“ฮีทสโตรก” อากาศร้อนจัด ปวดหัวแทบระเบิด

เมื่อสถานการณ์อากาศในประเทศไทย กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนลื่อง โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมที่หลายพื้นที่ร้อนจัด อุณหภูมิทะลุ 40-43 องศาเซลเซียส และมีการทำลายสถิติใหม่ในหลายจังหวัด ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ความร้อนที่สูงผิดปกตินี้ได้ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเผยให้เห็นว่าจำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะโรคลมแดด หรือที่เรียกว่า ฮีทสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่รุนแรงและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยาระบุว่า ในปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยโรคลมแดดต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่า 2,500 คน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ถึง 60 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก รวมถึงคนที่ทำงานกลางแจ้งในสภาพอากาศร้อนจัด

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับคลื่นความร้อน (Heat Wave) ที่ยาวนานขึ้นและรุนแรงกว่าเดิม ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดดมากขึ้น เมื่อร่างกายของเราต้องอยู่ในสภาพอากาศร้อนจัดและความชื้นสูงเป็นเวลานาน ระบบระบายความร้อนตามธรรมชาติของร่างกายจะทำงานหนักและอาจล้มเหลว ส่งผลให้อุณหภูมิภายในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นำไปสู่ภาวะอันตรายได้

โรคลมแดด
หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke)

ฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด เป็นภาวะอันตรายที่ร่างกายสูญเสียความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิ เมื่อเผชิญกับอากาศร้อนจัดต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายล้มเหลว อาจหมดสติ ชัก หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคลมแดดหรือฮีทสโตรกสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ซึ่งมีสาเหตุและกลุ่มเสี่ยงที่แตกต่างกัน คือ

1. โรคลมแดดจากการออกกำลังกาย (Exertional Heat Stroke) โรคลมแดดประเภทนี้เกิดขึ้นเมื่อร่างกายผลิตความร้อนในปริมาณมากจากการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อระหว่างการออกกำลังกายหรือทำงานหนักในสภาพอากาศร้อน ความร้อนที่เกิดขึ้นภายในร่างกายสะสมจนเกินความสามารถในการระบายออก ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง กลุ่มเสี่ยงประเภทที่ 1 ได้แก่ นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนัก โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อนจัด, ทหารที่ฝึกในสภาพอากาศร้อน, ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น คนงานก่อสร้าง เกษตรกร, บุคคลที่ไม่คุ้นเคยกับการออกกำลังกายในอากาศร้อน และกลุ่มผู้ที่ขาดการปรับตัวกับสภาพอากาศร้อน (Heat Acclimatization)

2. โรคลมแดดแบบคลาสสิก (Non Exceptional or Classic Heat Stroke) โรคลมแดดประเภทนี้เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนจากสภาพแวดล้อมภายนอกเป็นเวลานาน โดยไม่จำเป็นต้องมีการออกแรงหรือออกกำลังกาย มักเกิดขึ้นในช่วงที่มีอากาศร้อนจัดหรือคลื่นความร้อน (Heat Wave) ซึ่งมีทั้งอุณหภูมิและความชื้นสูง ทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลุ่มเสี่ยงประเภทที่ 2 ได้แก่ ผู้สูงอายุ (โดยเฉพาะอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป), ทารกและเด็กเล็ก, ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต, ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตหรือใช้ยาที่มีผลต่อการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย, ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศในช่วงที่อากาศร้อนจัด, บุคคลที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด

โดยความแตกต่างระหว่างโรคลมแดดทั้งสองประเภท คือ ในกรณีของโรคลมแดดจากการออกกำลังกาย ผู้ป่วยมักมีอาการเหงื่อออกมาก เนื่องจากระบบการหลั่งเหงื่อยังทำงานได้ ในขณะที่ผู้ป่วยโรคลมแดดแบบคลาสสิกมักมีผิวหนังแห้งและร้อน เนื่องจากกลไกการหลั่งเหงื่อล้มเหลว  อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเภทเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคลมแดด (Heat Stroke)

