รักร้างเพราะ…เหล้า!

“ความรัก แม้ไม่ใช้หนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำเนินชีวิต” แต่คนขาดความรักไม่ได้ ความรักสามารถทำให้คนมีทั้งความสุขและความทุกข์ ความรักสามารถทำให้คนๆ เปลี่ยนพฤติกรรมได้ ความทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ความรักเป็นความต้องการลำดับที่ 3 มาสโลว์เชื่อว่าถ้าไม่สามารถเติมเต็มความรักได้จะไม่สามารถก้าวไปสู่ความต้องการขั้นที่ 4 (ความต้องการด้านความเคารพ หรือ Esteem Needs) และขั้นที่ 5 (การบรรลุความหมาย หรือความสมบูรณ์ของชีวิต หรือ Self-Actualization)  แม้ว่าความรักจะมีความสำคัญและเป็นที่ต้องการของมนุษย์แต่ว่าหลายคนกลับเป็นคนทำลายความรักของตนเองด้วยการดื่มเหล้า

จากข้อมูลของศูนย์ปรึกษาปัญหาสุราทางโทรศัพท์ หรือ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า พบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างด้วย เช่นส่งผลกระทบต่อญาติ ผู้ดูแล คนในครอบครัว สามี ภรรยา บุตร เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ในด้าน (1) ด้านร่างกาย กล่าวคือถูกกระทำความรุนแรงโดยเฉพาะกับคนในครอบครัว (2) ด้านสภาพจิตใจ เช่น การถูกต่อว่า ดุด่าและ (3) ด้านทรัพย์สิน กล่าวถึง การขาดรายได้จากผู้ดื่ม เพราะผู้ดื่มมักมีพฤติกรรมการดื่มจนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง (พจนา เปลี่ยนเกิด & พิชัย แสงชาญชัย, 2557, น. 93-94) ถ้าผู้ดื่มติดสุราถึงขั้นต้องเขารับการบำบัดจะกระทบต่อสมาชิกในครอบครัวที่ต้องหยุดงานหรือลางานเพื่อมาผู้ป่วย นอกจากนี้การดื่มสุราส่งผลกระทบต่อเด็กภายใต้การดูแล โดยเด็กได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจเนื่องจากต้องรับรู้และเห็นภาพการทะเลาะและความรุนแรงในครอบครัว (วารีพร ชูศรี และคณะ, 2564)

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า “ครอบครัวที่มีการดื่มสุรากระตุ้นให้เกิดการทำร้ายกันมากขึ้นถึง 3-4 เท่า และมีการแยกทางกันของคู่สามีภรรยา ส่วนใหญ่ผู้ที่โทร.เข้ามาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และมากกว่า 1 ใน 3 เป็นความรุนแรงที่เกิดมาจากการดื่มสุรา โดยมีทั้งกรณีที่ถูกทำร้ายทุบตี มีหญิงอื่น ข่มขืนคนในครอบครัว และการฆ่ากัน” (ผู้จัดการออนไลน์, 2554)

การดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มีอัตราการหย่าร้างสูงขึ้น โดย ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ กล่าวว่า “ในสมัยก่อน สังคมไทย ชายหญิงด่าว่ากัน ตบตีกันจะอดทนเพื่อลูก เพื่อครอบครัว โดยเฉพาะบางประเพณี เช่น จีนก็จะอดทนสุดๆ แต่ปัจจุบันนี้ เราเห็นทัศนคติที่เปลี่ยนไป นั่นคือ หากมีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ก็จะไม่ทนเพื่อคงสภาพแล้ว เขาจะตัดสินใจหย่าร้างมากกว่าทนอยู่ต่อไป เพราะปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของหญิงชายมีการพูดถึงกันมากขึ้นทั้งประชาคมโลกและประเทศไทย ฉะนั้นแนวคิดที่ว่าผู้หญิงเป็นทรัพย์ของผู้ชายที่ถูกตบตีได้มันไม่เป็นที่ยอมรับแล้ว ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่เหล้าจะเป็นเหตุผลหนึ่งของการหย่าร้าง เพราะเหล้าก็คือสาเหตุหนึ่งของความรุนแรงในครอบครัวนั่นเอง” (ผู้จัดการออนไลน์, 2554)

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 Organization for Economic Co-operation and Development รายงานว่า ผลจากนโยบายล็อกดาวน์ (Lockdowns) ทำให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นโดยเป็นการดื่มที่บ้าน ซึ่งทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น เช่นในภาพรวมของสหภาพยุโรปแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 โดยผู้หญิง 1 ใน 3 คนถูกกระทำความรุนแรงจากแฟน และเด็ก 1 ใน 3 คนเช่นกันถูกกระทำความรุ่นแรงจากผู้ปกครองหรือจากสมาชิกในครอบครัว

กล่าวโดยสรุป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกจากส่งผลกระทบต่อผู้ดื่มแล้ว ยังเป็นการทำร้ายคนใกล้ตัวด้วย โดยเฉพาะกับบุคคลในครอบครัว การดื่มเหล้าทำให้อัตราการหย่าร้างสูงขึ้นและทำให้ลูกได้พบเห็นตัวอย่างที่ไม่ดีทั้งจากการดื่ม การทะเลาะวิวาทและการทำร้ายร่างกาย วันวาเลนไทน์นี้ควรรักษาความรักที่มีไว้ด้วยการลด ละ เลิกการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้คนที่รักมีความสุข และเพื่อให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น

อ้างอิง

ผู้จัดการออนไลน์. (2554). ‘พิษเหล้า’ เหตุเตียงหักทำลายรักสิงห์สุรา. https://mgronline.com/live/detail/9540000081423

พจนา เปลี่ยนเกิด, และ พิชัย แสงชาญชัย. (2557). สวัสดีค่ะ.1413 สายด่วนเลิกเหล้า. วารสารพยาบาลทหารบก, 15(3), 91–96. https://he01.tci-thaijo.org/index.php/JRTAN/article/view/30268

วารีพร ชูศรี, จุฑามาศ พรหมมนตรี, บุตรี บุญโรจน์พงศ์, และสรัญณี อุเส็นยาง. (2564). ผลกระทบต่อครอบครัวจากการดื่มสุราของผู้ป่วยโรคติดสุราที่เข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลในเขตจังหวัดสงขลา. วารสารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 8(2), 69-83. https://so05.tci-thaijo.org/index.php/pnuhuso/article/download/249009/171451

Organization for Economic Co-operation and Development. (2021). The effect of COVID-19 on alcohol consumption, and policy responses to prevent harmful alcohol consumption. https://www.oecd.org/coronavirus/policy-responses/the-effect-of-covid-19-on-alcohol-consumption-and-policy-responses-to-prevent-harmful-alcohol-consumption-53890024/?fbclid=IwAR1W4wThN1SdTXRv23JNwL9iEETjLqILeJCY8boLvRGOCr90bWHTSR6