หนุ่มมาดเซอร์ ผู้ขับเคลื่อนกิจกรรม ‘อมก๋อยเฟส’

“ไงเล่า สหาย”

คือ ถ้อยคำทักทายแรกเมื่อเราเดินทางมาเจอชายคนนี้ ที่มีชื่อเสียงเรียงนามว่า “ยอดชายนายพีเตอร์ ไอ้หนุ่มมาดเซอร์จากอมก๋อย” ประโยคทักทายอันบาดลึกไม่น้อยนี้ แปลแล้วมีความหมายทำนองว่า “มีอะไรเหรอเพื่อน” ซึ่งปกติจะต้องสวัสดี แต่ชายผู้นี้ข้ามขั้นตอนของการทักทายเป็นอย่างมาก ด้วยความเป็นคนที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ดูกวนนิดๆ จึงทำให้การเดินทางของบทความนี้สนุกไม่น้อยเลยทีเดียว และเขาคือผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเองที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

หลายท่านเคยได้ยินชื่อ อำเภออมก๋อย กันมาบ้างซึ่งมีแหล่งธรรมชาติสวยงามในพื้นที่อย่างม่อนจอง อำเภออมก๋อย ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอำเภออยู่ทางใต้สุดของจังหวัด มีรอยต่อติดกับเขตจังหวัดตากและแม่ฮ่องสอน จากการหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า คำว่า “อมก๋อย” สันนิษฐานมาจากคำว่า “อำกอย” ซึ่งเป็นภาษาลัวะ(ละว้า) แปลว่า ขุนน้ำ หรือต้นน้ำ สันนิษฐานว่า หมายถึง ต้นน้ำแม่ตื่นที่ไหลผ่านชุมชนเมืองโบราณจากตำนานเมืองตื๋นนันทบุรี และยกฐานะจากเขตการปกครองอำเภอฮอดเป็นอำเภออมก๋อยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 การเดินทางอันยาวไกลครั้งนี้คุ้มค่ากับการมาเยือนอมก๋อยเป็นอย่างมาก

อำเภออมก๋อย เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ภาคีที่ได้รับสนับสนุนจากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สนันสนุนการจัดกิจกรรม อมก๋อยเฟส หรือ OMKOI FEST โดยปีนี้ (2567) จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้ว ซึ่งเป็นกิจกรรมเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเยาวชนในอำเภออมก๋อยและใกล้เคียงให้มีพื้นที่ในการทำกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการประกวดวงดนตรี การแสดงความสามารถต่างๆ รวมถึงการนำเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่นและชาติพันธุ์

ยอดชายนายพีเตอร์ ไอ้หนุ่มมาดเซอร์จากอมก๋อย

หรือ นายกฤชวรพล สกุณาคีรี เราเรียกว่า ปีเตอร์ ถ้าจะอ่านออกสำเนียงอย่างเจ้าตัวพูดคุยกับเราก็อ่านออกเสียงว่า พี-เทอร์ ผู้รับหน้าที่เป็นหนึ่งในแม่งานจัดงาน “อมก๋อยเฟส (OMKOI FEST)” ตั้งแต่ปีแรก ทำความรู้จักกับเขาสักหน่อยบ้าง เป็นคนที่มีเสน่ห์ ปีเตอร์เป็นศิลปินท้องถิ่น เป็นคนอมก๋อยตั้งแต่กำเนิด ชอบร้องเพลงเป็นอย่างมาก พกกีตาร์เป็นดั่งอาวุธประจำกาย แต่เดี๋ยว! สายกีตาร์ที่คล้องอยู่นั้น มันคือสายรัดประคตของพระ ด้วยความที่เจ้าตัวมีเอกลักษณ์ในการพูดหรือการสื่อสารของตัวเองแนวละครพีเรียด หรือจักร ๆ วงศ์ ๆ หลายคนก็ชื่นชอบในตัวสไตล์ของเขา ดังประโยคฮิตติดปากของปีเตอร์ที่ว่า “บาดลึกไม่น้อย อมก๋อยสั่งมา” บทความนี้จึงใช้เวลาในการเรียบเรียงออกมาแนวสไตล์ยอดชายนายพีเตอร์ อาจจะติดภาษาและถ้อยคำที่ออกแนวละครแนวพีเรียดย้อนยุคไปบ้าง