โรคลมแดด เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับปกติได้ เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส กลไกการระบายความร้อนของร่างกายล้มเหลว ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์และระบบอวัยวะต่างๆ สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคลมแดดมีดังนี้:

1. ความล้มเหลวของกลไกระบายความร้อนในร่างกาย ร่างกายมนุษย์มีกลไกหลักในการระบายความร้อนคือการหลั่งเหงื่อและการขยายตัวของหลอดเลือดที่ผิวหนัง เมื่อกลไกเหล่านี้ทำงานไม่ได้หรือทำงานได้ไม่เพียงพอ ความร้อนจะสะสมในร่างกายจนเกิดภาวะอุณหภูมิสูงเกิน  ปัจจัยที่ทำให้กลไกนี้ล้มเหลว ได้แก่ สภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง ทำให้เหงื่อระเหยได้ช้า ขาดน้ำ ดื่มน้ำน้อยหรือขาดเกลือแร่ในร่างกาย (Dehydration) ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการหลั่งเหงื่อ การได้รับความร้อนจากภายนอกมากเกินไป

2. การผลิตความร้อนภายในร่างกายมากเกินไป การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานสูงทำให้ร่างกายผลิตความร้อนปริมาณมาก โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อน หากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทันกับที่ผลิตขึ้น จะนำไปสู่ภาวะอุณหภูมิสูงเกิน

3. การแผ่รังสีความร้อนจากสิ่งแวดล้อม การได้รับรังสีความร้อนโดยตรงจากดวงอาทิตย์หรือแหล่งความร้อนอื่นๆ ทำให้ร่างกายร้อนขึ้นและต้องทำงานหนักเพื่อระบายความร้อน  การอยู่ในพื้นที่ที่มีการถ่ายเทอากาศไม่ดี เช่น รถยนต์ที่จอดกลางแดด ห้องที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ หรือสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น ทำให้ร่างกายได้รับความร้อนสะสมจนเกิดภาวะอันตรายได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคลมแดด

ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคลมแดดมีหลายประการ ทั้งปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และปัจจัยด้านพฤติกรรม โดยปัจจัยเสี่ยงที่พบนั้นมีหลายปัจจัย ดังนี้

  1. ปัจจัยด้านอายุและร่างกาย ได้แก่ ช่วงอายุที่มีความเสี่ยงสูง ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรับรู้ความร้อนและระบายความร้อนลดลง กลุ่มทารกและเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปี ระบบควบคุมอุณหภูมิในร่างกายยังพัฒนาไม่เต็มที่
  2. ปัจจัยเสี่ยงทางภาวะทางสุขภาพ ได้แก้ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน (ไขมันช่วยเก็บความร้อน และเพิ่มการผลิตความร้อนในร่างกาย) โรคไต โรคระบบประสาทส่วนกลาง
  3. ปัจจัยเสี่ยงจากประวัติเคยเจ็บป่วยจากสภาพอากาศร้อน ได้แก่ ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคลมแดดมีโอกาสเกิดซ้ำได้สูง
  4. ปัจจัยด้านการใช้ยาที่มีผลต่อการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย เช่น ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ยาลดความดันโลหิต (Antihypertensives) บางชนิด ยารักษาโรคจิตเวช (Antipsychotics) ที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ยากลุ่ม Anticholinergics ที่ลดการหลั่งเหงื่อ ยากระตุ้นระบบประสาท เช่น แอมเฟตามีน โคเคน เอ็กซ์ตาซี
  5. ปัจจัยเสี่ยงจากการใช้สารเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและรบกวนการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย และสารเสพติดบางชนิดเพิ่มการเผาผลาญและการผลิตความร้อนในร่างกาย
  6. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรม สภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียส หรือมีความชื้นสัมพัทธ์สูงเกิน 60% การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว จากอากาศร้อนจัดลดฮวบอากาศเย็น รวมถึงการเกิดคลื่นความร้อน (Heat wave) ที่ยาวนาน
  7. ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากกิจกรรมทางกาย ได้แก่ การออกกำลังกายอย่างหนักในที่ร้อน การทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน การขาดการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศร้อน (Heat acclimatization)
  8. ปัจจัยเสี่ยงจากเครื่องแต่งกาย เช่น เสื้อผ้าหนา ไม่ระบายอากาศ เสื้อผ้าสีเข้มที่ดูดซับความร้อน ชุดกีฬาหรือชุดป้องกันที่จำกัดการระบายความร้อน
  9. ปัจจัยเสี่ยงจากสภาพที่อยู่อาศัย โดยพื้นที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองร้อน หรือสถานที่พักที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมที่มีการระบายอากาศ

