เตรียมพร้อมก่อนเดินทาง  เคล็ดลับขับรถทางไกลให้ปลอดภัย

เทศกาลในวันหยุดยาวไม่ว่าจะเป็นวันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ หรือเทศกาลอื่นๆ มักจะเกี่ยวเนื่องกับการเดินทาง จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) พบว่าสถิติอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ย้อนหลัง 3 ปี มีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงน่าเป็นห่วง โดยในปี 2567 เกิดอุบัติเหตุ 2,288 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 2,307 คน และเสียชีวิต 284 ราย ลดลงจากปี 2566 ที่มีอุบัติเหตุ 2,440 ครั้ง บาดเจ็บ 2,437 คน เสียชีวิต 317 ราย และปี 2565 ที่มีอุบัติเหตุ 2,707 ครั้ง บาดเจ็บ 2,672 คน เสียชีวิต 333 ราย โดยสาเหตุหลักของอุบัติเหตุ อันดับหนึ่งมาจากการขับรถเร็วเกินกำหนด คิดเป็น 40.6% อันดับสองคือ การตัดหน้ากระชั้นชิด คิดเป็น 23.31% และอันดับสามคือการดื่มแล้วขับ หรือเมาแล้วขับ คิดเป็น 14.29% และที่น่าสังเกต คือ รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด คิดเป็น 87.01% ของอุบัติเหตุทั้งหมด

เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เป็นอีกช่วงเวลาที่ทุกคนตั้งตารอ ไม่ว่าจะเป็นการเฉลิมฉลอง การเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือการพาครอบครัวไปพักผ่อนตามที่ต่างๆ ในช่วงวันหยุดยาวตามเทศกาล อย่างไรก็ตามแต่ละเทศกาลยังมาพร้อมกับเรื่องความความปลอดภัยในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยการเดินทาง ความปลอดภัยในงานเฉลิมฉลองรื่นเริง หรือความเสี่ยงด้านสุขภาพจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้เทศกาลแห่งเวลาของความสุขนั้นเป็นช่วงเวลาที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน โดยเฉพาะข้อมูลจากสถิติของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ในปี 2567 แล้วนั้น เรามาเตรียมพร้อมและเตรียมตัวในเรื่องของความปลอดภัยไปด้วยกัน

ขับขี่ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุ
มีความรับผิดชอบร่วมกัน

การขับขี่การเดินทางพร้อมกันจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการกลับบ้านของหลายคนในเมืองหลวง หรือการเดินทางไปท่องเที่ยว ส่งผลให้มีความแออัดบนท้องถนน และเพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น การสร้างความปลอดภัยในการเดินทางจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง สาเหตุของอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลเรามักจะทราบกันอยู่บ้างว่า ส่วนใหญ่แล้วนั้นเกิดจาก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถหรือเมาแล้วขับ ต่อมาคือเกิดจากความประมาท เช่น การขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด หรือ การใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ และความเหนื่อยล้าจากการเดินทางไกล หรือความง่วง การหลับในจากการขับขี่

ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน “10 วันอันตราย” ซึ่งเทศกาลปีนี้รัฐบาลได้กำหนดให้ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2567 ไปจนถึง 5 มกราคม 2568

เดินทางไกลอย่างไร
ให้ปลอดภัยในช่วงเทศกาล

ในช่วงเทศกาลสำคัญของบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นสงกรานต์ ลอยกระทง หรือปีใหม่ เป็นช่วงเวลาที่หลายคนเลือกกลับบ้าน กลับภูมิลำเนาไปหาครอบครัว หรือออกไปเที่ยวพักผ่อนกับเพื่อน ๆ บางคนก็กลับไปร่วมงานบุญประเพณีในพื้นที่ต่าง ๆ แต่การเดินทางที่ยาวนานและระยะทางไกล ถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวให้ดีก็อาจมีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน บทความนี้เลยอยากชวนทุกคนมาเตรียมพร้อมกับทริคเล็ก ๆ สำหรับการเดินทางไกลให้ปลอดภัย และยังมีไอเดียดูแลตัวเองระหว่างเดินทางให้ถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ

