โดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ของเด็กเยาวชน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะด้านคุณภาพชีวิต และพัฒนาการเจริญเติบโต แต่ปัจจัยสำคัญของปัญหานี้ไม่ใช่พุ่งเป้าปัญหาไปที่ตัวเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นการมองในกรอบปัญหาที่แคบ ไม่เห็นปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เด็กเยาวชนต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสินค้า 2 ตัวนี้ โดยโครงการนี้ ได้เล็งเห็นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นปัญหาเหล้าบุหรี่ของนักเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษาเป็นหลัก เนื่องจากเป็นกลุ่มใหญ่ บริหารโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีสถานศึกษาในสังกัดกว่า 30,405 แห่ง จำนวนนักเรียนกว่า 6,847,609 คน จำนวนครู 376,864 คน (ข้อมูลรายงานประจำปี 2560 สพฐ.) และเป็นกลไกที่เชื่อมต่อกันจากระดับประถมศึกษาสู่มัธยมศึกษาในแต่ละจังหวัด ซึ่งกลไกของ สพฐ.ในการดำเนินงานเป็นโครงสร้างที่ใหญ่ครอบคลุมทุกจังหวัด แต่ด้วยวิธีการดำเนินงานเพื่อกำกับดูแลเครือข่ายโรงเรียนที่ใหญ่ดังกล่าวทำให้มีการควบคุมสั่งการและวางโครงสร้างยึดโยงการตัดสินความดีความชอบของสถานศึกษา การกำหนดกิจกรรมต่างๆในการเรียนการสอนที่มาจากส่วนกลาง ทำให้สถานศึกษาต่างๆ ในพื้นที่มีภารกิจมากจากการกำหนดมาจากส่วนกลาง และจะต้องดำเนินการตามแนวทางส่วนกลางของ สพฐ. เป็นหลัก ซึ่งโครงการนี้ได้เล็งเห็นโอกาสนี้ว่าหากสามารถประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัด สพฐ. ในส่วนกลางแล้วจะสามารถสร้างกระแส และสร้างกิจกรรมที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาเหล้าบุหรี่โดยใช้ต้นทุนต่ำ แต่ได้ประโยชน์มาก
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศคำสั่งให้สถานศึกษาเป็นเขตปลอดเหล้าบุหรี่ ในสมัยที่นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2561 โดยมีคำสั่งเป็นนโยบายให้สถานศึกษาเป็นเขตปลอดเหล้าบุหรี่ จัดตั้งให้มีคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานศึกษา ซึ่งผลสำรวจจากฐานข้อมูลระบบดูแลและติดตามการใช้สารเสพติดในสถานศึกษา Care and Trace addiction in school system (CATAS System) พบว่า มีจำนวนนักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาต่างๆ ในฐานข้อมูล 7,753,266 คน มีนักเรียนที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติดเหล้าบุหรี่ จำนวน 102,607 คน (1.32%) เกี่ยวข้องเฉพาะเหล้า 33% เกี่ยวข้องเฉพาะบุหรี่ 41% เกี่ยวข้องทั้งเหล้าบุหรี่ 26% (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 โดยสำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, เอกสารอัดสำเนา)
การขับเคลื่อนโครงการบูรณาการเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ เข้าสู่ระบบการศึกษา สังกัดสพฐ.นั้น โครงการได้น้อมนำพระบรมราโชวาท และกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดช มาเป็นแรงบันดาลใจ เป็นพลัง เป็นแนวทาง ด้วยการถอดรหัสคำสอนให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ และกิจกรรมลงสู่โรงเรียน โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา ครู เป็นผู้ปฏิบัติ 2 เรื่องสำคัญ คือ
1.การใช้ชีวิตของครู : พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: 25 มิถุนายน 2496
“ในการดำรงตนในภายหน้านั้น ท่านจะต้องประพฤติให้ดีให้เหมาะสมแก่ฐานะรู้จักผิดและชอบ ประกอบอาชีพโดยสัมมาอาชีวะ ไม่เสเพลและไม่ปล่อยตนให้เป็นทาสแห่งอบายมุขต่างๆ ดังนี้แล้ว ท่านก็จะสามารถเป็นที่พึ่งแก่ตนเองและครอบครัวของท่าน และจะเป็นที่นับถือของบุคคลอื่น”
2.กระบวนการเรียนการสอน : พระราชกระแสรับสั่ง เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา 3 ข้อสำคัญ คือ
1.ให้ครูรักเด็ก และให้เด็กรักครู