อมก๋อยเฟส (OMKOI FEST) คืออะไร

อมก๋อยเฟส เป็นกิจกรรมงานที่เริ่มมาจากรุ่นพี่และมิตรสหายที่รู้จัก ชวนกันจัดประกวดวงดนตรีที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ตอนนั้นชื่องานว่า “แม่แจ่มกรีนมิวสิค (Mae Chaem Green Music)” จากนั้นก็ได้กลับมาที่อมก๋อย พบปะกับมิตรสหาย ในวงสภากาแฟช่วงราว ๆ ปลายเดือนธันวาคม ได้ข้อสรุปว่า ในอำเภออมก๋อยก็มีน้อง ๆ เยาวชนหลายคนที่ชื่นชอบการเล่นดนตรี และมีน้องเยาวชนที่อยากทำงานเกี่ยวกับการจัดประกวดวงดนตรี อยากจะเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับประกวดดนตรี จากวงสนทนากาแฟเมื่อครั้งนั้น ต่อมาประมาณช่วงราวเดือนกุมภาพันธ์ ก็จัดงานอมก๋อยเฟสติวัล (OMKOI FESTIVAL) ปีที่ 1 ขึ้นมาในปี 2564 ส่วนมากจะติดปากกันเรียกว่า “อมก๋อยเฟส”

หลังจากนั้นได้ประสานไปยังกลุ่มสภาเด็กและเยาวชนอำเภออมก๋อย ซึ่งตอนนั้นมีแกนนำอยู่ 3 คน และเริ่มชักชวนเครือข่าย เยาวชนที่อยากทำกิจกรรมอาสาเกี่ยวกับดนตรีมาประชุม และเดินสายทัวร์ไปหาคนที่สนใจจากหลายตำบล โรงเรียนต่าง ๆ ในอำเภออมก๋อย นัดกันมาประชุมเพื่อจะทำงานประกวดวงดนตรี ถือว่าเป็นครั้งแรกที่จัดกิจกรรมดนตรีในอำเภออมก๋อย

เมื่อเริ่มร่างโครงการพร้อมรายละเอียดเบื้องต้น ก็ได้เข้าไปเสนอต่อผู้ใหญ่ นายอำเภอ นายกเทศมนตรี องค์กรห้างร้าน เพื่อประสานงาน และขอรับการสนับสนุนการจัดงาน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ เรียกได้ว่าเหนื่อยไม่น้อย ซึ่งเป็นครั้งแรกของการจัดงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และ สำนักงานสนับสนุนกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้สนับสนุนหลักก่อน นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่นๆ ห้างร้านร่วมกันสมทบแบบฮอมทุนร่วมกันจัดตามจิตศรัทธา

ส่วนในเรื่องดนตรีและการแสดงก็ได้ประสานไปยังเครือข่ายศิลปินชาติพันธุ์อิสระเข้ามาร่วมบรรเลงขับร้องในงาน แม้ว่าบทบาทของปีเตอร์เองนั้นเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งจะต้องเป็นคนประสานงานการจัดกิจกรรมหลัก แต่ก็มีหลายท่านที่ไม่ได้กล่าวถึง ทั้งหมอโด่ง พี่เหยิน ที่อยู่เบื้องหลังในการทำงานให้กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจนสำเร็จ รวมทั้งผู้ใหญ่หลายคนเลย ที่ไม่ได้กล่าวถึง

ทำไมถึงต้องมี อมก๋อยเฟส (OMKOI FEST)

คอนเส็ปหรือวัตถุประสงค์ในการจัดงานในปีแรกนั้นจะแตกต่างกับปัจจุบัน เนื่องจากทางเราเองตั้งทุนมาจากกิจกรรมเรื่องดนตรีและความรื่นเริงเป็นหลัก เลยมีกิจกรรมการประกวดวงดนตรีในพื้นที่เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเด็กเยาวชนจากในอำเภอ และใกล้เคียงเข้ามาประกวด ถูกใจคนในพื้นที่ยิ่งนักไม่ว่าจะเป็นลูกเล็กเด็กแดง อีกทั้งในกิจกรรมยังเป็นพื้นที่เวทีสำหรับการแสดงออกแบบสร้างสรรค์ ที่เราสามารถเป็นตัวแทนที่ส่งต่อให้เขาไปต่อในเวทีระดับที่สูงกว่านี้ ก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องมีเพียงการประกวดวงดนตรีเป็นหลัก ยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตามความเหมาะสม เช่น มีการแสดงศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์สอดแทรกในบางช่วงเวลา บางครั้งผมเองก็ขึ้นไปขับขานเสียงเพลงพร้อมมิตรสหาย ฮ่าๆ (เสียงหัวเราะปีเตอร์)

