ภาพและเรื่องโดย : ศุภกิตติ์ คุณา
“แม่ครู” ในภาคเหนือของไทย แม่ครูมีบทบาทสำคัญในด้านการศึกษาและวัฒนธรรม โดยเฉพาะในชุมชนที่มีการสืบทอดประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นของพื้นที่นั้น ๆ แม่ครูมักจะเป็นผู้หญิงที่มีความรู้และประสบการณ์ในการสอนเด็ก ๆ รวมถึงการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การทำอาหารพื้นบ้าน การทอผ้า และการเล่าเรื่องพื้นบ้าน ในขณะเดียวกันผู้ชายที่มีบทบาทสำคัญในการสืบสานภูมิปัญญาก็จะเรียกว่า “ป้อครู” หรือ พ่อครู
นอกจากนี้แม่ครูยังมีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้แบบองค์รวม โดยเน้นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กและเยาวชน ซึ่งช่วยให้เด็กมีความเข้าใจในตัวตนและวัฒนธรรมของตนเองได้ดีขึ้น ในปัจจุบันแม่ครูยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การจัดกิจกรรมศิลปะ การทำงานกลุ่ม และการเรียนรู้จากธรรมชาติ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้พัฒนาทักษะต่าง ๆ อย่างเต็มที่
ในจังหวัดเชียงใหม่ มีครูภูมิปัญญาหลายท่านที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในชุมชน เช่น ครูที่สอนการแสดงในแขนงต่าง ๆ หรือครูสอนวิชาชีพท้องถิ่นรวมถึงหัตถกรรม ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาอาชีพให้กับชุมชน แต่ยังช่วยสร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย
จากรากเหง้าสู่แม่ครูช่างฟ้อน
แม่ครูจิดาภา นามศรีแก้ว หรือที่รู้จักชื่อว่า “แม่ครูเอ” โดยครูเอได้รับคัดเลือกเป็นแม่ครูเครือข่ายครูภูมิปัญญาจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันแม่ครูเปิดศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาฟ้อนเมืองบ้านครูเอจิดาภา ตั้งอยู่หมู่ 5 ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โดยอุทิศตนให้กับการอนุรักษ์และสืบสานศิลปะการฟ้อนล้านนามาตลอดช่วงชีวิต
ครูเอเติบโตมาในครอบครัวที่เปี่ยมด้วยศิลปวัฒนธรรมล้านนา โดยปู่เป็นสล่าเจิง (เชิง) และสล่ากลอง ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีพื้นบ้านล้านนา ส่วนย่าเป็นผู้ชำนาญด้านหัตถกรรม ประเพณี และพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะการทำเครื่องสักการะ 5 ประการและอาหารมงคลในงานบุญต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของชาวล้านนาที่ผูกพันกับวัด โดยเฉพาะวัดศรีสว่างบ้านกวน ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้าน
ครูเอเล่าว่า บ้านของครูเอตั้งอยู่ห่างจากวัด ไม่ไกลมากนัก ประมาณ 200 เมตร ทำให้ได้ซึมซับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมล้านนาตั้งแต่สมัยเด็ก เริ่มจากการติดตามปู่และย่าไปช่วยงานที่วัด จนได้รู้จักกับแม่ครูฟ้อนของวัด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “แม่ครูเก๊า” ในสมัยนั้น โดยแม่ครูเก๊า ทางภาคเหนือ คือ แม่ครูที่มีความอาวุโส มีรากเหง้าที่เป็นต้นฉบับดั้งเดิม ในทางภาคเหนือโดยเฉพาะที่หมู่บ้านครูเอมีธรรมเนียมคือ ผู้หญิงจะไม่ให้จับกลอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่ตีกลอง ส่วนผู้หญิงจะได้รับการถ่ายทอดศิลปะการฟ้อนเมือง ฟ้อนเล็บ และฟ้อนเทียนแทน ซึ่งถือเป็นการแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างชายหญิงในวัฒนธรรมล้านนา
