โดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
1.ความสำคัญ
ตามที่สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ทำการวิจัยผลกระทบของการดื่มแอลกอฮอล์ในยุคโลกเสรีและสังคมไทย” ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก และ สสส.เปิดเผยว่า ร้อยละ 6.2 ได้รับผลกระทบทางร่างกายหรือเพศ แม้จะมีสัดส่วนที่น้อย แต่ผลกระทบรุนแรงมากที่สุด เช่น ถูกคนดื่มผลัก ทำร้ายร่างกาย หรือถูกข่มขืน กดขี่ทางเพศจากคนในครอบครัวหรือเพื่อน อีกทั้งยัง พบว่า เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังได้รับผลกระทบจากเหล้ามือสองถึงร้อยละ 24.6 เช่น ถูกดุด่าอย่างรุนแรง ถูกทอดทิ้งในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ถูกตีทำร้ายร่างกาย เคยอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงของครอบครัว เป็นต้น ซึ่งความรุนแรงเหล่านี้ ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและใจ คุณภาพชีวิตและพัฒนาการของเด็ก ตลอดจนผลต่อการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย โดยการมีคนดื่มหนักในครอบครัวเพิ่มโอกาสที่เด็กจะได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์ 3.3 เท่า ซึ่งมักจะได้รับผลกระทบจากการดื่มของพ่อแม่มากที่สุด 5.7% คนแปลกหน้า หรือคนในชุมชน 5.7% ญาติพี่น้อง 3.5% และเพื่อน 1.4% จะเห็นได้ว่าผลกระทบจากการดื่มเกิดขึ้นได้หลากหลายเป็นวงกว้างและรอบด้าน
“จากการศึกษาพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์เพียง 1 คน ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างเฉลี่ย 2.4 คน ซึ่งประเทศไทยมีนักดื่ม 33% ของประชากร ดังนั้น จะส่งผลกระทบต่อผู้คนรอบข้างมากถึงเกือบ 56 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของคนไทย ที่จะได้รับผลกระทบ และผู้ได้รับผลกระทบจะมีการจ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเฉลี่ยคนละ 8,500 บาทต่อปี ทั้งนี้ทั่วโลกมีนักดื่มประมาณ 38% ของประชากรโลก คนที่ไม่ดื่มมีมากถึง 62% ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของโลก
องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหาผลกระทบจากแอลกอฮอล์ โดยมียุทธศาสตร์โลกว่าด้วยการลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ให้ความสำคัญในการปกป้องสิทธิและสุขภาพของผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งปัญหาสุขภาพ การบาดเจ็บ หรือถูกละเมิดสิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประชากรเปราะบาง เช่น เด็กและเยาวชน ซึ่งผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อผู้อื่นเป็น 1 ใน 4 หัวข้อสำคัญที่องค์การอนามัยโลก เร่งสนับสนุนให้ทำการศึกษาเพื่อนำข้อมูลไปใช้พัฒนานโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีประสิทธิภาพ
นักวิจัยอาวุโสระดับโลกในด้านปัญหาและนโยบายแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ที่ผ่านมางานวิจัยเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ สนใจที่ผลกระทบโดยตรงที่เกิดกับตัวผู้ดื่มเป็นหลัก ซึ่งเป็นการศึกษาเพียงด้านเดียว แต่ในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มนักวิจัยกว่า 30 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาผลกระทบของผู้ดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในสังคม เช่น ถูกรบกวนก่อความรำคาญ ถูกทำร้ายร่างกาย ทรัพย์สินถูกทำให้เสียหาย โดยสารรถที่คนขับดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ ซึ่งผลวิจัยมีข้อค้นพบสำคัญ คือ ทุกประเทศมีผู้ได้รับผลกระทบจากการดื่มจำนวนมาก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อผลกระทบเชิงลบต่อสังคมมากกว่ายาเสพติดชนิดอื่นๆ
