EVALI โรคปอดอักเสบเฉียบพลัน ภัยร้ายจากควันบุหรี่ไฟฟ้า

บุหรี่ไฟฟ้า กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ด้วยภาพลักษณ์ที่ถูกทำให้ดูทันสมัย มีรสชาติหลากหลาย และถูกโฆษณาว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่ความจริงแล้วผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้า มีทั้งแบบเฉียบพลัน ทำให้ปอดอักเสบรุนแรงจนเป็นโรคที่เรียกว่า “EVALI” หรือภาวะปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้ปลอดภัยไปกว่าบุหรี่แบบดั้งเดิมเลย

EVALI โรคปอดอักเสบเฉียบพลัน

โรค EVALI ย่อมาจาก E-cigarette or Vaping product use-Associated Lung Injury) คือ โรคปอดอักเสบเฉียบพลัน ที่เกิดจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวที่มักเข้าใจผิดว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่แบบดั้งเดิม อาการของผู้ป่วยจะมีอาการที่หลากหลาย เช่น มีไข้ หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ ปวดเมื่อยตามตัว รวมถึงอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผู้ที่เป็น EVALI จะแสดงผลการตรวจทางรังสีวิทยาที่ผิดปกติ โดยภาพเอกซเรย์ปอดจะพบเงาทึบผิดปกติ (opacities) หรือการตรวจด้วย CT ปอดมักจะมีความผิดปกติ เป็นฝ้าขาว

อาการของ EVALI

อาการของโรค EVALI มักคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ระยะเวลาของผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเกิด EVALI จะใช้เวลา 3 เดือนขึ้นไป ร้อยละ 95 ของผู้ป่วย EVALI จะมีอาการไข้ หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก ปวดเมื่อยตามตัว และร้อยละ 77 มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ซึ่งทุกรายมีผลเอกซเรย์ปอดที่ผิดปกติ โดยพบปอดมีลักษณะเป็นฝ้าขาวกระจายทั่วทั้ง 2 ข้าง หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น หายใจหอบมากขึ้น กระสับกระส่าย อาจจะต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เนื่องจากปอดจะถูกทำลายจากการอักเสบที่รุนแรงซึ่งอาจอันตรายถึงชีวิตได้

สถานการณ์ EVALI ในสหรัฐอเมริกาและไทย

จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) สหรัฐอเมริกา (ข้อมูลล่าสุดปี 2563) พบว่ามีผู้ป่วย EVALI ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลถึง 2,807 ราย และมีผู้เสียชีวิต 68 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอายุระหว่าง 18-24 ปี (ร้อยละ 37) ส่วนอายุเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 49.5 ปี ในช่วงอายุตั้งแต่ 15-75 ปี

ในประเทศไทย เมื่อช่วงเมษายน 2568 มีข้อมูลจากแพทย์ได้ โพสต์ภาพ X-Ray ปอด ผ่านทางเฟซบุ๊ก หลังพบเคสผู้ป่วยเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า เป็นเด็กหญิง อายุ 14 ปี มีพฤติกรรมใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นระยะเวลา 1 ปี และเลิกใช้มา 2 เดือน เพราะร้านหยุดขาย ได้มาพบหมอด้วยอาการเหนื่อย หายใจหอบ พบว่าเป็นโรค EVALI ซักประวัติกลับไปจึงทราบว่า เริ่มสูบตอนอายุ 13 ปี ใช้เดือนละ 1 แท่ง ใช้แบบห้อยคอ อยากสูบตอนไหนก็ทำได้เลย และก่อนหน้านี้สำหรับประเทศไทย เคยมีรายงานผู้ป่วย EVALI อายุระหว่าง 20-30 ปี มาพบแพทย์ด้วยอาการเหนื่อย ไอ มีไข้ และรู้สึกเหนื่อยง่ายมาประมาณ 1 เดือน ผู้ป่วยมีประวัติใช้บุหรี่ไฟฟ้าชนิดพอต (POD) แบบใช้แล้วทิ้งมาประมาณ 6 เดือน โดยใช้ทุกวัน ประมาณ 2 หลอด/สัปดาห์ ไม่ได้สูบบุหรี่ปกติ และไม่มีการใช้สารเสพติดชนิดอื่นร่วมด้วย

เมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล มีอาการไข้และหายใจเร็ว ออกซิเจนในเลือดต่ำมาก เอกซเรย์พบมีภาวะปอดอักเสบรุนแรง แพทย์ได้ทำการส่องกล้องหลอดลมและตรวจทางพยาธิวิทยา พบว่าผลการตรวจเข้าได้กับภาวะ EVALI