อันต่อมาถือว่า งานนี้เป็นโอกาสทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายแรกคือ ฝ่ายของทีมงานผู้จัด หรือ Staff ได้มีการเรียนรู้วิธีการทำงานเพื่อต่อยอดในอนาคตของทีมงานที่เป็นน้อง ๆ เยาวชน ในปีต่อ ๆ มาของการจัดงานอมก๋อยเฟสขึ้นมา เพื่อให้น้อง ๆ เยาวชนได้มารวมตัวกันมากโข สรรสร้างทำกิจกรรมสร้างสรรค์ทางดนตรีและศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะหรือการแสดงที่เป็นอัตลักษณ์ในท้องถิ่น หรือกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตนเอง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์​ให้ห่างไกลยาเสพติด ไร้ซึ่งเหล้ายาปลาปิ้งและอบายมุข รวมถึงการมีพื้นที่หรือลานเพื่อเปิดให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่วนโอกาสอีกฝ่าย คือ ฝ่ายของผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาและบุคคลทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่ห่างไกล ได้มาแสดงออก นำเอาความสามารถแต่ละศาสตร์วิชามาแสดงอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการแสดงออก นิทรรศการ เรื่องราวและบทเพลงที่ตนเองชื่นชอบ

มีสิ่งหนึ่งที่ปีเตอร์มองเห็น คือ เกิดการพัฒนาทักษะด้านการดำเนินงาน วิธีการทำงานให้กับกลุ่มเยาวชนที่มีจิตสาธารณะร่วมจัดงานด้วย น้อง ๆ มีความสามารถและประสบการณ์ในการทำงานที่สเกลใหญ่ขึ้น ซึ่งน้อยนักที่จะได้ลิ้มลอง หวังว่าน้อง ๆ จะเติบโตออกไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ย่อมมีทักษะติดตัวออกไปได้ไม่น้อย

อย่างที่ได้เกริ่นเป้าหมายของการจัดงานไว้ตอนแรกนะครับ ยังสามารถส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยวของอำเภออมก๋อย ให้เป็นงานเทศกาลดนตรีประจำของเด็กและเยาวชนในทุกปี ที่พักรีสอร์ท หรือว่าร้านอาหารต่างๆ ก็ได้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และงานก็มีผู้คนรู้จักมากขึ้น เริ่มเป็นที่ยอมรับของคนมนพื้นที่  มีการบอกปากต่อปากกันไป อำเภออมก๋อยเป็นพื้นที่ขึ้นชื่อชา เรื่องของอากาศดี ทั้งหน้าร้อนและหน้าหนาว สร้างแรงบันดาลใจให้มิตรสหายที่มาเที่ยว เมื่อมองเห็นโอกาสกิจกรรมนี้ เราก็แฝงการรณรงค์สร้างจิตสานึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นชาติพันธุ์อันงดงามของอำเภออมก๋อยไปด้วย อย่างที่จะเห็นว่า มีการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ในอำเภออมก๋อยมาร่วมในวันเปิดงาน

ชักชวน เยาวชนอมก๋อยเข้ามาทำงานอย่างไร?