อาการโรคลมแดด

อาการที่เป็นลักษณะเด่นของโรคลมแดด คือ อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอาการหลักที่ใช้วินิจฉัยโรค ร่วมกับความผิดปกติของผิวหนังที่จะแดง ร้อน และมีความแตกต่างกันตามประเภทของโรคลมแดด ในโรคลมแดดแบบคลาสสิกมักพบว่าผิวแห้ง ไม่มีเหงื่อ ส่วนในโรคลมแดดจากการออกกำลังกาย ผิวอาจยังชื้นจากเหงื่อแต่ยังรู้สึกร้อนและแดง

นอกจากนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการทางระบบประสาทที่ชัดเจน เช่น สับสน ไม่รู้เวลา สถานที่ หรือบุคคล พูดไม่ชัด หรือพูดไม่รู้เรื่อง ปวดศีรษะรุนแรง และอาจแสดงพฤติกรรมผิดปกติ ก้าวร้าว เกรี้ยวกราด หรือมีประสาทหลอน ในกรณีที่รุนแรงอาจพบอาการชักหรือหมดสติ

ระบบหัวใจและการหายใจจะมีความผิดปกติร่วมด้วย โดยชีพจรจะเต้นเร็วและแรงกว่าปกติมาก (ประมาณ 130-150 ครั้งต่อนาที) มีการหายใจเร็ว (มากกว่า 20 ครั้งต่อนาที) และในระยะรุนแรงความดันโลหิตอาจลดต่ำลงจนเกิดภาวะช็อก ระบบทางเดินอาหารจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง

อาการเตือนในระยะเริ่มต้น ก่อนที่จะพัฒนาเป็นโรคลมแดดเต็มรูปแบบ ผู้ป่วยมักมีอาการของภาวะเครียดจากความร้อนหรือภาวะอ่อนเพลียจากความร้อน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญ เช่น วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เหนื่อยล้าผิดปกติ มีอาการปวดศีรษะไม่รุนแรง กล้ามเนื้อกระตุกหรือเป็นตะคริว รู้สึกคลื่นไส้หรืออาเจียนเล็กน้อย และมักมีเหงื่อออกมากกว่าปกติ

ความแตกต่างของอาการระหว่างโรคลมแดดสองประเภท โดยโรคลมแดดจากการออกกำลังกาย มักเกิดในคนหนุ่มสาวที่มีร่างกายแข็งแรง ขณะหรือหลังออกกำลังกายหนักในที่ร้อน ผิวหนังอาจยังมีเหงื่อออก และเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว นอกจากนี้มักพบอาการของการสลายของกล้ามเนื้อลาย สังเกตได้จากปัสสาวะมีสีเข้มคล้ายน้ำชา ส่วนโรคลมแดดแบบคลาสสิกมักพบในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ลักษณะเด่น คือ ผิวหนังจะแห้ง ไม่มีเหงื่อ โรคมักเกิดขึ้นช้ากว่า หลังจากที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนต่อเนื่องหลายวัน และมักมีอาการทางระบบประสาทที่ชัดเจน