การเพิ่มขึ้นของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนไทย

ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากรปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 78,742 คน (ร้อยละ 0.14 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป) โดยผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี (24,050 คน หรือร้อยละ 0.26)

และจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับ สสส. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และภาคีเครือข่ายโดยการตรวจร่างกายซึ่งมีการสำรวจเกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าพบว่า ในช่วงระยะเวลา 2567-2568 มีตัวเลขของนักสูบที่มีอายุน้อยลง ซึ่งพบเด็กและเยาวชน อายุ 15-29 ปี มีแนวโน้มการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จาก 5.8% ในปี 2562 เป็น 12.2% สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นอย่างชัดเจนในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย

ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือข้อมูลจากการสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนระดับโลก (Global Youth Tobacco Survey: GYTS) ในปี 2565 พบว่านักเรียนช่วงอายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 17.6 ซึ่งเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า จากปี 2558 (จากร้อยละ 3.3 เป็นร้อยละ 17.6) โดยเพศชายสูบร้อยละ 20.2 (เพิ่มขึ้น 4.3 เท่า) และเพศหญิงสูบร้อยละ 15.0 (เพิ่มขึ้น 7.9 เท่า)

อันตรายที่มองไม่เห็นจากบุหรี่ไฟฟ้า

ควันที่มองไม่เห็นจากการสูดไอจากบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย ก่อให้เกิดอันตรายหลายประการ เริ่มจากสารพิษอันตรายในบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยสารนิโคติน ที่มีฤทธิ์เสพติดรุนแรง ทำให้หลอดเลือดหดตัว และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมองในเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะด้านความสนใจ การเรียนรู้ และความจำ นอกจากนี้ยังมีสารกลุ่มอัลดีไฮด์ เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ อะซีทอลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง รวมถึงโลหะหนัก เช่น อะลูมิเนียม แคดเมียม โครเมียม ตะกั่ว นิกเกิล ซึ่งหลุดลอกจากขดลวดที่ถูกให้ความร้อน และอนุภาคขนาดเล็ก PM 2.5 ที่แทรกซึมเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายและสะสมพิษในอวัยวะต่างๆ

ผลกระทบต่อร่างกายที่สำคัญคือ อนุภาคเขม่าขนาดเล็กเข้าไปในเนื้อปอดและระบบไหลเวียนโลหิต ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง สารทำละลายในบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อโดนความร้อนจะเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็ง และสารแต่งกลิ่นผลไม้หรือกลิ่นหอมมีฤทธิ์ทำลายเยื่อบุหลอดลม

นอกจากนี้ บุหรี่ไฟฟ้าไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพผู้ใช้โดยตรง แต่ยังก่อให้เกิดควันบุหรี่มือสอง ซึ่งเป็นละอองไอที่ผู้อื่นสูดดมเข้าไปโดยตรง และควันบุหรี่มือสาม ซึ่งเป็นสารพิษที่ตกค้างตามเสื้อผ้า ผิวหนัง หรือพื้นผิวต่างๆ ซึ่งส่งผลเสียต่อคนรอบข้าง

ตะหนักและรู้เท่าทัน

การที่เยาวชนหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น อาจไม่ใช่เรื่องที่บังเอิญ แต่เป็นผลจากกลยุทธ์ทางการตลาดที่แยบยล เริ่มจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดใจด้วยสีสันสวยงาม รูปทรงทันสมัย เลียนแบบตุ๊กตา ของเล่น หรือการ์ตูนที่เป็นที่นิยม มีการเพิ่มรสชาติหลากหลายด้วยการใส่สารปรุงแต่งกลิ่นและรสมากถึง 16,000 รสชาติ มีการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์โดยใช้ Influencer รีวิวสินค้า สาธิตการใช้งาน และยังมีการสร้างความเข้าใจผิดด้วยการกล่าวอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย มีความเสี่ยงต่ำ และช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจในความรู้ที่ผิด

แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะถูกโฆษณาว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่ความจริงคือผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีความเสี่ยงร้ายแรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการเกิดภาวะ EVALI ที่สามารถคุกคามชีวิตได้ ในประเทศไทย แม้บุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่การเข้าถึงยังคงง่ายและมีอัตราการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน การให้ความรู้ที่ถูกต้องและการตระหนักในการรูเท่าทันถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันการเกิดโรคร้ายแรง เช่น โรค EVALI และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่อาจตามมาจากการใช้บุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า