ทำให้ครูเอได้รับการสืบทอดศิลปะการฟ้อนที่วัดศรีสว่างมีประวัติอันยาวนาน โดยเริ่มจาก “แม่ครูเก๊า” ผู้เป็นต้นแบบของช่างฟ้อนวัด แม่ครูท่านนี้มีความโดดเด่น ตั้งแต่สมัยเรียนได้รับทุนให้ไปศึกษาที่โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้น หลังจากสำเร็จการศึกษา ท่านก็ได้นำความรู้ด้านการฟ้อนกลับมาถ่ายทอดให้ชุมชน สร้างสายการสืบทอดที่เข้มแข็งจากรุ่นสู่รุ่น
การสืบสานการฟ้อน เปลี่ยนผ่านมายังแม่ครูรุ่นที่ 2 คือแม่ครูสมบัติ ซึ่งเป็นน้องสาวของแม่ครูเก๊าที่กล่าวถึงข้างต้น ตามมาด้วยพ่อครูสุทินในรุ่นที่ 3 และแม่ครูพับพลึงกับแม่ครูน้องในรุ่นที่ 4 จนมาถึงครูเอซึ่งนับเป็นแม่ครูรุ่นที่ 5-6 ในปัจจุบัน การสืบสานสืบทอดการฟ้อนเล็บนี้ ไม่ได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่อาศัยการบอกเล่าและการถ่ายทอดโดยตรงจากครูสู่ศิษย์
ช่างฟ้อนหัววัด
การที่ครอบครัวอยู่กับวิถีเหล่านี้ จึงได้ซึมซับวัฒนธรรมกับคนในครอบครัวและการไปฟ้อนเล็บตามงานบุญกับหัววัด เช่น งานปอยหลวง ภาคกลางเรียกว่างานสมโภชน์ศาสนสถาน หรืองานประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวัด
ช่างฟ้อนหัววัด หรือช่างฟ้อนเล็บพื้นเมือง ถือเป็นการแสดงศิลปะพื้นบ้านในภาคเหนือที่มีความสำคัญในวัฒนธรรมล้านนา โดยเฉพาะในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและงานประเพณีต่าง ๆ ฟ้อนเล็บมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ฟ้อนแห่ครัวทาน” ซึ่งเป็นการฟ้อนนำขบวนแห่ของชาวบ้านนำเข้าวัด เพื่อทำบุญในงานปอยหลวงหรืองานเฉลิมฉลองการบูรณะวัด โดยสมัยก่อนการฟ้อนเล็บจะมีเฉพาะการไปปอยหลวงเท่านั้น และจะฟ้อนแต่ละรอบร่วมชั่วโมง เพราะฉะนั้นการไปปอยหลวงจะมีช่างฟ้อนไปร่วมขบวนด้วย กับคณะศรัทธาของวัด จึงเรียกว่า ช่างฟ้อนหัววัด ทำให้ครูเอซึมซับกับการเป็นช่างฟ้อนหัววัดมาแต่เนิ่นนาน
ในปัจจุบันการฟ้อนหัววัด หรือการฟ้อนเล็บพื้นเมืองล้านนา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แบ่งออกเป็นหลายประเภทแตกต่างกันไป โดยเฉพาะการฟ้อนเล็บที่มีการสืบทอดตามแม่ครูแต่ละที่ หรือมาจากการสอนในสถาบันการศึกษาบ้าง ทำให้การฟ้อนมี 3 แบบ คือ 1.แบบราชสำนัก 7 ก้าว ที่ถ่ายทอดโดยวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ 2.แบบพื้นบ้านหรือแบบหัววัด 7 ก้าว จังหวะเท้าจะมีความแตกต่างในจังหวะที่ 6 (แบบที่แม่ครูเอได้ฝึกสอนในปัจจุบัน) และ 3. แบบฟ้อน 5 ก้าวของจังหวัดเชียงราย
การฟ้อนเล็บมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการใช้เล็บสีทอง สวม 8 นิ้ว ข้างละ 4 นิ้ว โดยยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ เล็บสีทองนี้จะสะท้อนแสงระยิบระยับขณะฟ้อน สร้างความงดงามตระการตา ส่วนการฟ้อนเทียนใช้ท่าฟ้อนเดียวกับฟ้อนเล็บ แต่เปลี่ยนจากการใส่เล็บมาเป็นการถือเทียน ซึ่งในอดีตมักใช้แสดงในงานสำคัญหรือในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง การฟ้อนงานขันโตก