น้อง ๆ มีความสามารถและเก่ง แต่พอเมื่อถึงวันที่จบการศึกษาต่อและต้องไปศึกษาต่อในเมือง ก็จะต้องสร้างรุ่นน้องขึ้นมาทดแทนคนเก่าๆ ก็เลยตั้งเป้าหมายว่าอยากจะให้คนที่สนใจมาเป็นทีมงาน เลยเปิดรับสมัคร ทำการประชาสัมพันธ์ ประกาศรับสมัครทีมงานอาสาผ่านการโพสต์ของ Facebook Page ทุกปี แต่ปีล่าสุดก็มีคนสมัครเข้ามาเยอะ น้อง ๆ ทักเข้ามาในแชทเพจจ้าละหวั่น บอกว่าต้องการเป็นทีมงานยิ่งนัก และด้วยความที่คนเข้าสมัครเข้ามาเยอะเกิน เรียกว่ากำหนดที่เราวางไว้ ซึ่งตั้งไว้ที่ประมาณ 25 คน ก็เลยจะต้องมีการสัมภาษณ์เล็กน้อย ให้พี่ ๆ รุ่นพี่ทำกิจกรรมรุ่นก่อนเป็นคนสัมภาษณ์กันเอง แต่ก็ตั้งคำถามสัมภาษณ์น้องไว้เหมือนกัน แต่สุดท้ายก็รับเข้ามาช่วยเป็น Staff หรือทีมงานไว้ทั้งหมด ส่วนมากช่วยกันในงานด้านดนตรีงานกิจกรรมทั้งหมดเลย ซึ่งรุ่นนี้ (ปีนี้) ก็เลยมีน้อง ๆ เยอะหน่อย ประมาณสัก 30 คน เห็นจะได้ว่ามีการสอนงานกันไปบ้างหน้าที่ของแต่ละคนคืออะไร ทำอย่างไร น้อง ๆ รุ่นพี่ก็จะสอนกันต่อไปเป็นรุ่นๆ

การพัฒนาของทีมงานที่เรามองเห็นน้อง ๆ เริ่มจากปีแรก พอเรียนจบก็เข้าไปเรียนในตัวเมือง และเมื่อมีกิจกรรมอมก๋อยเฟสน้อง ๆ ก็กลับมาช่วยเหลือน้อง ๆ เป็นผู้อาวุโสมาเทรนให้กับน้อง ได้ทำหลากหลายหน้าที่ ยกตัวอย่างการเป็นพิธีกรบนเวที หลายคนไม่มีโอกาส หรือขาดความมั่นใจ พอจบจกกิจกรรมนี้ ก็สามารถเป็นพิธีกรมืออาชีพติดตัวไปได้ และมีความมั่นใจมากขึ้น พี่หมอโด่ง ที่เป็นพิธีกรในปีแรกๆ ก็แบ่งปันประสบการณ์ทำงาน ช่วยเทรนช่วยชี้แนะ เพราะน้อง ๆ ยังเขินกับการขึ้นเวที การพูดหน้าเวที

วิธีการทำงาน และในอนาคตเป็นอย่างไร?

เล่าถึงการทำงาน อาจจะเล่าในเบื้องต้น เพราะเล่ายาวทั้งวันก็ไม่จบ 555 (ปีเตอร์หัวเราะ) ก็เริ่มแรกหลังจากที่ร่างโครงการแล้วที่มีเฮดที่เป็นผู้ใหญ่ ก็เข้าสู่กระบวนการเตรียมงาน ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง รับสมัครน้อง ๆ เข้ามาเป็นทีมงาน และเมื่อรับเข้ามาแล้วก็ แบ่งหน้าที่ให้แต่ละคน ตามความสมัครใจหรือความถนัด โดยแบ่งเป็นฝ่าย ซึ่งแต่ละฝ่ายทำอะไรบ้างนั้นหลังจากได้ข้อสรุปเบื้องต้นก็จะนำขั้นตอนการทำงานหลัก ๆ โพสต์ไว้ที่ Facebook มีการกำนดการประชุมแบบมาเจอกันตามหน้างาน สร้างกลุ่มสื่อสารออนไลน์ขึ้นมา เพื่อวางบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนให้ชัดเจนขึ้น ถ้าวันไหนที่ไม่สะดวกมาเจอกัน ก็ประชุมคุยกันในกลุ่มออนไลน์ แบ่งงานตามบทบาทของแต่ละฝ่าย เช่น มีฝ่ายประสานงาน ฝ่ายสถานที่ ฝ่ายเอกสาร ฝ่ายบัญชีการเงิน มีการนัดประชุมย่อยกันแต่ละฝ่ายบ้าง แต่ที่ก็จะช่วยเหลือกันทุกฝ่าย

