พื้นที่สาธารณะ ปลอดเหล้า

“เราใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งนอกบ้าน แล้วครึ่งหนึ่งของชีวิตนอกบ้าน คือ ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ” สมัยนี้ เราเกิดที่โรงพยาบาล ขึ้นรถสาธารณะไปทำงาน เรียนหนังสือ ซื้อของที่ตลาด วิ่งออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ ป่วยก็ไปโรงพยาบาล ตายไปก็เผาที่เมรุร่วมกับคนอื่น หรือฝังในสุสานร่วมกับผีอื่นๆ”

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล กล่าวในงาน TEDxChulalongkorn ในหัวข้อ “เมืองของเรา เรื่องของเรา” เกี่ยวกับประเด็นพื้นที่นอกบ้านและพื้นที่สาธารณะ ที่มา https://theurbanis.com/public-realm/06/12/2019/204

หลายคนอาจเข้าใจว่า พื้นที่สาธารณะ หมายถึง สวนสาธารณะ หรือสาธารณสมบัติที่ใช้ประโยชน์ได้ อย่างสะพานลอย หรือลานกว้าง ๆ ที่ใช้บริโยชน์ร่วมกัน แต่ความจริงไม่ได้จำกัดแค่ สวนสาธารณะ

คำว่า “พื้นที่สาธารณะ” หรือ Public Space หมายถึง พื้นที่ทางกายภาพในเมืองที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยเสรี เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน โดยไม่จำกัดรูปแบบหรือสถานะทางสังคม ครอบคลุมทั้งพื้นที่เปิดโล่ง สวนสาธารณะ หรือง่าย ๆ เลยก็คือ ถนน ทางเท้า ลานเอนกประสงค์ในชุมชน ที่เรามักเห็นเป็นพื้นที่ส่วนรวมทั่วไปหรือเข้าไปใช้พื้นที่นั้นเกือบทุกวันเลยก็ว่าได้

“พื้นที่สาธารณะ จะเป็นสถานที่แบบใดก็ได้ที่ทำหน้าที่ช่วยอำนวยประโยชน์ใช้สอยอย่างใดอย่างหนึ่งให้กับเหล่าชาวเมือง” คุณอัจฉริยา มณีน้อย ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมืองจากศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) อธิบาย สวนสาธารณะก็ทำหน้าที่เป็นสถานที่หย่อนใจ จัตุรัสกลางเมืองก็เป็นพื้นที่สำหรับทั้งชาวเมืองได้พบปะกัน ซึ่งพื้นที่สาธารณะของบางเมืองก็โดดเด่นและสวยงามจนกลายเป็น Landmark ที่นักท่องเที่ยวหลายคนวางหมุดไว้ในใจว่าจะต้องไปเยือน

นอกจากในเมืองแล้ว พื้นที่สาธารณะในชนบท ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเมือง มักเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของชุมชน เช่น วัด โรงเรียน หรือพื้นที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสามารถพัฒนาเพื่อส่งเสริมสุขภาวะและกิจกรรมสังคมได้ การพัฒนาพื้นที่สาธารณะนอกเมืองมักเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อให้พื้นที่นั้นเหมาะสมกับบริบทและความต้องการของผู้ใช้ เช่น การออกแบบพื้นที่ให้ปลอดภัย กิจกรรมปลอดเหล้า สวนผักพื้นที่สีเขียว และลานเอนกประสงค์ที่รองรับกิจกรรมหลากหลาย

ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ ได้อธิบายถึงความสำคัญของพื้นที่สาธารณะในสังคมประชาธิปไตยไว้ว่า “พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยน การเรียนรู้ และการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้คนที่หลากหลาย เป็นพื้นที่ที่เสรีภาพและความเท่าเทียมควรได้รับการปกป้อง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการจัดระเบียบเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเป็นธรรม” (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2562)

การห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ

ความเป็นมาของกฎหมายการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะของประเทศไทยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการจากพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และได้เพิ่มความเข้มงวดในปี 2558 ด้วยคำสั่ง คสช. โดยเฉพาะในเขตสถานศึกษาและหอพัก เพื่อปกป้องเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายเกินไป

พื้นที่สาธารณะที่กฎหมายห้ามดื่มครอบคลุมสถานที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นของรัฐ เช่น สวนสาธารณะ ถนน ทางเท้า ชายหาด แม่น้ำ สถานที่ให้บริการประชาชน เช่น โรงพยาบาล สถานีขนส่ง วัด โรงเรียน รวมถึงพื้นที่เอกชนที่เปิดให้บริการสาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ และยานพาหนะสาธารณะทุกประเภท

