สสส.และเครือข่ายงดเหล้า ร่วมกับ สำนักอนามัย กรุงเทพมหนคร สนับสนุนป้ายรณรงค์ วัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมาย ครอบคลุมวัดทั้ง 50 เขตในพื้นที่ กทม. หวังช่วยสังคมโดยรวมตระหนักถึงการ ลด ละ เลิก บุหรี่และแอลกอฮอล์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย ต้านภัยจากโควิด-19
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 พระธรรมวชิรเมธี (มีชัย วีรปญฺโญ) เจ้าคณะภาค 1 เจ้าอาวาส วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร ได้กล่าวสัมโมทนียกถาให้โอวาส และนโยบายคณะสงฆ์ ในกิจกรรม “สานพลังไตรภาคีสู้ภัยโควิด-19” ครั้งนี้ว่า ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และขออนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยกันทำให้เกิดการลด และคลี่คลายปัญหาต่างๆ อันเกิดจากโรคภัย ไข้เจ็บโควิด-19 สำหรับนโยบายที่ประทานลงมาจาก เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกเป็นเจตนารมณ์ โดยมุ่งหมายเอาความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลักสำคัญ และประสานความร่วมมือกับพระสงฆ์ ในการให้ความร่วมมือให้ความช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งพระสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของสังคม นอกเหนือจากการประพฤติดีปฏิบัติชอบตามกรอบแห่งพระธรรมวินัยแล้วนั้น ยังมีเมตตาธรรม ช่วยเหลือเกื้อกูลประชาชน และสังคม มหาเถระสมาคมและคณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร มีความหวังว่า สถานการณ์ที่เกิดวิกฤตทั้งหลายจะคลี่คลายลงโดยเร็ว เราต้องช่วยกัน โดยปฏิบัติตามที่ราชการกำหนดให้ดูแลต่างๆ จากดูแลตนเอง ก็ดูแลครอบครัว ดูแลชุมชน ถ้าเรามีจิตสำนึกเช่นนี้ มั่นใจเหลือเกินว่าเราท่านทั้งหลายร่วมด้วยช่วยกันจะฝ่าฟันวิกฤตลงไปได้
พระเทพสุวรรณเมธี (สุชาติ หวลจิตต์) รองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เจ้าอาวาสวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร กล่าวว่า กิจกรรม “สานพลังไตรภาคีสู้ภัยโควิด-19” เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และ สสส. โดยได้ถวายป้ายถาวร สนับสนุนให้วัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมายควบคุมการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ภายในศาสนสถาน ตามมติมหาเถรสมาคม ที่ 351/2563 จำนวน 500 ป้าย และป้ายรณรงค์ป้องกันโควิด-19 ครอบคลุมวัดทั้งหมด 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร นับเป็นกลไกที่สำคัญในการร่วมกันสู้กับวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย ที่สำคัญอีกทางหนึ่ง คือ การดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากบุหรี่ เพื่อความแข็งแกร่งของปอด และการเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นทางนำสู่การขาดสติสัมปชัญญะนั้น
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ต้องขออนุโมทนาสาธุกับกิจกรรม “ ” นับว่าเป็นจุดแข็งของสังคมไทยในการที่จะร่วมกันสู้ทุกวิกฤต ยิ่งมีพระสงฆ์ทำงานร่วมทั้งเชิงรุก และรับ โดยให้ความสำคัญกับบทบาทพระสงฆ์ด้านการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะชุมชนและสังคม ข้อมูลจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า เรื่องการสูบบุหรี่ของพระภิกษุสงฆ์ในประเทศไทย พ.ศ.2547 โดยผลสำรวจพระภิกษุสงฆ์และสามเณร จำนวน 6,213 รูป มีพระภิกษุสงฆ์สูบบุหรี่ทั่วประเทศ ร้อยละ 24.4 ข้อมูลที่น่าสนใจคือ พระสงฆ์ส่วนใหญ่ต้องการที่จะ ลด ละ เลิก บุหรี่ ร้อยละ 72 และจากข้อมูลใน 1 ปี ได้มีพระสงฆ์ร้อยละ 52 ที่พยายามเลิกสูบบุหรี่ ทั้งนี้ พระสงฆ์ร้อยละ 72.5 ต้องการเลิกสูบบุหรี่ และพระสงฆ์ร้อยละ 80 เสนอให้มีการรณรงค์ไม่ให้ญาติโยมถวายบุหรี่แก่พระสงฆ์
เภสัชกรสงกรานต์ กล่าวต่อว่า จากการสำรวจข้างต้น ทำให้ สสส. เครือข่ายงดเหล้า และเครือข่ายพระสังฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคม ได้จัดทำโครงการที่มุ่งเน้นสร้างกระบวนการให้ความสำคัญช่วยพระเลิกบุหรี่ โดยเอาบทเรียนของเครือข่ายงดเหล้าที่ทำกิจกรรมชวน ช่วย ชม เชียร์ให้คนเลิกเหล้า และให้มีพระต้นแบบเลิกบุหรี่ โดยจะมีวัดที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ 129 วัด ซึ่งได้ทำการรณรงค์ “ช่วยพระเลิกบุหรี่ได้บุญอันยิ่งใหญ่” เพื่อให้ทุกส่วนในสังคมได้ช่วยพระภิกษุสงฆ์เลิกบุหรี่ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์เกิดโรคระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้
นายแพทย์สมชาย ตรีทิพย์สถิต ผอ.สำนักป้องกันยาเสพติด และทีมสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามที่ได้ทำการอบรม พระคิลานุปัฏฐาก” เพื่อส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม โดยจัดทำโครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตสำหรับพระสงฆ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสุขภาวะ สุขภาพพระสงฆ์ในกรุงเทพฯ โดยใช้กระบวนการคัดกรองโรคพระสงฆ์เพื่อทราบถึงสภาวะที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หลักสูตร “พระคิลานุปัฏฐาก” ซึ่งเป็นหลักสูตรในการสร้างพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อวส.) เพื่อให้พระ อสว. มีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง สามารถให้คำแนะนำปรึกษา การดูแลสุขภาพแก่พระสงฆ์ สามเณรภายในวัด และชุมชนได้ ตลอดจนจะมีการส่งเสริมการจัดตั้งวัดส่งเสริมสุขภาพ ที่สำคัญพระสงฆ์ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของญาติโยมในการดูแลสุขภาพลดปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะไม่สูบบุหรี่