การฟ้อนล้านนาต้องอาศัยเครื่องดนตรีประกอบที่สำคัญ ได้แก่ กลองแอว ฉาบ และตะหลดปด โดยในอดีตหากวัดใดมีศักยภาพมากก็อาจมีกลองสองใบ คือกลองใหญ่และกลองเล็ก รวมถึงปี่แนซึ่งเพิ่มเข้ามาในภายหลัง ผู้ฟ้อนต้องฟังจังหวะเสียงฉาบเป็นจังหวะท่าย่อในการเคลื่อนไหวตามจังหวะ
ปัจจุบันการฟ้อนยังใช้ในการพิธีฟ้อนเพื่อเป็นพุทธบูชาในพุทธศาสนาต่าง ๆ เช่น การฟ้อนในงานสวดมนต์ข้ามปี การฟ้อนในกิจกรรมของเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่
เอกลักษณ์ของช่างฟ้อนภาคเหนือ
การฟ้อนเล็บทางภาคเหนือจะแตกต่างกับการฟ้อนรำหรือฟ้อนในภูมิภาคอื่นๆ เอกลักษณ์ของการฟ้อนเล็บฟ้อนเมือง จะมีความอ่อนช้อย มีจังหวะในการเปลี่ยนกระบวนท่าฟ้อนที่ช้า การเดินการย่างของเท้าแบบเจ็ดจังหวะ จะคอยไปแบบเนิบเนิบ ไม่ได้กระโดด หรือเคลื่อนไหวเร็วหรือต้องย่ำเท้าแบบภาคอื่น จึงเปรียบเสมือนว่า ผู้หญิงทางเหนือมีความอ่อนน้อม ถ่อมตน รักษาทางภาพลักษณ์ด้านประเพณีวัฒนธรรม
สำหรับจังหวะ ก็ต้องฟังเสียงกลองตึ่งโนง ส่วนใหญ่จะมองเป็นจังหวะช้า มีความนุ่มละมุนกว่า สำหรับอุปกรณ์หรือเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบจังหวะ จะใช้กลองแอว กลองตะหลดปด ฉาบ และฆ้องซึ่งในสมัยก่อนก็จะมีแค่นี้ ใช้กลองแอว และฉาบ เป็นจังหวะ และกลองตะหลดปดเพื่อนำจังหวะก่อน ในสมัยก่อนนั้น วัดไหนที่ไม่มีเงินมากก็จะใช้ฆ้องแค่ตัวเดียวตีเป็นจังหวะ แต่วัดไหนถ้ามีศักยภาพก็จะใช้ฆ้องใหญ่ละฆ้องเล็ก ในปัจจุบันก็เริ่มมีปี่แน เข้ามาประกอบด้วย ซึ่งปี่แนเป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่าทางภาคเหนือ หรือวัดไหนมีศักยภาพเยอะ ก็จะใช้ปี่แน 2 ตัว คือตัวใหญ่กับตัวเล็ก จะทำให้การบรรเลงมีความไพเราะขึ้น แล้วการฟ้อนกลองตึ่งโนงหรือฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ก็จะต้องฟังในจังหวะเสียงฉาบ ซึ่งเสียงฉาบ และกลองตะหลดปดจะเป็นตัวให้จังหวะในการฟ้อน
ช่างฟ้อนเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่
เข้าร่วมกับเครือข่ายฯ เมื่อปี พ.ศ.2557 สมัยนั้นเปิดเล่นโซลมีเดีย และเห็นประกาศรับสมัครช่างฟ้อน บนเพจเฟสบุ๊ก ของเครือข่ายฯ แต่ว่าบ้านครูเออยู่อำเภอหางดง ครูก็ลองสมัครไป “ตอนนั้นครูไม่ได้บอกใครหรอกว่าเป็นแม่ครู” วันแรกที่เข้าร่วมฝึกซ้อม ก็ไปในฐานะผู้สนใจทั่วไป เพื่อดูว่าช่างฟ้อนในเมืองมีลีลาการฟ้อนเป็นอย่างไร ด้วยความที่ตัวเองเป็นช่างฟ้อนหัววัดอยู่แล้ว ก็อยากเห็นช่างฟ้อนแต่ละหัววัด ซึ่งล้วนมีเอกลักษณ์และเสน่ห์ในการลำดับท่าฟ้อนที่แตกต่างกัน
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในชาวงงานยอสวยไหว้สา พญามังราย ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 12 เมษายนของทุกปี ครูเอได้ไปร่วมงานครั้งแรกและพบว่ามีช่างฟ้อนเพียงไม่ถึง 50 คน ก็รู้สึกประหลาดใจมาก “ทำไมเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ แต่กลับมีช่างฟ้อนมาร่วมงานวันสถาปนาเมืองแค่ 30 กว่าคน”