เอกสารหลายๆอย่าง เราต้องทำหนังสือ แล้วก็มายืนที่อำเภอ ปีแรกๆเราให้ทางผู้ใหญ่เซ็นรับรอง เอาไว้ยื่นหาผู้สนับสนุน เนื่องจากเป็นกิจกรรมใหม่ด้วย และต้องหาความน่าเชื่อถือ แก้เขินยิ่งนัก แต่พอจัดงานผ่านไป 2 ปี ด้วยความที่ผู้ใหญ่และคนอมก๋อยเริ่มรับรู้เห็นกิจกรรมเกิดขึ้น ไม่มีการเคอะเขิน ปี 3 (พ.ศ.2567) ก็มาประสานทางอำเภออมก๋อยในการจัดงาน ซึ่งปีนี้ก็มีภาคีใหม่ มิตรสหายยื่นมือเข้ามาร่วมจัดงานและสนับสนุน เช่น มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิรักษ์เด็ก พี่น้องกลุ่มสตรีเยาวชน ก็มีการประชุมกัน ปรึกษาหารือกัน แล้วก็เชิญผู้ใหญ่หัวหน้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาร่วมประชุมด้วย ในส่วนของการสนับสนุนก็ได้รับการสนับสนุนเป็นทั้งเงินรางวัล น้ำดื่มสำหรับผู้เข้าร่วมงาน และอาหารสำหรับทีมงานตามปัจจัยที่สนับสนุนมา

อมก๋อยเฟส ครั้งที่ 1

การจัดการประกวดนั้นก็แบ่งออกเป็น 2 วัน ก่อนหน้านี้มีการออดิชั่นมารอบหนึ่ง แล้วก็มาถึงวันแรกมีการจัดประกวดในแต่ละรุ่นในช่วงเย็น และพิธีเปิดงาน ซึ่งในที่นี้อาจจะต้องนำไปปรับเปลี่ยนดูวิธีการจัดงานในปีต่อ ๆ ไป เนื่องจากสภาพอากาศในการจัดงานนั้นร้อนอบอ้าว มีผลต่อสุขภาพของทีมงาน ผู้เข้าร่วมงาน และผู้เข้ามาชมงาน แต่ก็มีการวางแผนร่ายละเอียดในการประชุมที่ต้องมีฝ่ายพยาบาลเข้ามาด้วย ก็ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลอมก๋อย สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับดูแลในงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่จากปกครอง สถานีตำรวจภูธรอมก๋อย

อย่างที่กล่าวไว้ว่า พอกระแสการจัดงานได้รับความนิยมมากขึ้น และงานก็ใหญ่ขึ้น ทำให้รูปแบบงานนั้นประยุกต์และมีการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ หรือเพิ่มวันสำหรับโชว์ดนตรีชาติพันธุ์และวันสำหรับประกวดวงดนตรี รวมถึงมีการสนับสนุนจากองค์กรท้องถิ่นบาดลึกมากขึ้น ที่สำคัญที่สุดในเมื่อเรามีของดีและเอกลักษณ์ในพื้นที่อยู่แล้ว เรามองว่าจะมีการประกวดเพลงของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือดนตรีชาติพันธุ์ เข้ามาเสริม หรือแม้แต่ปีแรก ๆ เองก็ยังไม่มีการถ่ายทอดสดแบบทางการ ก็ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายกันเองบ้าง ปีที่ 2 และปีที่ 3 ก็มีทีมคริสตจักรห้วยน้ำขาว เป็นทีมมีเดียของมูลนิธิในพื้นที่ ก็ยื่นมือเข้ามาร่วมงาน Live เป็นการฝึกให้น้อง ๆ ได้ลองทำงานสื่อ ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี คลิปวิดีโอที่เราโพสต์ สร้างแรงกระเพื่อมให้กับผู้คนนอกพื้นที่ได้เข้าถึงไม่น้อยและเป็นการประชาสัมพันธ์งานให้คนอื่นๆรู้จักมากขึ้น

การพัฒนาเยาวชน
ในพื้นที่อมก๋อย

ปีแรกๆ ผู้ที่เข้ามาเป็นทีมงานส่วนใหญ่จะเป็นชาติพันธุ์เกือบ 90% มีจากต่างพื้นที่ ปีที่ 2-3 ก็มีพี่น้องคนเมืองเริ่มเข้ามาร่วมงาน ล่าสุดปีที่ 3 มีคนสมัครเข้ามาทำงานมากโข หนึ่งในนั้นมีน้องที่ทำหน้าที่เป็นพิธีกร ที่ระยะทางไกลจากบ้านมากโขยิ่งนัก ที่ใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการมาร่วมงานครั้งนี้