กฎหมายได้ระบุสถานที่ห้ามดื่มในมาตรา 31 ไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ วัดและสถานที่ทางศาสนา โรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา สถาบันการศึกษาทุกระดับ ปั๊มน้ำมัน สวนสาธารณะ ทางเท้า ถนน ในรถยนต์ที่อยู่บนถนน ตลอดจนสถานีขนส่งต่าง ๆ นอกจากห้ามดื่มแล้ว ยังห้ามขาย ตามมาตรา 27 อีกด้วย

เหตุผลสำคัญในการออกกฎหมายนี้มีหลายประการ ประการแรกคือเพื่อรักษาความปลอดภัยของส่วนรวม เนื่องจากคนที่ดื่มแอลกอฮอล์มักขาดสติและเสี่ยงก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า 40% ของอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลมีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์

การห้ามดื่มในที่สาธารณะยังช่วยป้องกันอาชญากรรมและความรุนแรง จากการสำรวจในปี 2565 พบการดื่มในพื้นที่สาธารณะถึง 28% ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการทะเลาะวิวาท ความรุนแรง และอาชญากรรมต่างๆ เช่น การทำลายทรัพย์สิน การลวนลามทางเพศ

นอกจากนี้ การห้ามดื่มในที่สาธารณะยังช่วยปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเห็นแบบอย่างที่ไม่เหมาะสม เพราะเด็กที่พบเห็นการดื่มเป็นประจำมีแนวโน้มเริ่มดื่มเร็วกว่าปกติ อีกทั้งยังช่วยรักษาความสงบเรียบร้อย ลดการรบกวนผู้อื่น ซึ่งมีผลสำรวจพบว่า 65% ของประชาชนรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องเดินผ่านกลุ่มคนที่กำลังดื่มในที่สาธารณะ

รศ.ดร.ปาริชาติ วลัยเสถียร นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ได้กล่าวการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวารสารพัฒนาสังคมไว้ว่า “การกำหนดพื้นที่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างชัดเจนเป็นการส่งสัญญาณทางสังคมว่า การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่พฤติกรรมที่เหมาะสมในทุกสถานที่และทุกโอกาส และเป็นการปกป้องสิทธิของผู้ที่ไม่ดื่มให้ไม่ต้องได้รับผลกระทบจากการดื่มของผู้อื่น”

นอกจากการห้ามขายในพื้นที่สาธารณะแล้ว ว่าด้วยเรื่อง การห้ามขายเหล้า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2552 เพื่อกำหนด “วันห้ามขาย” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ชัดเจน โดยระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ยกเว้นการขายในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม” การห้ามขายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลา 24:00 น. ของวันนั้น จนถึงเวลา 24:00 น. ของวันรุ่งขึ้น

ภายหลังการรัฐประหารในปี 2557 รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับใหม่ โดยเพิ่มวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกหนึ่งวัน “ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ยกเว้นการขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ” ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีอีกฉบับ โดยอ้างอิง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทำให้ประกาศคณะปฏิวัติกลายเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ ซึ่งกำหนดว่า “ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาอื่น นอกจากตั้งแต่เวลา 11:00-14:00 น. และ 17:00-24:00 น. ยกเว้นการขายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ และการขายในสถานบริการ”

ในปี 2566 ภายใต้รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ได้มีการปรับปรุงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 โดยอนุญาตให้สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ 6 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่ แม้ในวันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย สร้างรายได้ และส่งเสริมภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ

บทลงโทษและการบังคับใช้กฎหมาย

ในแง่ของผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ จะมีโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 39 ซึ่งระบุว่า ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัตินั้นมักจะมีความไม่สม่ำเสมอ โดยในบางพื้นที่มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด แต่ในบางพื้นที่อาจมีการละเลยหรือเพิกเฉยต่อการกระทำผิด ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพของกฎหมายลดลง นอกจากนี้ ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับทรัพยากรที่ใช้ในการตรวจตราและบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงลำดับความสำคัญของการบังคับใช้เมื่อเทียบกับการกระทำผิดกฎหมายประเภทอื่น