ด้วยความที่เห็นการเข้าถึงของการฟ้อนล้านนา แม่ครูเอจึงเสนอแนวคิดกับป้าจิ๋ม เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ประธานเครือข่ายชุมชนฯในตอนนั้นว่า อยากนำช่างฟ้อนที่แม่ครูเอได้สอนที่บ้านแม่ครูมาร่วมแสดงด้วย ตอนนั้นก็ขอความอนุเคราะห์รถจากวัดที่ในชุมชนพาช่างฟ้อนมาร่วมงาน
ครูเอเป็นแม่ครูสอนฟ้อนพื้นเมืองอยู่แถวสายใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับโอกาสให้มาสอนช่างฟ้อนในเครือข่ายฯ โดยการสนับสนุนจากมูนิธิเครือข่ายพลังสังคม สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ปัจจุบันมีทั้งผู้ที่มาจากในเมืองและอำเภอรอบนอก จนทำให้ปัจจุบันมีจำนวนช่างฟ้อนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ส่งต่อวัฒนธรรมกับคนรุ่นใหม่
ตั้งแต่เข้าร่วมกับเครือข่ายในปี พ.ศ.2557 ก็มีเด็กหลายคนที่มาเรียนฟ้อน ตั้งแต่ยังเด็กเล็กจนปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาแล้ว หนึ่งในนั้นคือ น้องรดา ไชยวรรณ ที่เริ่มฝึกฟ้อนตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ จนปัจจุบันเรียนอยู่ชั้น ม.5 แม้จะมีภาระการเรียนและกิจกรรมของโรงเรียนมากมาย แต่น้องรดาก็ยังคงมาร่วมฟ้อนในงานสำคัญต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ และมาช่วยสอนเป็นตัวอย่างให้กับน้อง ๆ ซึ่งการซ้อมฟ้อน สอนฟ้อนของเครือข่ายฯ ได้เปิดโอกาสให้กับทุกวัยมีทั้งเด็กอายุ 4 ขวบไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยไม่จำกัดอายุ
วิธีการสอนจะเน้นความเป็นธรรมชาติ ไม่กดดันผู้เรียน โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก จะขอความร่วมมือให้ผู้ปกครองที่ไปส่งไม่เข้าไปแทรกแซงหรือกดดัน โดยปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างมีความสุข และเด็ก ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องฟ้อนได้ทันที เพราะมันยากสำหรับเด็ก ต้องให้เขาเรียนรู้ตามวัย แค่ให้เขาหมุนตัว หันซ้าย หันขวา ยกมือตามจังหวะไปก่อน แม้ว่าการฟ้อนในหนึ่งรอบจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที ซึ่งเด็กอาจไม่ชอบอยู่นิ่งนาน ๆ แต่พอได้สอนไปสักพัก เด็ก ๆ ก็มีการปรับตัว อยู่ได้จนจบการสอนและฟ้อนเป็น
บ่อยครั้งเมื่อก่อนจะถูกถามว่าจบนาฏศิลป์มาหรือไม่ แม่ครูเอก็ตอบตรง ๆ ว่าไม่ได้จบทางด้านนาฏศิลป์ แต่ได้เป็นช่างฟ้อนหัววัด ช่างฟ้อนพื้นเมือง และเติบโตมาในครอบครัวที่เป็นบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ ได้ซึมซับวัฒนธรรมการฟ้อนมาตั้งแต่เด็ก โดยใช้ประสบการณ์และความเข้าใจในศิลปะการฟ้อนจากตรงนี้ มาคิดค้นวิธีการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละวัย
แม่ครูเอ เล่าต่อว่า การสอนฟ้อนพื้นเมืองนั้น ต้องทำให้เขาเห็นคุณค่าของศิลปะพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิดหรือไม่ก็ตาม เมื่อมาอยู่ที่นี่ ต้องเข้าใจว่าศิลปะการฟ้อนพื้นเมือง และแบบล้านนา คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และเป็นเสน่ห์ของเชียงใหม่อย่างไร