น้องพัฒน์ หรือนายพานุพัฒน์ พาเล่ซา นักเรียนโรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม หนึ่งในเยาวชนตัวแทนจาก “อมก๋อยเฟส” ที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมในครั้งนี้ เล่าให้เราฟังความยากลำบากที่จากบ้านมาโรงเรียน ชวนคิดให้เราคิดภาพตาม

“ระยะทางจากตัวอำเภออมก๋อยถึงบ้านของผม ประมาณ 40-50 กิโลเมตร พูดได้ว่าห่างไกลจากความเจริญครับ พอเข้าฤดูฝน แบบว่า โอ้โหเลยครับ รถจักรยานยนต์ขึ้นยากเลยครับ คือต้องชำนาญประมาณนึงครับ”

พานุพัฒน์ พาเล่ซา

จุดเริ่มต้นต้นจากมาทำงานอมก๋อยเฟสของน้องพัฒน์ หรือนายพานุพัฒน์ เล่าให้ฟังว่า มาจากการที่รุ่นพี่ในโรงเรียนชักชวนว่า มีใครสนใจงานนี้บ้าง ส่วนตัวผมเองก็เป็นสภานักเรียนโรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม ก็เห็นรุ่นพี่ที่เป็นสภานักเรียนโพสต์ประกาศ ซึ่งผมก็เห็นและติดต่อไป และอีกอย่างหนึ่งคือผมเองไม่เคยมีโอกาสแบบทำงานข้างนอกโรงเรียนเลยคิดว่างานนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดี เลยอยากจะลองเข้ามาทำงานอมก๋อยเฟสครับ ก็ลองสมัครเข้าไป เนื่องจากมีการสมัครเยอะมาก เลยมีการสัมภาษณ์ด้วยครับ ตอนนั้นบทบาทที่วางไว้เมื่อได้เข้าไปทำงานในอมก๋อยเฟส คือผมทำงานเกี่ยวกับฝ่ายสถานที่ครับ แต่ว่าในงานจริง ๆ ทำหน้าที่เป็นพิธีกรหลักครับ

สิ่งที่ทำให้เราอยากเข้ามาทำงานนี้ คือการมองเห็นโอกาสที่ทำให้เราเองได้ทำงานสะสมประสบการณ์ พัฒนาศักยภาพของตัวเองในด้านต่างๆ กับหน่วยงานอื่นๆ สามารถนำไปทำผลงานลงแฟ้มสะสมงาน และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานอมก๋อยเฟสด้วยครับ อีกเหตุผลก็คือสองปีที่แล้ว ผมไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมงานนี้เลย ครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี เลยตัดสินใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานในปีนี้

สิ่งที่ได้จากการทำงานอย่างแรกเลยคือ การได้รู้จักภาคีเครือข่าย ผู้ใหญ่ในพื้นที่ ได้ประสบการณ์หลายอย่างมากเลยครับ ได้ความกล้าแสดงออก ซึ่งผมเองก็เคยเป็นพิธีกรในงานเล็ก ๆ ของโรงเรียน ไม่ได้มีโอกาสเป็นพิธีกรในงานใหญ่ ซึ่งงานนี้ก็เป็นการทำงานเป็นพิธีกรในงานใหญ่ ทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นการออกจาก comfort zone ของตัวเอง ทำให้ผมกล้าที่จะพูดมีความมั่นใจมากขึ้น

“อมก๋อยเฟส” ในมุมน้องพัฒน์ ซึ่งต้องบอกว่างานนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องดนตรี มีกิจกรรมการแข่งขันทำลาบ แข่งขันวาดภาพระบายสี ซึ่งมันได้พัฒนาศักยภาพและเปิดโอกาสให้กับเด็กหลายคนมาก ในอำเภออมก๋อย ผมเชื่อมีคนเก่งเยอะ แต่ไม่ได้มีโอกาส กิจกรรมแบบนี้ทำให้น้องๆ เยาวชนหลายคนมีพื้นที่ในการแสดงออก ที่ผ่านมาหลายคนในโรงเรียนก็สอบถามเข้ามาเหมือนกันครับว่า พี่ทำยังไงถึงได้เข้าไปทำงานแบบนี้ ก็ถือโอกาสนี้แนะนำหรือเชิญชวนเยาวชนในอำเภออมก๋อย และฝากงานอมก๋อยเฟสไว้กับทุกคนด้วยครับ