กล่าวโดยสรุปสถานการณ์ปัญหาผลกระทบต่อเด็กเยาวชน คือ
- แต่ละปี มีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 250,000 คน การสำรวจปี 2551 มีเยาวชนอายุระหว่าง 15-19 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรอบปี จำนวนประมาณ 670,000 คน (ร้อยละ 12.7) จากประชากรกลุ่มอายุนี้ประมาณ 5 ล้านคน และแนวโน้มนักดื่มครั้งแรกเฉลี่ยอายุน้อยลง โดยผู้ชาย อายุ 13 ปี ส่วนผู้หญิงดื่มครั้งแรกอายุ 14 ปี ซึ่งการดื่มสุราในช่วงวัยเด็กเยาวชนในภาวะที่ร่างกายจิตใจกำลังพัฒนา แอลกอฮอล์ส่งผลต่อการพัฒนาการเหล่านี้
- เด็กเยาวชนเหล่านี้ อาจเป็นผู้กระทำความรุนแรง หรือการก้าวพลาด อันมีเหตุปัจจัยหนึ่งคือการดื่มแอลกอฮอล์ แล้วการเมาขาดสตินำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่างๆ ซึ่งทำให้ชีวิตการเรียนหรือการงานต้องสะดุดเสียโอกาสเสียเวลาชีวิตไปช่วงหนึ่ง หรือ อย่างน้อยที่สุด คือ การเกิดอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท ทำให้เกิดการบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต
- เด็กเยาวชนได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว จากอุบัติเหตุ จากภัยสังคมที่มีสาเหตุจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการถูกเป็นเหยื่อจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ กรณีน้องแก้ม เยาวชนที่ถูกพนักงานรถไฟทำร้ายจนเสียชีวิต กรณีตำรวจจังหวัดตรังเสียชีวิตจากการถูกคนเมาชน ขณะช่วยเหลือคนได้รับอุบัติเหตุ ซึ่งนายตำรวจผู้นี้มีลูกซึ่งยังเล็กขาดผู้นำครอบครัว เสียโอกาสต่างๆในชีวิต
- ครอบครัวไทย มากกว่า 30% ที่มีสมาชิกเป็นผู้ดื่มแอลกอฮอล์ และมีผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัว ส่งผลต่อการสร้างครอบครัวที่อบอุ่น มีความรับผิดชอบต่อลูกหลาน
จากสถานการณ์ดังกล่าว สมาคมเครือข่ายงดเหล้าและลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ จึงได้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเมา ทั้งนี้ ให้จัดกิจกรรมการกุศลต่างๆ เพื่อจะเป็นการระดมทุน และดำเนินการช่วยเหลือเร่งด่วน รวมทั้งสนับสนุนการรณรงค์ของจิตอาสาต่างๆ
2.เป้าหมายกองทุน : สร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกัน ด้วยพลเมืองจิตอาสา
3.วัตถุประสงค์
- เพื่อช่วยเหลือเด็กเยาวชนและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเมาเป็นไปตามระเบียบกองทุน
- ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่แสวงหาผลประโยชน์การเมือง และไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองกับผู้ใด
4.คณะกรรมการบริหารกองทุน
คณะกรรมการบริหารกองทุน คือ คณะกรรมการตามสมาคมเครือข่ายงดเหล้าและลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ เป็นโดยตำแหน่ง และกรรมการอาจจะแต่งตั้งบุคคลที่เห็นสมควรเพิ่มได้โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้
1.นายธีระ วัชรปราณี นายกสมาคมฯ
2.นายนิรุจน์ อุทธา ผู้ประสานงานภาคอีสานตอนบน
3.นางสาวอุบลวรรณ คงสว่าง ผู้ประสานงานภาคตะวันตก
4.นายสอน ขำปลอด ผู้ประสานงานภาคเหนือตอนล่าง
5.นายบำรุง เป็นสุข ผู้ประสานงานภาคอีสานตอนล่าง
6.นายธงชัย ยงยืน ผู้ประสานงานภาคเหนือตอนบน