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยโรคลมแดด

โรคลมแดดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องการการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและถูกต้อง การปฐมพยาบาลที่เหมาะสมในช่วงแรกสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ  การดำเนินการปฐมพยาบาลควรทำทันทีที่สงสัยว่าผู้ป่วยกำลังมีภาวะลมแดด โดยไม่ต้องรอการยืนยันจากบุคลากรทางการแพทย์

ขั้นตอนการปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมแดด

1. โทรเรียกความช่วยเหลือทางการแพทย์ทันที เมื่อพบผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคลมแดด ควรโทรเรียกบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (1669) โดยทันที หรือนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วที่สุด การรักษาที่ล่าช้าอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหรือเสียชีวิตได้

2. เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากแหล่งความร้อน นำผู้ป่วยไปยังบริเวณที่ร่มเย็น มีอากาศถ่ายเทสะดวก หรือที่มีเครื่องปรับอากาศ เพื่อลดการได้รับความร้อนจากสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม หากอยู่กลางแจ้ง ให้ย้ายผู้ป่วยไปยังบริเวณที่มีร่มเงา

3. ถอดหรือคลายเสื้อผ้า ถอดเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นออกให้มากที่สุดเท่าที่เหมาะสม โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่หนา รัดแน่น หรือมีความหนาแน่นสูง เพื่อเพิ่มการระบายความร้อนออกจากผิวหนัง

4. ลดอุณหภูมิร่างกาย การลดอุณหภูมิร่างกายอย่างรวดเร็วเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมแดด โดยวิธีที่แนะนำมีดังนี้ การใช้น้ำเย็น: ใช้น้ำเย็น (ไม่ใช่น้ำเย็นจัด) ราดตัวผู้ป่วย หรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ ลำคอ รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก และท้ายทอย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดใหญ่อยู่ตื้นใต้ผิวหนัง, การใช้พัดลมหรือพัด: พัดหรือเป่าลมไปที่ผู้ป่วยขณะที่ตัวเปียกชื้น เพื่อเพิ่มการระเหยของน้ำ ซึ่งจะช่วยระบายความร้อนได้มากขึ้น, การประคบด้วยน้ำแข็ง: วางถุงน้ำแข็งหรือแผ่นเจลเย็นที่บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ และศีรษะ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดสำคัญอยู่ตื้น, การแช่ตัวในน้ำเย็น: หากสามารถทำได้และผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี การแช่ตัวในน้ำเย็น (10-15 องศาเซลเซียส) เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการลดอุณหภูมิร่างกายอย่างรวดเร็ว แต่ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการจมน้ำ

5. ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ กรณีที่ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดีเท่านั้น สามารถดื่มน้ำได้โดยไม่เสี่ยงต่อการสำลัก ควรให้ดื่มน้ำเย็น (ไม่ใช่น้ำเย็นจัด) หรือเครื่องดื่มเกลือแร่เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ไม่ควรให้เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์

6. ติดตามสัญญาณชีพ หากผู้ให้การปฐมพยาบาลมีความรู้และความสามารถเพียงพอ ควรติดตามสัญญาณชีพของผู้ป่วย ได้แก่ อุณหภูมิร่างกาย ชีพจร การหายใจ และระดับความรู้สึกตัว ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทุก 10 นาที (ถ้าทำได้) สังเกตลักษณะการหายใจ อัตราการหายใจ ตรวจจับชีพจรที่ข้อมือหรือคอ และประเมินระดับความรู้สึกตัวโดยการพูดคุย หรือกระตุ้นผู้ป่วย

7. จัดให้นอนในท่าที่เหมาะสม การจัดให้ผู้ป่วยนอนในท่าที่ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชัก หมดสติ หรือคลื่นไส้อาเจียน ควรจัดให้นอนตะแคงซ้าย ศีรษะเอียงลง เพื่อป้องกันการสำลักในกรณีที่มีการอาเจียน