ปิยะวรรณ คงหิรัญ (คนกลาง)

น้องชมพู่ นางสาวปิยะวรรณ คงหิรัญ นักเรียนโรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม ตัวแทนทีมงาน รับบทบาทหน้าที่เป็นช่างภาพในงานอมก๋อยเฟส เล่าให้ฟังถึงการเข้าร่วมเป็นทีมงาน โดยเริ่มแรกน้องชมพู่เล่าว่า ชอบเล่นดนตรีและสนใจเกี่ยวกับดนตรีอยู่แล้ว เห็นเพื่อนในห้องแชร์กิจกรรมผ่านโซเชียลออนไลน์ และหนูก็เห็นเขารับสมัครทีมงานด้วย เลยสมัครไป พอสมัครเสร็จ ก็มีพี่บอกว่ามีการสัมภาษณ์ด้วย คำตอบแรกที่หนูอยากมาก็คือ หนูชอบดนตรี และสามารถช่วยรณรงค์ลดอบายมุขผ่านเสียงเพลงได้ หนูเลยสนใจอยากจะลองทำงานนี้ จริงๆหนูอยากลองในส่วนของการเป็นพิธีกรด้วย แต่ยังมีความไม่มั่นใจ ก็เลยขออาสาไปทำบทบาทช่างภาพดีกว่า ซึ่งหนูเป็นคนชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว สำหรับหนูรู้สึกว่าการถ่ายรูปน่าจะไม่ได้ยากขนาดนั้น พร้อมเปิดรับการเรียนรู้ตลอดเวลา แต่ว่าถามว่ามันยากไหม? ก็มีบ้าง เพราะว่าในงานช่างภาพมีไม่เยอะ แล้วเราต้องเข้าไปถ่ายรูปทำให้เราถ่ายไม่ทันบ้าง สิ่งที่ได้จากการเป็นช่างภาพ อย่างแรกคือ การได้เรียนรู้และประสบการณ์การถ่ายรูป เพราะปกติหนูถ่ายรูปได้ แต่รู้สึกว่ารูปที่ตัวเองถ่ายค่อนข้างแย่ จึงใช้โอกาสนี้พัฒนาการถ่ายรูปไปด้วย

ตอนเริ่มแรกเข้ามาทำงานอาสา ครอบครัวของเราที่บ้านก็เป็นห่วงค่ะ เพราะว่าเราเป็นลูกสาวคนเดียว เป็นห่วงมาก เพราะการทำงานนั้นมันต้องกลับดึกในบางวันช่วงที่เตรียมงาน พอผ่านไประยะหนึ่งทางผู้ปกครองก็มองว่าเป็นสิ่งที่ดี อย่างน้อยก็ดีกว่าที่เราจะออกไปทำอะไรที่มันไม่ได้ประโยชน์เลย และงานอมก๋อยเฟส ผู้ปกครองก็สามารถเข้ามาดูเราทำงานได้

นอกจากการที่เป็นช่างภาพแล้ว หนูยังได้ฝึกการประสานงาน รวมถึงการให้และได้รับคำปรึกษาจากผู้ใหญ่และเพื่อนๆ สิ่งที่อยากจะแนะนำน้อง ๆ ก็คือ ถ้ามีโอกาสได้มาทำงานนี้ “มันทำให้เราสามารถเติบโตและมีความกล้าไปอีกขั้นหนึ่งค่ะ”

ทิ้งท้ายสำหรับใครที่ยังไม่เคยไปอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอำเภอที่อยู่ใต้สุดของจังหวัดเชียงใหม่ การเดินทางสะดวก แต่จะใช้เวลาเดินทาง 4-5 ชั่วโมงจากตัวเมืองเชียงใหม่ โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 108 ถือว่าคุ้มค่ากับระยะเวลาการเดินทาง มีแหล่งท่องเที่ยวและที่พักให้สัมผัสธรรมชาติ อากาศดีและประเพณีวัฒนธรรมที่เอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ ดังที่ว่า “สาวงามสี่ชนเผ่า อากาศดีที่อมก๋อย”

ขอบคุณยิ่งนัก

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล และ Data Journalism