วางแผนการเดินทางล่วงหน้า

  • กำหนดจุดหมายและเส้นทาง เลือกและศึกษาข้อมูลเส้นทางที่จะใช้ล่วงหน้า ทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางสำรอง โดยเฉพาะทางหลวงที่จากข้อมูล ศปถ. พบว่าเกิดอุบัติเหตุสูงสุด หรือเผื่อกรณีรถติดหรือมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อาจจะใช้วิธีการตรวจสอบสภาพจราจรผ่านเว็บไซต์แผนที่หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อคาดการณ์เวลาและลดความรีบเร่งระหว่างเดินทาง
  • เลือกเวลาที่เหมาะสม การเลือกเวลาในการเดินทาง หากเป็นไปได้ ให้หลีกเลี่ยงเวลาเร่งด่วนหรือช่วงที่มีการจราจรหนาแน่น เช่น เย็นก่อนวันหยุดยาวหรือช่วงเช้าตรู่วันแรกของเทศกาลหยุดยาว ลองพยายามจัดตารางเดินทางให้มีเวลาเหลือพอสำหรับหยุดพักระหว่างทาง เพื่อให้ผู้ขับหรือการขับรถได้คลายความเหนื่อยล้าและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ

ตรวจเช็กสภาพรถและพาหนะ

การตรวจสอบอุปกรณ์สำคัญของรถก่อนเดินทาง โดยเฉพาะการตรวจสอบสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นยางรถว่ายังมีดอกยางที่หนาพอหรือไม่ และลมยางอยู่ในระดับที่เหมาะสม การเช็คเบรครถ ตรวจสอบน้ำมันเครื่อง น้ำหล่อเย็น น้ำกลั่นแบตเตอรี่ และระดับน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอก่อนออกเดินทาง ทดสอบไฟสัญญาณต่าง ๆ เช่น ไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเบรก ไฟเลี้ยว และไฟฉุกเฉิน รวมถึงการเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินหรืออุปกรณ์ซ่อมรถเบื้องต้น เช่น แม่แรง สายพ่วงแบตเตอรี่ ให้มีความพร้อมก่อนออกเดินทาง

พักผ่อนให้เพียงพอ
และงดเครื่องดื่มมึนเมา

  •  การนอนหลับให้พอก่อนออกเดินทาง คนขับควรพักผ่อนให้เต็มที่อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงก่อนออกเดินทางไกล เพื่อไม่ให้เกิดความง่วงในขณะขับขี่หรือหลับใน หากขับรถนานต่อเนื่อง ควรหยุดพักทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อดื่มน้ำ ยืดเส้นยืดสาย และผ่อนคลายสายตา หากเราขาดการนอนหลับติดต่อกัน 17-19 ชั่วโมง จะทำให้สมรรถภาพของร่างกาย “เทียบเท่า” กับมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดถึง 0.05% ซึ่งหมายความว่าการตัดสินใจและการตอบสนองของเราล่าช้าลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น ควรพักผ่อนให้เพียงพอและจัดตารางเดินทางให้เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของทุกคนบนท้องถนน
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และของมึนเมาเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักสำคัญ ที่นำไปสู่อุบัติเหตุบนท้องถนนอันดับต้นๆของไทย ไม่ดื่มเครื่องดื่มมึนเมาทุกชนิด อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนขับรถ สำหรับผู้ขับหากต้องใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรว่ามีผลข้างเคียงทำให้ง่วงหรือมึนได้หรือไม่ รู้หรือไม่เมาแล้วขับข้อมูลเกี่ยวกับโทษและบทลงโทษสำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถในประเทศไทย สรุปได้ว่า หากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (เกิน 50 mg%) หรือเกิน 20 mg% ในกรณีผู้ขับขี่อายุต่ำกว่า 20 ปี หรือผู้ที่ไม่มีใบขับขี่ จะถือว่า “เมาแล้วขับ” และจะมีความผิดทางอาญา ตลอดจนมาตรการทางปกครองตามกฎหมาย โดยในตารางได้แจกแจงการกระทำผิดและบทลงโทษหลายระดับ ดังนี้
  1. ปฏิเสธการตรวจแอลกอฮอล์ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่เกิน 6 เดือน หรืออาจถึงขั้นเพิกถอน และบทลงโทษอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถยึดรถได้ไม่เกิน 7 วัน กรณีนี้คือผู้ที่ไม่ยอมให้ความร่วมมือในการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นการขัดขืนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน
  2. กรณีเมาแล้วขับ แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่เกิน 6 เดือน หรืออาจถึงขั้นเพิกถอน และบทลงโทษอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถยึดรถได้ไม่เกิน 7 วัน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ศาลอาจสั่งลงโทษทั้งจำคุกและปรับพร้อมกัน) กรณีนี้คือมีการตรวจพบว่าเมาแล้วขับ แต่โชคดีที่ไม่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
  3. ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ (เมาแล้วขับจนผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ) โทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่เกิน 1 ปี หรืออาจเพิกถอน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ศาลอาจสั่งลงโทษทั้งจำคุกและปรับพร้อมกัน) หากการเมาแล้วขับส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บไม่สาหัสมาก แต่ก็ถือว่าอันตรายและมีการเพิ่มโทษทั้งจำทั้งปรับมากขึ้น
  4. ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส โทษจำคุก 2-6 ปี ปรับตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่เกิน 2 ปี หรืออาจเพิกถอน หรือทั้งจำทั้งปรับกรณีนี้คือมีผู้บาดเจ็บรุนแรง ต้องพิจารณาว่าผู้กระทำผิดได้สร้างความเสียหายหรือเจ็บปวดจนร่างกายไม่อาจฟื้นกลับมาเหมือนเดิม โทษจึงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
  5. ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษจำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีที่เลวร้ายที่สุดคือมีผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากความมึนเมา ส่งผลให้โทษรุนแรงที่สุดตามที่กฎหมายกำหนด