พื้นที่สาธารณะปลอดเหล้า

เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี เป็นต้นแบบที่มีการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health tourism) ควบคู่กับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) ซึ่งเป็นนโยบายของนายรณชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข (ในขณะนั้น) เพื่อปกป้องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติควบคู่กับสุขภาวะที่ดีของประชาชน และสร้างจิตสำนึกให้ทุกฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสุขภาพแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งกิจกรรมรณรงค์ลด ละ เลิก การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของการส่งเสริมชายหาดปลอดเหล้า-บุหรี่ โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในการประกาศนโยบายและมาตรการต่างๆ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและประชาชน ที่ไม่ดื่ม ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ ทำให้ส่งผลต่อนักท่องเที่ยวและประชาชนจะเกิดความสุขทั้งกายและใจจากการมาพักผ่อนที่ชายหาดบางแสนร่วมกัน

สำหรับเมืองหลวงอย่าง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ปัจจุบันมีนโยบายการควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ในบางพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ สนามกีฬา และสถานที่อื่นที่มีกิจกรรมสาธารณะ เพื่อรักษาความปลอดภัยและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับประชาชนที่มีต่อสถานที่สาธารณะ ซึ่งกทม. มีพื้นที่สาธารณะ ได้แก่ ลานกีฬา 1,034 แห่ง ศูนย์กีฬา 12 แห่ง ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานครไทย-ญี่ปุ่น ศูนย์สร้างสุขทุกวัย 35 แห่ง สวนสาธารณะหลัก 39 แห่ง โดยเปิดให้ประชาชนเข้าไปพักผ่อน และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน

ไม่ได้มีเพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น หลายประเทศทั่วโลก ที่มีกฎหมายควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ ก็มีข้อกำหนดที่แตกต่างกันไป ในประเทศสิงคโปร์ มีกฎหมายห้ามดื่มในพื้นที่สาธารณะตั้งแต่เวลา 22:30 น. ถึง 07:00 น. และห้ามดื่มในพื้นที่สาธารณะตลอด 24 ชั่วโมงในเขตที่กำหนด เช่น ย่าน Little India โดยมีโทษปรับสูงถึง 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐและเมือง แต่ส่วนใหญ่มีข้อห้ามการดื่มในที่สาธารณะที่เรียกว่า “Open Container Law” โดยเฉพาะในเขตเมือง

หรือแม้แต่ประเทศญี่ปุ่น ไม่มีกฎหมายห้ามดื่มในที่สาธารณะอย่างชัดเจน แต่มีวัฒนธรรมที่ไม่สนับสนุนการดื่มในที่สาธารณะนอกจากในงานเทศกาลหรือพื้นที่ที่กำหนด อย่างย่านชิบุยะ ย่านท่องเที่ยวยอดนิยมในโตเกียวกำลังเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมพฤติกรรมที่ไม่ดี ด้วยการดื่มแอลกอฮอล์ในบ้าน มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2023 ซึ่งห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนถนนหรือสถานที่สาธารณะในชิบุยะตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึง 05.00 น. ของทุกวัน โดยอายุการดื่มที่ถูกกฎหมายในญี่ปุ่นอยู่ที่ 20 ปีขึ้นไป (ข่าว CNN)

การห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะของประเทศไทย เป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบทางสังคมและสุขภาพจากการดื่มแอลกอฮอล์ แม้จะมีข้อโต้แย้งเรื่องการจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคล แต่ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในด้านความปลอดภัยและความสงบสุขของสังคม เป็นสิ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตามความสำเร็จของมาตรการนี้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ภาคเอกชนในการปรับตัวและส่งเสริมการดื่มอย่างรับผิดชอบ และประชาชนในการตระหนักถึงผลกระทบของการดื่มแอลกอฮอล์ต่อสังคมโดยรวม นอกจากกฎหมายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ยังมีกฎหมายและระเบียบอื่นๆ ที่ควบคุมการใช้พื้นที่สาธารณะ ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับการสูบบุหรี่, ฎหมายเกี่ยวกับความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย, กฎหมายจราจร, กฎหมายควบคุมอาคาร, กฎหมายควบคุมการประกอบกิจการ, กฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ, กฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางเพศ, ข้อกำหนดเกี่ยวกับเวลาและการใช้เสียง, กฎหมายเกี่ยวกับการจำหน่ายอาหาร, พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยมักขึ้นอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งอาจมีข้อบัญญัติท้องถิ่นเพิ่มเติมเพื่อควบคุมการใช้พื้นที่สาธารณะให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่


