“กาฬสินธุ์โมเดล” ปรับค่านิยมการบวชใหม่ ประกาศ อำเภอเมืองฯ เป็นพื้นที่นำร่อง “บวชสร้างสุข” เป็นอำเภอแรกของประเทศ

“อำเภอส่งเสริมบวชสร้างสุข” นโยบายเชิงสัญลักษณ์สู่การเปลี่ยนแปลง การประกาศให้อำเภอเมืองกาฬสินธุ์เป็น “อำเภอส่งเสริม บวชสร้างสุข” อย่างเป็นทางการ ถือเป็นก้าวแรกของการขับเคลื่อนนโยบายเชิงโครงสร้าง โดยมุ่งปรับเปลี่ยนค่านิยมการบวชที่เคยมีภาระค่าใช้จ่ายสูง และกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับหลักพระธรรมวินัย กลับสู่รูปแบบที่เรียบง่าย เข้าถึงได้ และมีความหมายต่อชีวิตผู้บวชและครอบครัว

“บวชสร้างสุข” ไม่ใช่แค่เปลี่ยนพิธีบวช…แต่เปลี่ยนวิธีคิดของสังคม การประกาศให้อำเภอเมืองกาฬสินธุ์เป็นพื้นที่ต้นแบบ “บวชสร้างสุข” ถือเป็นการส่งสัญญาณสำคัญว่า คณะสงฆ์จังหวัดกาฬสินธุ์พร้อมจะเป็นผู้นำในการปฏิรูปวัฒนธรรมงานบวชให้สอดคล้องกับหลักธรรมวินัยและความเป็นอยู่ของชุมชน

“บวชสร้างสุข” จึงไม่ใช่แค่โครงการ แต่คือแนวทางที่มุ่งสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับสังคมว่า “การบวช” คือการฝึกตนเพื่อพ้นทุกข์ ไม่ใช่ภาระทางเศรษฐกิจหรือพิธีกรรมที่กลายเป็นการแข่งขันหน้าตาทางสังคม หากสามารถขยายแนวคิดนี้ในวงกว้างได้ อาจกลายเป็นโมเดลแห่งการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอย่างยั่งยืน

“บวชทั้งที ต้องจัดใหญ่?” “บวชแบบเรียบง่าย จะดูไม่มีเกียรติ?” คำถามเหล่านี้สะท้อนรากลึกของค่านิยมการบวชในสังคมไทย แต่ในยุคของกระแสโลกาภิวัตน์ ค่านิยมแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์สุขภาวะของผู้คนอีกต่อไป

ในเวทีครั้งนี้ ได้มีการเสวนาเชิงลึก “SWOT บวชสร้างสุข” ได้เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนมุมมองจากหลากหลายภาคส่วน เพื่อร่วมกันทบทวนบทบาทของ “การบวช” ในบริบทสังคมปัจจุบัน พร้อมวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมาตามหลัก SWOT จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค เพื่อชี้แนวทางอนาคตของ “การบวชที่สร้างสุข” ทั้งต่อตัวผู้บวช ครอบครัว และสังคม โดยมี เจ้าอธิการแดง ปญฺญาวโร เป็นผู้ดำเนินรายการ เชื่อมโยงมุมมองศาสนา สังคม และวัฒนธรรมในท้องถิ่น เพื่อพัฒนานโยบายที่ตอบโจทย์บริบทจริง