การบังคับใช้กฎหมายกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย

รัฐบาลกำลังเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า โดยกำหนดให้การครอบครอง การเสพ การนำเข้า หรือการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นความผิดตามกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประกาศมาตรการจริงจังในการปราบปรามกิจกรรมผิดกฎหมายทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน

สำหรับผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรและประกาศกระทรวงพาณิชย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับเป็นเงิน 5 เท่าของมูลค่าสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ นับเป็นบทลงโทษที่รุนแรงที่สุดในบรรดาความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า สะท้อนให้เห็นถึงความจริงจังของรัฐบาลในการป้องกันการนำสินค้าผิดกฎหมายเข้าประเทศ

ในด้านผู้ขายและผู้ให้บริการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การลงโทษนี้มุ่งเน้นที่การปกป้องผู้บริโภคจากสินค้าที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยังเป็นการตัดวงจรการกระจายสินค้าผิดกฎหมายในตลาด

แม้แต่ผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่พ้นความผิด โดยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับเป็นเงิน 4 เท่าของมูลค่าสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากฎหมายไม่เพียงแต่มุ่งเน้นที่ผู้ค้ารายใหญ่ แต่ยังครอบคลุมไปถึงผู้บริโภคที่มีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครองด้วย

นอกจากนี้ ผู้ที่เสพบุหรี่ไฟฟ้ายังอาจมีความผิดเพิ่มเติมในข้อหาช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรอย่างถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 246 วรรคหนึ่ง ทำให้แม้เพียงการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็อาจนำไปสู่การถูกดำเนินคดีทางกฎหมายได้

ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าโดยการแจ้งเบาะแส หากพบเห็นการลักลอบผลิตหรือจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าหรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า สามารถแจ้งได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ สายด่วนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 1166 เว็บไซต์ www.ocpb.go.th แอปพลิเคชัน OCPB Connect หรือศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัด

การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในสังคมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและเป็นเป้าหมายทางการตลาดของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ทั้งนี้ ความร่วมมือของประชาชนในการปฏิบัติตามกฎหมายและแจ้งเบาะแสผู้กระทำผิดจะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


ข้อมูลอ้างอิง

  1. กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2565). แนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนภาวะปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า (E-cigarette or vaping use-associated lung injury; EVALI).
  2. กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2566). การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย.
  3. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2564). การสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564.
  4. Global Youth Tobacco Survey (GYTS). (2565). การสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนระดับโลก ประเทศไทย.
  5. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (2563). Outbreak of Lung Injury Associated with the Use of E-Cigarette, or Vaping, Products. https://www.cdc.gov/tobacco/basic_information/e-cigarettes/severe-lung-disease.html
  6. โรงพยาบาลศิริราช. (2565). EVALI: ภาวะปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า. https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/evali
  7. คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. (2565). บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม. https://mahidol.ac.th/temp/2022/11/Press-Release.pdf
  8. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.). (2566). แนวทางการบังคับใช้กฎหมายต่อผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า. www.ocpb.go.th
  9. กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง. (2566). มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการนำเข้าและครอบครองสินค้าต้องห้าม: กรณีบุหรี่ไฟฟ้า.
  10. พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560. มาตรา 246 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันเป็นของต้องห้าม.
  11. ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557.
  12. American Lung Association. (2023). EVALI: E-cigarette or Vaping Use-Associated Lung Injury. https://www.lung.org/lung-health-diseases/lung-disease-lookup/evali
  13. World Health Organization (WHO). (2023). Electronic Nicotine and Non-Nicotine Delivery Systems: A Brief.
  14. Taylor, G., McNeill, A., Girling, A., et al. (2014). Change in mental health after smoking cessation: systematic review and meta-analysis. British Medical Journal, 348:g1151.
  15. Landman, S. T., Dhaliwal, I., Mackenzie, C. A., Martinu, T., Steel, A., & Bosma, K. J. (2019). Life-threatening bronchiolitis related to electronic cigarette use in a Canadian youth. Canadian Medical Association Journal, 191(48), E1321–E1331.
  16. Galbo A, Izhakoff N, Courington C, et al. (2022). The Association Between Electronic Cigarette Use During Pregnancy and Unfavorable Birth Outcomes. Cureus, 14(7): e26748.

กองบรรณาธิการ SDNThailand