ข้อควรระวังในการปฐมพยาบาล

  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็งโดยตรง: การลดอุณหภูมิร่างกายอย่างรวดเร็วเกินไปอาจทำให้เกิดอาการหนาวสั่น ซึ่งจะเพิ่มอุณหภูมิร่างกาย ควรใช้น้ำเย็น (ไม่ใช่น้ำเย็นจัด) ในการเช็ดตัวหรือราดตัว
  • ไม่ควรให้ยาลดไข้: ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล หรือ แอสไพริน ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะอุณหภูมิสูงจากโรคลมแดด และอาจเป็นอันตรายต่อตับหรือไตที่กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะลมแดด
  • ไม่ควรบังคับให้ดื่มน้ำ: หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวหรือมีระดับความรู้สึกตัวลดลง ไม่ควรพยายามให้ดื่มน้ำหรืออาหารเพื่อป้องกันการสำลัก
  • ไม่ควรขัดขวางการชัก: หากผู้ป่วยมีอาการชัก ไม่ควรพยายามยัดสิ่งของเข้าปาก หรือจับยึดผู้ป่วยไว้ ควรเพียงจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย และจัดให้นอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก

เมื่อใดควรนำส่งโรงพยาบาล

ควรนำส่งโรงพยาบาลทันทีในทุกกรณีที่สงสัยว่าเป็นโรคลมแดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพบสัญญาณต่อไปนี้:

  • อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 39 องศาเซลเซียส
  • ความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น สับสน พูดไม่ชัด หรือซึม
  • อาการชัก
  • หมดสติ
  • หายใจลำบาก
  • ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติหรือเต้นไม่สม่ำเสมอ
  • ไม่ตอบสนองต่อการปฐมพยาบาลเบื้องต้นภายใน 30 นาที

การปฐมพยาบาลที่ถูกต้องและรวดเร็ว เป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อการรักษาอาการจากโรคลมแดด โดยเฉพาะในประเทศไทยนั้น จึงควรมีความรู้พื้นฐานในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมแดดเบื้องต้น ก่อนที่จะได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์เป็นลำดับต่อไป