“แม่ครู” ในความหมายของแม่ครูเอ สำหรับวัฒนธรรมล้านนานั้น มีซับซ้อนกว่าการเป็นเพียงครูที่สอนฟ้อน แม่ครูต้องเป็นแบบอย่างในทุกด้าน ทั้งการแต่งกาย การวางตัว และการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี แม่ครูต้องเข้าใจและสามารถถ่ายทอดรายละเอียดทุกอย่าง ตั้งแต่การสอนวิธีเกล้าผม การแต่งหน้า วิธีการนุ่งซิ่น การใส่เสื้อ การสวมสไบ ตลอดจนการสวมเครื่องประดับและติดดอกไม้ให้ถูกต้องตามแบบแผน
นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นความเชื่อ แม่ครูยังต้องเข้าใจจารีต เช่น การถอดรองเท้าฟ้อนถือว่าเป็นการเคารพครูบาอาจารย์อย่างหนึ่ง การรักษาท่วงท่าการฟ้อนให้สง่างามตามแบบฉบับชาวล้านนา ที่ต้องเน้นความนุ่มนวล อ่อนช้อย ไม่กระโดดโลดเต้นหรือเคลื่อนไหวรวดเร็วเกินไป
ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญา
ฟ้อนเมืองบ้านครูเอจิดาภา
ด้วยสภาวะโลกเปลี่ยนไป วิถีชีวิตคนเปลี่ยนไป อยู่ในโลกโซเชียลมากขึ้นดิจิตอลมากขึ้น แม่ครูเอมองว่าความเป็นรากเหง้าในแบบดั้งเดิมก็จะสูญหายไป กลายเป็นความร่วมสมัยที่ไม่ได้มีรากเหง้า บางคนก็แต่งกายสวมชุด 5 ภาคอยู่ในคนเดียวกัน เช่น ใช้เครื่องประดับของแต่ละภาคปะปนกันไป สวมสไบของอีกภาค ผ้าซิ่นของอีกภาครวมในชุดเดียวกัน ซึ่งบางครั้งก็มองว่ามันไม่เข้ากัน ไม่สวยงาม หรือมีความเทอะทะ จากการที่มีประสบการณ์ 10 กว่าปี ที่แม่ครูได้เปิดศูนย์การเรียนรู้ฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้าน ก็ได้ร่วมสอนการฟ้อนร่วมกับเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ และสอนเกี่ยวกับประเพณีท้องถิ่นด้วย ก็อยากเล็งเห็นความสำคัญทางด้านแม่ครูช่างฟ้อน แม่ครูจะต้องมีองค์ความรู้รอบด้านในเรื่องการฟ้อนทั้งหมด แม่ครูต้องเป็นแรงจูงใจให้กับเด็กเยาวชนและคนที่อยากมาฟ้อน ปัจจุบันแม่ครูนั้นเริ่มลดลง จากการที่หลายท่านก็อายุเยอะ หลายท่านก็เสียชีวิตไป ทำให้แม่ครูที่จะมาสืบสานต่อคนรุ่นใหม่นั้นก็เริ่มหายไป
แม่ครูช่างฟ้อนลายเมือง จึงเป็นการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับ ร่วมกับ เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาฟ้อนเมืองบ้านครูเอ จิดาภา (เครือข่ายช่างฟ้อนลายงาม) ภายใต้โครงการช่างฟ้อนลายงาม การส่งเสริมวัฒนธรรมล้านนาสู่เทศกาลเมืองเชียงใหม่ โดยมี ดร.รชพรรณ ฆารพันธ์ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าวเป็นโครงการย่อยภายใต้โครงการ Creative Lanna Co-Communication กิจกรรมสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ถือว่าการพัฒนาหลักสูตรนี่ เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนให้เกิดความยั่งยืน ถ่ายทอดความรู้พัฒนาทักษะการทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้สู่การปฏิบัติงานอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว และสร้างการรับรู้ด้วยการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในระดับชาติและระดับสากล