
เครือข่ายงดเหล้า จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึก ภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า – บุหรี่ )สู่สุขภาวะที่ดีสำหรับเด็กปฐมวัยแก่ผู้บริหารสถานศึกษาและครูปฐมวัย จ.มหาสารคาม รุ่นที่ 3 ระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม พ.ศ. 2568ณ โรงเรียนอนุบาลกิติยา อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม
18 มีนาคม นางสาววราภรณ์ บุญเจียม ศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึก ภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า – บุหรี่ )สู่สุขภาวะที่ดีสำหรับเด็กปฐมวัยแก่ผู้บริหารสถานศึกษาและครูปฐมวัย จ.มหาสารคาม รุ่นที่ 3 โดยได้รับเกียรติจาก นางมาลัย มินศรี ผู้จัดการแผนงานปลูกพลังบวก ด.ร. รัติพร ภาธรธุวานนท์ ศึกษานิเทศเชี่ยวชาญ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม นายสวัสดิ์ ชะนะพินผู้อำนวยการกองศึกษาธิการเทศบาลเมืองมหาสารคาม นายบุญชอบ สิงห์คำ ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดมหาสารคาม เข้าร่วมเวที ฯ จัดโดยคณะทำงานตามประกาศคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานโครงการปลูกพลังบวกจังหวัดมหาสารคาม ลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม

เวทีในครั้งนี้เป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดอบรมโดยวิทยากรโครงการปลูกพลังบวกส่วนกลาง ศึกษานิเทศก์ นักจิตวิทยา วิทยากรพิเศษจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย วิทยากรกระบวนการเครือข่ายงดเหล้าภาคอีสานตอนบน นักจัดกระบวนการจากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม และได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรนักวิชาการจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามเพื่อให้ความรู้เรื่องกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมถึงโทษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องด้วยสถานการณ์การเข้าถึงปัจจัยเสี่ยงของเยาวชนในจังหวัดมหาสารคาม จึงต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาและเพื่อป้องกันให้เด็กและเยาวชนปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงเหล้าบุหรี่และปัจจัยเสี่ยงอื่น
โดยเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างครูปฐมวัย ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ติดตามกำกับออกแบบนโยบาย โดยร่วมกันออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อเด็กปฐมวัย โดยมีครูผู้เข้าร่วมอบรมจากโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดเทศบาลเมืองมหาสารคาม และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวน 10 แห่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กปฐมวัยมีทักษะชีวิตเป็นภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่อบายมุขและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัยรวมทั้ง เพื่อให้ครูผู้สอน ผุู้บริหารสถานศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงาน จัดกิจกรรมปลูกพลังบวกฯ บูรณาการแผนการสอน ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย และเพื่อให้ผู้ปกครองหรือชุมชน มีความรู้ความเข้าใจ มีส่วนร่วมในการจัด กิจกรรมและปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี โดยออกแบบกระบวนการให้ผู้เข้าอบรมมีแนวทางในการพัฒนาเด็กให้มีสุขภาพดี มีทักษะชีวิต มีทักษะการคิด มีความสุข กระตุ้นให้เกิดกลไกและเครือข่ายความร่วมมือในการบูรณาการในการขยายผลสู่แผนพัฒนาการศึกษาในระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด (Governance) และนำไปสู่การปฏิบัติ พัฒนาสื่อสร้างสรรค์สำหรับการรณรงค์สร้างความตระหนักจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง สำหรับเด็กปฐมวัย ครู ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ วิจัยพัฒนา ผลลัพธ์และผลกระทบด้านทักษะชีวิตของเด็กปฐมวัยที่ผ่านการจัดกิจกรรมปลูกพลังบวก

นางสาววราภรณ์ ศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคามกล่าวว่า
“ จังหวัดมหาสารคามถูกขนานนามว่าเป็นตักศิลานครเมืองแห่งการศึกษา” ในนามคณะทำงานและผู้บริหารการศึกษาระดับจังหวัด จึงได้ให้การสนับสนุนการจัดกระบวนการเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาปฐมวัย เนื่องด้วยเป็นสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญสูงสุด รวมไปถึงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรของชาติ แต่ก็ยังมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงหลากหลายประการอันจะเห็นได้จากจำนวนเด็กที่หลุดการศึกษาในจังหวัดมหาสารคามมีมากถึง 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จึงต้องเร่งปลูกฝังให้เด็กนักเรียนผู้ปกครองสนใจถึงการพัฒนาศักยภาพผ่านการศึกษาของลูกหลาน รวมไปถึงป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่เป็นปัจจัยภายนอกที่จะนำเด็กออกจากระบบการศึกษา จึงเห็นเป็นโอกาสอันดีที่มีการจัดกิจกรรมตามโครงการปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันที่ดี โดยใช้ครูเป็นผู้จัดกระบวนการ มิใช่เพียงเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กเยาวชนแต่ยังมีผลในการสร้างความอบอุ่นในครอบครัว และสร้างความมั่นคงในชุมชน

การดำเนินงานในระยะที่ 1 จะเป็นการนำเครื่องมือและกระบวนการอบรมไปฝึกปฏิบัติและนำไปใช้กับเด็กปฐมวัย ผู้ปกครอง และคณะทำงานได้ร่วมกันออกแบบการกำกับนิเทศติดตามเพื่อเสริมพลังครูผู้เข้าร่วมอบรมพร้อมทั้งยกระดับเป็นสถานศึกษาต้นแบบ รวมทั้งการพัฒนาต่อยอดในอนาคต กิจกรรมในครั้งนี้เป็นหนึ่งในแผนงานลดปัจจัยเสี่ยงระดับจังหวัดมหาสารคาม โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะที่ดี 5 ด้าน ได้แก่ชุมชนคนสู้เหล้า งานบูรณาการภาคีเครือข่ายโดยเน้นการดำเนินงานร่วมกันกับโครงการอำเภอบูรณาการป้องกันปัจจัยเสี่ยง ป้องกันนักดื่มนักสูบหน้าใหม่โดยสร้างฐานเยาวชนพี่สอนน้อง งานจัดสภาพแวดล้อมในชุมชนและในงานบุญประเพณีระดับจังหวัด และงานขับเคลื่อนกลไกการบังคับใช้กฎหมาย