การปฏิบัติตัวขณะขับรถหรือโดยสาร

  • เคารพกฎจราจรและขับรถอย่างมีสติ การขับรถต้องคำนึงถึงกฎจราจร และป้ายจราจรบนท้องถนนควรศึกษาเรื่องของกฎจราจรในระหว่างเส้นทางที่ต้องเดินทางไว้ล่วงหน้า มีสติ ไม่ประมาท และไม่ใช้ความเร็วเกินกำหนดตามป้าย และนอกจากกฎจรจาจรแล้วยังต้องรักษามารยาทโดยส่วนรวมบนท้องถนน ไม่ขับจี้ท้ายรถคันหน้า และเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม เพื่อมีเวลาตอบสนองหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
  • คาดเข็มขัดนิรภัยและสวมหมวกนิรภัย ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ คนขับและผู้โดยสารทุกคนควรคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลา แม้จะแค่การเดินทางในระยะสั้น โดยเฉพาะการขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ผู้ขับขี่ต้องสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐาน และติดกระชับให้พอดี
  • งดใช้มือถือขณะขับรถ ควรจะใช้สมาร์ทโฟนก็ต่อเมื่อเฉพาะสำหรับการนำทาง และตั้งค่าระบบก่อนออกเดินทาง หากจำเป็นต้องตอบสายโทรศัพท์ ให้จอดรถในพื้นที่ปลอดภัยก่อน
  • รักษาสุขภาพระหว่างเดินทาง และแน่นอนผู้เขียนเองก็ประสบปัญหาเช่นกันกับการเดินทาง ที่ส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่บนรถและท้องถนนนั้น มักจะต้องดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ การเดินทางไกลอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ง่าย ควรพกน้ำดื่มอย่างน้อย 1-2 ขวดไว้ในรถหรือให้เพียงพอกับจำนวนผู้ร่วมโดยสาร สำหรับผู้ที่ชื่นชอบดื่มกาแฟ เครื่องดื่มดื่มชูกำลังควรลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า (https://www.bpksamutprakan.com/care_blog/view/234) จะทำให้เลือดขยายตัว ส่งผลให้กลไกในร่างกายจะขับน้ำออกเร็วขึ้น ร่างกายจึงมีเหงื่อออกมากกว่าปกติและปัสสาวะบ่อยขึ้น จนอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้
  • เลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ในช่วงเดินทางไกลนั้น จะผ่านช่วงมื้ออาหารในแต่ละช่วง ควรกินอาหารที่ไม่หนักท้องเกินไป เช่น ข้าวต้ม ซุปหรือสลัดผัก เพื่อป้องกันอาการง่วงนอนและจุกเสียดระหว่างขับรถ หลีกเลี่ยงการกินจุบจิบของหวานหรืออาหารมัน ๆ ที่อาจทำให้อ่อนเพลียเร็ว หรือหากทราบว่าตัวผู้ขับเองทานอาหารชนิดไหนแล้วง่วง ก็ให้งดกินอาหารชนิดนั้นไปก่อน หรือต้องทำการพักรถและพักคน หากร่างกายไม่ไหว ไม่ควรฝืน รวมถึงการพกพายาสามัญประจำบ้านและยาสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวติดไว้ในรถสำหรับการเดินทางเสมอ

