ท่องเที่ยวบ้านหัวขัว-แกดำ

บ้านหัวขัว ตำบลแกดำ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม เป็นหมู่บ้านที่ได้ชื่อจากลักษณะที่ตั้งริมหนองน้ำและสะพาน โดยคำว่า ” ขัว”  ในภาษาถิ่นหมายถึง สะพาน จึงเป็นที่มาของชื่อ บ้านหัวขัว 

จุดเริ่มต้นของบ้านหัวขัว มีรากฐานมาจากบ้านแกดำ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2338  โดยหลวงปู่จ้อยและกลุ่มผู้อพยพจากเมืองสุวรรณภูมิ  จังหวัดร้อยเอ็ด  หมู่บ้านแกดำ ได้ชื่อนี้ เนื่องจากมีต้นแกเป็นจำนวนมากในพื้นที่ เมื่อประชากรในชุมชนเพิ่มมากขึ้น จึงมีการขยายพื้นที่อยู่อาศัย โดยในปี พ.ศ. 2453 สมาชิกในชุมชนส่วนหนึ่งได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่อีกฝั่งของหนองแกดำ โดยมีขุนอักษร บุญยะเพ็ญ เป็นผู้นำคนแรก ในการก่อตั้งหมู่บ้านหัวขัว

การพัฒนาของหมู่บ้านหัวขัว ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2495มีการขุดลอกหนองแกดำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อกักเก็บน้ำได้มากขึ้น มีการเวนคืนที่ดินบางส่วนที่อยู่ริมหนองน้ำ เพื่อขยายพื้นที่หนองน้ำให้กว้างขวางและเกิดประโยชน์สูงสุด ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 ได้มีการก่อสร้างสะพานไม้แกดำ และในปี พ.ศ. 2507 มีการบูรณะสะพานให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ด้วยความร่วมมือของชาวบ้านหัวขัวและชาวบ้านแกดำ โดยในอดีตสะพานไม้แกดำมีจุดประสงค์เพื่อใช้เดินข้ามหนองน้ำไปทำนาบริเวณบ้านหัวขัว

การพัฒนาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ในปี พ.ศ. 2509 ได้มีการก่อตั้งโรงเรียนเอกชน(โรงเรียนราษฎร์) ชื่อ โรงเรียนแกดำอนุสรณ์ และสะพานก็ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นเพื่อให้นักเรียนสามารถเดินข้ามมาเรียนที่โรงเรียนซึ่งตั้งอยู่บริเวณบ้านหัวขัว ผู้อำนวยการโรงเรียนได้ดูแลซ่อมแซมสะพานอย่างสม่ำเสมอ  จนกระทั่งมีการย้ายโรงเรียนไปยังฝั่งบ้านหัวขัวใกล้กับทางลงสะพาน และต่อมาได้มอบหมายให้นายกรณ์ อนุอัน เป็นผู้ดูแลโรงเรียนจนกระทั่งมีการยุบโรงเรียนในปี พ.ศ. 2523-2524 นายกรณ์ อนุอัน ยังคงมีบทบาทสำคัญในการดูแลซ่อมแซมสะพานไม้และนำพาชาวบ้านในการดูแลรักษาสะพานต่อไปจนเสียชีวิต

จากการเป็นเพียงพื้นที่ทำนาของชาวบ้านแกดำ-บ้านหัว ขัวได้พัฒนาเป็นชุมชนที่มีประชากรอาศัยอยู่จำนวนมาก มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสถานศึกษา แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของชุมชนแห่งนี้