ข้อมูลอ้างอิง

  • World Health Organization. (2023). Guidelines on Health in Climate Emergencies: Heat-related Illnesses. Retrieved from https://www.who.int/publications
  • American Red Cross. (2023). First Aid for Heat Stroke. Retrieved from https://www.redcross.org/take-a-class/first-aid
  • สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย. (2023). แนวทางเวชปฏิบัติภาวะฉุกเฉินจากความร้อน (Heat-Related Emergency Clinical Practice Guidelines). กรุงเทพฯ.
  • Centers for Disease Control and Prevention. (2023). Warning Signs and Symptoms of Heat-Related Illness. Retrieved from https://www.cdc.gov/disasters/extremeheat/warning.html
  • Casa, D.J., DeMartini, J.K., Bergeron, M.F., et al. (2023). National Athletic Trainers’ Association Position Statement: Exertional Heat Illnesses. Journal of Athletic Training, 50(9), 986-1000.
  • สภากาชาดไทย. (2023). คู่มือปฐมพยาบาลเบื้องต้น: โรคลมแดด. กรุงเทพฯ.
  • American College of Sports Medicine. (2023). Exertional Heat Illness during Training and Competition. Medicine & Science in Sports & Exercise, 55(9), 1787-1799.
  • กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. (2024). แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคลมแดดสำหรับประชาชน. นนทบุรี.
  • Smith, J.E. (2023). Cooling methods for heatstroke victims. American Journal of Emergency Medicine, 41(2), 193-196.
  • มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย. (2023). การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับภาวะฉุกเฉินทั่วไป. กรุงเทพฯ.
  • ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย. (2024). แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคลมแดด (Heat Stroke) ฉบับปรับปรุง. วารสารอายุรศาสตร์, 40(2), 89-103.
  • Australian Resuscitation Council. (2023). Guideline 9.3.4 – Heat Induced Illness (Hyperthermia). Retrieved from https://resus.org.au/guidelines
  • กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2024). คู่มือการเฝ้าระวังและป้องกันโรคจากความร้อน. นนทบุรี.
  • Mayo Clinic. (2023). Heatstroke First Aid. Retrieved from https://www.mayoclinic.org/first-aid/first-aid-heatstroke/basics/art-20056655
  • สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ. (2023). แนวทางปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับโรคลมแดด. กรุงเทพฯ.
  • European Resuscitation Council. (2023). European Resuscitation Council Guidelines for Resuscitation: Special Circumstances. Resuscitation, 161, 152-219.
  • สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร. (2024). คู่มือการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับประชาชน. กรุงเทพฯ.
  • World Health Organization. (2023). Heat and Health: Key Facts. Retrieved from https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/climate-change-heat-and-health
  • Epstein, Y., & Yanovich, R. (2022). Heatstroke. New England Journal of Medicine, 380(25), 2449-2459.
  • Walter, E. J., & Carraretto, M. (2023). The neurological and cognitive consequences of hyperthermia. Clinical Medicine, 16(6), 537-543.
  • สถาบันประสาทวิทยา. (2023). ผลกระทบของอุณหภูมิสูงต่อระบบประสาทและสมอง. กรมการแพทย์, กรุงเทพฯ.
  • สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์. (2023). แนวทางการดูแลระบบหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคลมแดด. กรุงเทพฯ.
  • สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย. (2024). ผลกระทบของภาวะความร้อนสูงต่อระบบทางเดินหายใจ. กรุงเทพฯ.
  • Hifumi, T., Kondo, Y., Shimizu, K., & Miyake, Y. (2023). Heat stroke. Journal of Intensive Care, 6, 30.
  • สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย. (2023). ผลกระทบของความร้อนต่อระบบทางเดินอาหาร. กรุงเทพฯ.
  • Shapiro, Y., & Seidman, D. S. (2023). Field and clinical observations of exertional heat stroke patients. Medicine & Science in Sports & Exercise, 22(1), 6-14.
  • วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย. (2024). การพยาบาลผู้ป่วยโรคลมแดดและภาวะแทรกซ้อน. กรุงเทพฯ.
  • Leon, L. R., & Bouchama, A. (2023). Heat stroke. Comprehensive Physiology, 5(2), 611-647.
  • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2023). รายงานสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
  • กรมอุตุนิยมวิทยา. (2024). ผลกระทบของคลื่นความร้อนต่อสุขภาพประชาชน. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กรุงเทพฯ.
  • กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2023). คำแนะนำการแต่งกายในช่วงหน้าร้อน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากความร้อน. นนทบุรี.
  • กระทรวงพลังงาน. (2024). คู่มือการลดปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมืองในประเทศไทย. กรุงเทพฯ.
  • Kenny, G. P., Wilson, T. E., Flouris, A. D., & Fujii, N. (2023). Heat exhaustion. Handbook of Clinical Neurology, 157, 505-529.
  • กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. (2023). แนวทางการดูแลผู้สูงอายุในภาวะอากาศร้อนจัด. นนทบุรี.
  • สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. (2024). คำแนะนำการดูแลเด็กในช่วงอากาศร้อนจัด. กรุงเทพฯ.
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. (2023). คำเตือนเกี่ยวกับการใช้ยาในช่วงฤดูร้อน. กระทรวงสาธารณสุข, นนทบุรี.
  • สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี. (2023). ความเสี่ยงทางสุขภาพของผู้ใช้สารเสพติดในภาวะอากาศร้อนจัด. กรมการแพทย์, กระทรวงสาธารณสุข.
  • กรมอุตุนิยมวิทยา. (2024). รายงานสภาวะอากาศประเทศไทย 2019-2024. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม.
  • กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข. (2024). รายงานการเฝ้าระวังโรคจากความร้อน ประจำปี 2023-2024. นนทบุรี: กองระบาดวิทยา.
  • สำนักระบาดวิทยา. (2024). สถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่เกิดจากความร้อน ประเทศไทย. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำปี, 55(12), 177-185.

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล และ Data Journalism