ยืดเหยียดร่างกาย

การขับขี่รถที่ต้องนั่งเป็นเวลานาน ๆ ให้พักยืดเหยียดหรือเดินเบา ๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ สำหรับคนโดยสารที่ต้องรัดเข็มขัดนาน ๆ แนะนำให้ขยับแขนขา หมุนคอ และยืดไหล่เป็นระยะ

พักคน พักรถ เติมพลังให้การเดินทางปลอดภัย

การเดินทางไกลด้วยรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการขับไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดหรือกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาล สิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจอย่างยิ่งคือการบริหารเวลาและดูแลร่างกายของผู้ขับขี่ รวมถึงสภาพของรถยนต์ให้พร้อมอยู่เสมอ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากความอ่อนล้าและการตอบสนองที่ล่าช้า มีข้อแนะนำแนวทางง่าย ๆ ในการจัดสรรเวลาพักรถและพักคน เพื่อให้การเดินทางราบรื่นและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

  • ขับรถยนต์ทุก 2 ชั่วโมง (ประมาณ 150-200 กม.) ควรจอดพักสั้น ๆ พอให้หายล้า เมื่อขับรถต่อเนื่องประมาณ 2 ชั่วโมง หรือราว 150-200 กิโลเมตร ควรหาโอกาสจอดพักตามจุดพักรถหรือสถานบริการน้ำมันหรือจุดพักรถ สัก 15-20 นาที เพื่อยืน เดิน ยืดเส้นยืดสาย คลายความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ หรืออาจจะเข้าห้องน้ำ รับประทานอาหารเบา ๆ ป้องกันภาวะอ่อนเพลียและขาดสมาธิ และทุกครั้งเมื่อจอดพัก ควรตรวจเช็กสภาพรถเบื้องต้น ดูอุณหภูมิของเครื่องยนต์ ยางรถยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิง การพักระยะสั้นในช่วงนี้ จะช่วยให้ร่างกายสดชื่นและไม่เกิดอาการเหนื่อยล้าสะสม เมื่อกลับขึ้นรถแล้วจะมีสมาธิและตัดสินใจได้รวดเร็วขึ้น
  • ขับรถยนต์ทุก 3 ชั่วโมง ควรเพิ่มเวลาพักให้รถและคน หากขับรถเกินกว่า 3 ชั่วโมงติดต่อกัน ร่างกายมักจะเริ่มเข้าสู่ภาวะอ่อนล้ามากขึ้น การตัดสินใจและการตอบสนองของสมองอาจช้าลง ในขณะเดียวกัน รถยนต์เองก็ต้องการการระบายความร้อนสะสมและผ่อนคลายจากแรงเค้นต่าง ๆ เช่นกัน ควรจอดพักไม่ต่ำกว่า 15-30 นาที เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อาจล้างหน้าล้างตา หรือนั่งพักสบาย ๆ ในที่โล่ง และเพื่อเป็นการคลายร้อนรถยนต์ อาจจะเปิดฝากระโปรงระบายความร้อน หากจำเป็น รวมถึงการตรวจสอบลมยาง ดอกยาง น้ำมันเครื่องและหม้อน้ำเพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องยนต์ยังทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ก็ระมัดระวังความร้อนจากเครื่องยนต์ด้วยเช่นกัน
  • ขับรถยนต์ต่อเนื่องจนถึง 4 ชั่วโมง หรือระยะทางเกิน 300 กม. ควรหยุดการเดินทางและจอดพักทันที หากขับรถยาวนานถึง 4 ชั่วโมงหรือระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร ควรรีบหาที่จอดพักโดยด่วน ซึ่งควรจะวางแผนศึกษาเส้นทางหาสถานที่จอดพักก่อนเดินทางล่วงหน้า และใช้เวลาจอดพักอย่างน้อย 30-60 นาที หรือหากมีเพื่อนร่วมเดินทางที่สามารถขับรถได้ก็ควรผลัดเปลี่ยนกันขับ เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้หากฝืนขับต่อ การจอดพักเป็นการลดโอกาสหลับในเมื่ออ่อนล้ามาก สมองจะเหนื่อยล้า และทำให้เกิดอาการวูบหลับกะทันหัน ทำให้ตัดสินใจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เมื่อสมองและร่างกายได้พักเพียงพอ จะประมวลผลและตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันเวลา
  • หากมีผู้ร่วมเดินทาง ควรสลับกันขับเป็นระยะ ๆ เช่น ทุก 2-3 ชั่วโมง พร้อมพูดคุยกันเพื่อให้สติและความตื่นตัวอยู่เสมอ การชวนคุยเล็กน้อยตลอดทางจะช่วยให้ไม่เกิดอาการง่วงหรือเหงา ลดโอกาสการหลับในและเพิ่มความสนุกให้การเดินทาง