ข้อมูลอ้างอิง

  • กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2564). สถิติอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประจำปี 2564. นนทบุรี: กรมควบคุมโรค.
  • กรมสรรพสามิต. (2564). หลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์. กรุงเทพฯ: กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง.
  • กำธร กุลชล. (2563). พื้นที่สาธารณะกับคุณภาพชีวิตในเมือง. วารสารสถาปัตยกรรมศาสตร์, 25(1), 18-27.
  • การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2564). ผลกระทบของมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการท่องเที่ยว. กรุงเทพฯ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.
  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (2564). การเปรียบเทียบนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยและต่างประเทศ. วารสารกฎหมายสุขภาพและสาธารณสุข, 7(3), 589-602.
  • นพดล กรรณิกา. (2565). รายงานผลการศึกษาทัศนคติของประชาชนต่อมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ.
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2562). พื้นที่สาธารณะในสังคมประชาธิปไตย. วารสารสังคมศาสตร์, 42(2), 25-40.
  • บัณฑิต ศรไพศาล. (2565). มาตรการควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์: หลักฐานและผลลัพธ์. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
  • ประเวศ วะสี. (2563). แอลกอฮอล์กับความท้าทายของสังคมไทย. ใน เอกสารประกอบการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 11 (น. 5-12). กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
  • ปาริชาติ วลัยเสถียร. (2561). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์. วารสารพัฒนาสังคม, 20(1), 105-123.
  • พิชญา พรรคทองสุข และคณะ. (2563). ความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับการเกิดความรุนแรงในที่สาธารณะ. วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 46(2), 168-185.
  • ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา. (2564). ผลสำรวจพฤติกรรมการดื่มของประชาชนที่เปลี่ยนไปหลังมีมาตรการห้ามดื่มในพื้นที่สาธารณะ. นนทบุรี: ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
  • ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา. (2565). รายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย ประจำปี 2564. นนทบุรี: ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา.
  • ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน. (2564). สรุปรายงานอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ พ.ศ. 2564. กรุงเทพฯ: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย.
  • สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. (2563). การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนไทย. นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.
  • สมศักดิ์ ศรีสันติสุข. (2563). นโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย: พัฒนาการและความท้าทาย. วารสารวิชาการสาธารณสุข, 29(4), 762-773.
  • สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะสมุย. (2564). รายงานผลกระทบของมาตรการห้ามดื่มแอลกอฮอล์บนชายหาดต่อธุรกิจท่องเที่ยวเกาะสมุย. สุราษฎร์ธานี: สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะสมุย.
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2564). คู่มือการรณรงค์ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.
  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ. (2564). สถิติคดีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประจำปี 2564. กรุงเทพฯ: สำนักงานตำรวจแห่งชาติ.
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2564). การสำรวจการรับรู้และทัศนคติต่อมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ.
  • อรรถสิทธิ์ พานแก้ว. (2564). การใช้พื้นที่สาธารณะในบริบทสังคมเมืองไทย. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • บรรณานุกรม
  • Cable News Network (CNN). (n.d.). Shibuya city, Tokyo public drinking ban. สืบค้นจาก https://edition.cnn.com/travel/shibuya-city-tokyo-public-drinking-ban-intl-hnk/index.html
  • German National Tourist Board. (2565). Alcohol regulations in German public spaces. สืบค้นจาก https://www.germany.travel/en/practical-information/safety-guidelines.html
  • Japan National Tourism Organization. (2565). Public drinking rules in Japan. สืบค้นจาก https://www.japan.travel/en/guide/drinking-culture
  • Korea Tourism Organization. (2564). Travel regulations in South Korea. สืบค้นจาก https://english.visitkorea.or.kr/enu/TRV/TV_ENG_1_1.jsp
  • Singapore Police Force. (2564). Singapore Liquor Control (Supply and Consumption) Act: Implementation and Impact. Singapore: Ministry of Home Affairs.
  • U.S. Department of Justice. (2564). Open Container Laws and Public Drinking Regulations. Washington, DC: U.S. Department of Justice.
  • UK Home Office. (2564). Designated Public Place Orders: Guidance for local authorities. London: UK Government Publishing.
  • Urban Design & Development Center. (2564). พื้นที่สาธารณะกับการออกแบบเมืองยุคใหม่. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล และ Data Journalism