หัวใจของ “บวชสร้างสุข” คือการดึงสาระแก่นแท้ของการบวชกลับคืนมา ไม่ใช่เพียงพิธีกรรม ไม่ใช่เพียงการเฉลิมฉลอง แต่คือโอกาสในการ “ฝึกใจ” ละวางความยึดติด และเข้าสู่หนทางของการศึกษาพระธรรมวินัยอย่างลึกซึ้ง การลดความฟุ่มเฟือย เช่น ไม่ใช้แตรวง รถแห่ หรือ เครื่องเสียงขนาดใหญ่ จัดเลี้ยงฉลองใหญ่โต ทำให้งานบวชกลายเป็นพื้นที่สงบ เรียบง่าย และเอื้อต่อการศึกษาพระธรรม อีกทั้งยังช่วยลดภาระทางการเงินให้กับครอบครัวผู้บวช โดยเฉพาะในยุคที่ค่าครองชีพสูง การจัดงานเล็กแต่ลึกซึ้ง กลายเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ยุคสมัยได้อย่างลงตัว พระสงฆ์ พระสังฆาธิกา ที่มองเห็นความสำคัญร่วมกัน ถึงสถานการณ์ปัญหา ที่พระสงฆ์ ผู้เป็นผู้นำทางศาสนา ควรช่วยกันแก้ไข สงเคราะห์ชาวพุทธ


อย่างไรก็ตาม ค่านิยมเก่า ๆ เช่น “บวชทั้งทีต้องจัดใหญ่” หรือ “งานเล็กกลัวจะเสียหน้า” ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่าน นอกจากนี้ การสื่อสารสาธารณะเกี่ยวกับแนวทาง “บวชสร้างสุข” ยังไม่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ห่างวัด ทำให้แนวทางนี้ยังจำกัดอยู่เพียงในบางเครือข่ายเท่านั้น


ในยุคที่ผู้คนเหนื่อยล้ากับการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ความกดดันทางสังคม และความวุ่นวายของชีวิตประจำวัน แนวคิด “บวชสร้างสุข” ที่เน้นความสงบ เรียบง่ายกลับกลายเป็นคำตอบที่ทรงพลังสำหรับคนยุคใหม่ หลายคนเริ่มมองการบวชในฐานะ “การปลีกวิเวกเพื่อทบทวนชีวิต” ไม่ใช่แค่ประเพณี แต่คือการพัฒนาตน การใช้ วัดต้นแบบ ที่ใช้แนวทาง “บวชเรียบง่าย” พร้อมประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อให้คนรุ่นใหม่เห็นภาพชัดเจนขึ้น


แม้จะมีโอกาส แต่การสร้างระบบสนับสนุนการบวชสร้างสุขยังคงท้าทาย โลกยุคใหม่เต็มไปด้วยสิ่งเร้า และค่านิยมวัตถุนิยม ทำให้ “การบวชเพื่อสุขภาวะ” อาจถูกมองว่าเชย ล้าสมัย หรือไม่ตอบโจทย์ หากไม่มีโครงสร้างรองรับอย่างชัดเจน เช่น งบประมาณ การฝึกอบรมพระอุปัชฌาย์ และการมีแบบแผนที่ชัดเจน แนวทาง “บวชสร้างสุข” อาจกลายเป็นเพียงกระแสที่มาแล้วก็ไป

การประกาศให้อำเภอเมืองกาฬสินธุ์เป็น “พื้นที่ต้นแบบ” ครั้งนี้ เปรียบเสมือนการส่งสัญญาณว่าคณะสงฆ์กาฬสินธุ์ พร้อมจะเป็นต้นแบบในการปฏิรูปวัฒนธรรมงานบวช ให้กลับมาสู่หัวใจของศาสนาอย่างแท้จริง คือ “การฝึกตนเพื่อพ้นทุกข์” ไม่ใช่เพียงพิธีกรรมที่กลายเป็นภาระของครอบครัวและชุมชน “บวชสร้างสุข” จึงอาจกลายเป็นโมเดลใหม่ของการส่งเสริมพระพุทธศาสนา ที่ผสมผสานทั้งธรรมวินัย วิถีชีวิต และบริบทสังคมอย่างยั่งยืน

นอกจากเวทีเสวนา ยังมีการ มอบป้าย “วัดส่งเสริมบวชสร้างสุข” ให้กับวัดต้นแบบในอำเภอเมือง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้วัดอื่น ๆ ปรับเปลี่ยนแนวทางพิธีบวชตามหลักธรรมวินัย ลดการจัดงานฟุ่มเฟือย และเเพื่อสื่อสารรณรงค์รูปแบบของการบวชสร้างสุข