เพิ่มความปลอดภัยช่วงเทศกาล

เทศกาลที่ปลอดภัยและมีความสุขจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกภาคส่วนมีบทบาทร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรชุมชน และประชาชนทั่วไป สำหรับบทบาทภาครัฐ คือ การบังคับใช้กฎหมาย เช่น การควบคุมการขายแอลกอฮอล์ในพื้นที่เสี่ยง การรณรงค์สร้างจิตสำนึก เช่น ในเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2568 โครงการรณรงค์ “10 วันอันตราย” หรือในปีที่ผ่านมาเป็นการรณรงค์ 7 วันอันตราย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ สำหรับบทบาทภาคประชาชน การรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง เช่น การปฏิบัติตามกฎจราจร เป็นต้น

สภาพอากาศก็เป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลแต่ละช่วงในประเทศไทยที่มีสภาพอากาศแตกต่างกันไป เช่น ช่วงหน้าร้อน อุณหภูมิสูงและร้อนจัด ส่วนช่วงกลางปีถึงปลายปีก็มีฝนตกหรือหมอกหนา ตามฤดูกาล ซึ่งมีผลต่อทัศนวิสัยในการมองเห็นและปัจจัยจากสภาพอากาศที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น ถนนลื่น หมอกลงหนา ฉะนั้นควรเตรียมตัวและอุปกรณ์ป้องกันให้พร้อมก่อนการเดินทางล่วงหน้า หากมีฝนตกถนนลื่น หรือมีพายุฝน ควรลดความเร็วและเปิดไฟหน้าเพื่อเพิ่มทัศนวิสัย ในการขับขี่ที่ปลอดภัย

แม้ว่าการเดินทางไกลในช่วงเทศกาลต่างๆของประเทศไทย จะเป็นช่วงเวลาที่ได้เฉลิมฉลองความสุขและได้ใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนฝูง หรือทำบุญงานประเพณีต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การเตรียมพร้อมทั้งสภาพรถ สภาพร่างกาย และสภาพจิตใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย ทุกคนสามารถมีส่วนช่วยลดอุบัติเหตุและการสูญเสียในช่วงเทศกาลได้ เริ่มต้นจากตัวเราเองที่เดินทางอย่างมีวินัยและเตรียมพร้อมอย่างดี เมาไม่ขับ และไม่ขับรถเร็ว เพื่อให้เทศกาลของเรากลายเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและความทรงจำที่ดีตลอดปี ขอให้ทุกคนโชคดีตลอดการเดินทางครับ

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล และ Data Journalism