือว่าวลม ที่ลอยขึ้นฟ้าได้ ซึ่งสมัยโบราณจะรวมตัวกัน ทั้งพระเณร ช่วยกันทำว่าวในวัด จากนั้นก็จะใส่ข้าวตอกดอกไม้ ให้ลอยขึ้นไป โดยใช้ความร้อนจากควันไฟในการพยุงให้ลอยขึ้นไปในอากาศ นิยมปล่อยในช่วงตอนกลางวันที่มีแดด เพื่อหวังว่าจะให้ว่าวฮมหรือโคมควันลอยขึ้นไปบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์เหนือ ก็เป็นคตินิยมที่นิยมทำในช่วงของประเพณีเดือนยี่เป็ง

โกมยี่เป็ง
โคมแขวน

การทำโคม หรือชาวล้านนา ภาคเหนือจะเรียกว่า “โกม” ที่ทำในช่วงประเพณียี่เป็งของชาวล้านนา มีที่มาก็ต้นเรื่องเดียวกัน ในเรื่องของการถวายผางประทีปเป็นพุทธบูชาของชาวล้านนา โดยตัวโคมทำหน้าที่กำบังลม ไม่ให้ไฟที่จุดผางประทีปดับ ฉะนั้นการถวายโคมหรือการทำโคมของคนล้านนาจึงเกิดเป็นงานศิลปะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบทรงต่างๆที่คนล้านนาได้สร้างสรรค์หรือออกแบบ แต่ว่าทำการทำโคม ใช้โคมไม่ได้มีเฉพาะทางล้านนา ซึ่งไปในเขตเมียนมาร์ ในเขตไทยใหญ่ ในเขตฝั่งประเทศลาวไปจนถึงประเทศจีน แล้วรวมถึงต้นกำเนิดทางพระพุทธศาสนาอย่างศรีลังกา ก็มีรูปแบบโคมที่น่าจะมีที่ไปที่มาหรือว่าความเชื่อในการถวายผางประทีปเหมือนชาวล้านนา ที่ทำให้ประทีปเวลามันอยู่โคมแล้ว จะไม่เกิดลมกระทบ ที่ทำให้ประทีปนั้นดับ

การออกแบบเป็นรูปแบบต่างๆเกิดขึ้นมากมาย โคมที่คนล้านนานิยมกันมากที่สุด ก็คือ โคมรังมดแดง หรือชาวเหนือจะเรียกว่า โคมฮังมดส้ม หรือว่า โคมแปดเหลี่ยม บางทีก็อาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ที่จังหวัดลำปางก็จะเรียก โคมบะฟักหรือ โคมลูกฟัก เนื่องจากมีลักษณะเหมือนลูกฟัก เป็นต้น ก็เรียกว่าเป็นโคมที่เราเห็นได้ทั่วไปในแดนล้านนา ดังนั้นการถวายโคมของชาวล้านนา วัตถุประสงค์หลักของโคมเพื่อที่จะไม่ให้ไฟของผางประทีปที่จุดบูชาในโคมนั้นดับ ส่วนรูปทรงต่างๆของโคมที่เรามักจะเห็นในช่วงเทศกาลยี่เป็งของชาวล้านนานั้น เป็นการสร้างสรรค์ หรือการจินตนาการรูปแบบความงดงามให้รูปแบบทรงต่างๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่นที่จะสร้างสรรค์ เป็นศิลปะของตัวเองขึ้นมา บางพื้นที่ก็จะเป็นลักษณะเฉพาะ จนสามารถเรียกว่าเป็นประเภทของโคมกลุ่มคน หรือกลุ่มชาติติพันธุ์นั้นๆ เช่น โคมเงี้ยว ของคนไทใหญ่เมื่อเกิดการเผยแพร่ในดินแดนล้านนา ก็จะนิยมเรียกชื่อโคมที่มีลวดลายหรือรูปทรงประเภทนั้นว่า โคมเงี้ยว ของของกลุ่มคนเงี้ยวหรือชาวเงี้ยว ที่สร้างสรรค์มีรูปแบบเฉพาะของตนเอง

สำหรับโคมแขวนล้านนานั้นมีหลากหลายประเภท ได้แก่

  • โคมแปดเหลี่ยม หรือว่าโคมธรรมจักร
  • โคมกระบอก หรือว่า โคมบอก
  • โคมร่ม หรือว่า โคมจ้อง
  • โคมบั้ง
  • โคมเงี้ยว หรือ โคมไต
  • โคมไห หรือ โคมเพชร
  • โคมแป้น
  • โคมม่าน หรือ โคมม่านแปดเหลี่ยม
  • โคมหูกระต่าย
  • โคมญี่ปุ่น
  • โคมดาว
  • โคมผัด หรือว่า โคมหมุน

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล และ Data Journalism