7.นายทะนงชัย บูรณพิสุทธิ์ ผู้ประสานงานภาคกลางและตะวันออก
8.นายวันอาฟันดี เจ๊าะสาเหาะ ผู้ประสานงานภาคใต้ตอนล่าง
9.นายองอาจ พรหมมงคล ผู้ประสานงานภาคใต้ตอนบน
10.นางสาวพิมพ์มณี เมฆพายัพ ผู้ประสานงานส่วนกลาง
11.นางสาววมรุจี สุขสม ผู้ประสานงานส่วนกลาง
12.นายชัยณรงค์ คำแดง ผู้ประสานงานกรุงเทพมหานคร และกองเลขาฯ
ที่ปรึกษา ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการเครือข่ายงดเหล้า
อาจารย์ศรีวิชัย ทรงสุวรรณ ชมรมคนหัวใจเพชร
5.บทบาทหน้าที่
1.คณะกรรมการกองทุน ดำเนินการวางแผนนโยบายการใช้เงินกองทุน และแนวทางการระดมทุน
2.ให้มีการแต่งตั้งผู้มีสิทธิเบิกเงิน จำนวน 2 ใน 3 ให้เจ้าหน้าที่การเงินเก็บสมุดบัญชี ทำรายงานการใช้งบประมาณทุกปีเป็นอย่างน้อย
3.ดำเนินการให้มีการตรวจสอบบัญชีจากกรรมการที่แต่งตั้ง ให้โปร่งใส ทุกปี ตามหลักธรรมาภิบาล
4.ให้มีการประชุมอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี หรืออาจจะมากกว่านั้นตามเหมาะสม
6.การพิจารณาและอนุมัติเงินช่วยเหลือ
1.ขั้นตอนการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ให้ใช้แบบขอรับการเยียวยาช่วยเหลือ (แบบ ช.1) ในการเขียนเสนอโดยมีผู้ประสานงานจังหวัด หรืออาสาสมัครในพื้นที่ หรือเจ้าหน้าที่ เป็นผู้เสนอโดยให้ผู้ประสานงานภูมิภาคของเครือข่ายงดเหล้าได้ตรวจเช็คข้อมูลให้ชัดเจนอีกครั้ง เมื่อแน่ใจแล้วให้ประสานเวียนแบบพร้อมเอกสารแนบต่างๆ ให้กรรมการได้พิจารณาอนุมัติ
2.ผลการพิจารณาอนุมัติ เป็นไปตามมติของกรรมการ ถือเป็นการสิ้นสุด
3.คำจำกัดความ
ได้รับผลกระทบ หมายถึง ผลกระทบจากผู้ดื่มสุราเป็นผู้ก่อเหตุจาก อุบัติเหตุทางถนน , ทะเลาะวิวาท กระทำความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้ดื่มสุรา จนทำให้เกิดความสูญเสีย และสมควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยา
ความสูญเสีย หมายถึง เสียชีวิต บาดเจ็บทางร่างกาย พิการทุพพลภาพ และจิตใจ
ผู้สมควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยา หมายถึง ครอบครัว หรือบุคคลที่มีสถานะเศรษฐกิจของครอบครัวที่จะลำบากมากขึ้นจากความสูญเสีย
4.เกณฑ์การเพื่อช่วยเหลือเยียวยา
(1) การพิจารณาที่จะมอบเงินให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนกี่ครั้งในแต่ละปี ให้กรรมการกองทุนฯพิจารณาตามสถานภาพทางการเงินของกองทุนฯ ว่าในปีนี้มีวงเงินโดยรวมที่สามารถมอบได้เท่าไหร่
(2) กรณีเสียชีวิต ได้รับเงินช่วยเหลือในวงเงินไม่เกิน 10,000 บาท โดยมอบให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ขึ้นอยู่กับสถานะเศรษฐกิจครอบครัว
(3) กรณีบาดเจ็บ ได้รับเงินช่วยเหลือในวงเงินไม่เกิน 5,000 บาท ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสภาพปัญหา
(4) รอบการพิจารณา
1.กรณีเร่งด่วน ภายใน 3 วัน
2.กรณีทั่วไป ทุก 4 เดือน
7.ที่มาของเงินกองทุน
คณะกรรมการสามารถจัดหาทุนได้ตามแนวทางดังนี้
7.1 เงินบริจาค
7.2 รายได้หรือเงินสบทบจากการบริหารงานและกิจกรรมของนิติบุคคล
7.3 เงินอุดหนุนจากหน่วยงาน ราชการและเอกชน
7.4 ดอกเบี้ยเงินฝาก
7.5 รายได้จากการจัดกิจกรรมต่างๆ รวมทั้ง การรับดำเนินโครงการ
7.6 รายได้อื่นๆ
7.7 ไม่รับเงินจากธุรกิจแอลกอฮอล์ บุหรี่
8.บัญชีธนาคารกองทุนส่วนกลาง
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนนวมินทร์
ชื่อบัญชี กองทุนช่วยเหลือเด็กเยาวชนครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเมา
หมายเลข บัญชี 057 -0 -35812-4