2.ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งขันกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าสอนเด็กช่วยสอนเพื่อที่เรียนช้ากว่า
3.ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกันเพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี


อุดมการณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทั้ง 2 ข้อนี้ได้พยายามแปลงลงสู่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง และถือว่าเป็นเป้าหมายเชิงกระบวนการของครู ซึ่งจะเห็นว่าสภาพการเรียนการสอนปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่คือเน้นการแข่งขัน มีการส่งเสริมความเป็นเลิศโดยแยกห้องเรียน Gifted ห้อง King ห้อง Queen หรือมีโรงเรียนสำหรับคนเรียนเก่งเฉพาะขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ และท่าทีบทบาทของครูก็ถูกระบบการประเมินผลความดีความชอบด้วยเอกสารผลงาน การประเมินที่เน้นผลลัพธ์ไม่เน้นกระบวนการเรียนรู้ทำให้ครูแม้จะรักเด็ก แต่ก็ไม่สามารถแสดงออกถึงความรักได้อย่างแท้จริง ดังนั้น ภูมิคุ้มกันของเด็กนักเรียนที่แท้จริงจึงเป็นแบบตามมีตามเกิด ใครต้นทุนชีวิตดีกว่าก็หลุดพ้นได้ ใครต้นทุนต่ำหากไม่มีโอกาสก็ตกเป็นทาสของอบายมุขและระบบการศึกษาที่ขาดหวิ่นของสังคมไทย
โครงการนี้ จึงหวังจะเป็นเส้นใยบางๆ ที่จะหล่อเลี้ยงหัวใจของอุดมการณ์ความเป็นครู และสร้างความต่อเนื่องของโครงการทั้งต่อเนื่องแบบปีต่อปี และต่อเนื่องแบบทำกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมทั้ง สร้างกระแสการรับรู้ต่อสังคมผ่านสื่อสาธารณะต่างๆ การประสานให้เกิดนโยบายเกี่ยวกับสถานศึกษาและพฤติกรรมครู ทั้งระดับนโยบายคือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สพฐ. และระดับโรงเรียน เพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบ และเครือข่าย เพื่อติดตามผลเป็นรูปธรรม
โครงการนี้ จึงได้ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งสามารถแบ่งเป็นระยะเวลาดำเนินงาน ดังนี้
ระยะที่ 1 ระยะการค้นหาวิธีการทำงานร่วมกับ สพฐ.ปี ก่อนปี 2554
กล่าวโดยสรุปปัญหาเหล้าในสถานศึกษานั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการยังไม่มีนโยบายชัดเจนและความคิดเห็นของนักการศึกษาส่วนใหญ่ยังเห็นว่าการดื่มเหล้าของนักเรียน หรือการดื่มของสังคมไม่ใช่ปัญหาระดับชาติ แต่อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาการสูบบุหรี่จะมีการตื่นตัวมาก่อนแล้วเพราะมีการรณรงค์และมีกฎหมายมาควบคุมการสูบบุหรี่ตั้งแต่ปี 2535 และสังคมมีมาตรการควบคุมการสูบบุหรี่มาก่อน แต่ปัญหาการดื่มเหล้าเริ่มอย่างจริงจังในช่วงที่มีการรณรงค์โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2546 เป็นต้นมา โดยรัฐบาลได้เสนอกฎหมายและผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้มีกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ในปี 2551 ซึ่งกำหนดให้สถานศึกษาเป็นเขตปลอดแอลกอฮอล์ห้ามดื่มห้ามขาย ซึ่งเมื่อระยะเริ่มต้นการใช้กฎหมายนี้ ทางโครงการได้เริ่มประสานความร่วมมือกับโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งสังกัดสำนักนวัตกรรมการศึกษา สพฐ. โดยพยายามที่จะให้โครงการโรงเรียนวิถีพุทธมีนโยบายให้โรงเรียนตระหนักในปัญหาเหล้าบุหรี่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากโครงการโรงเรียนวิถีพุทธเป็นโครงการที่มีหน่วยงานมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ดำเนินการอยู่ และมีกิจกรรมที่เน้นไปที่การกำหนดตัวชี้วัดโรงเรียนวิถีพุทธเป็นหลักผ่านกลไกศึกษานิเทศน์ในแต่ละพื้นที่การศึกษา ซึ่งในตัวชี้วัดนั้นมีเรื่องสถานศึกษาต้องปลอดเหล้าบุหรี่อยู่แล้ว แต่สิ่งที่โครงการค้นพบคือการแก้ปัญหาไม่ได้ทำอย่างจริงจัง ตัวชี้วัดไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาการดื่มและสูบบุหรี่ โดยเฉพาะปัญหาที่ครอบครัวของนักเรียนเป็นผู้ดื่มผู้สูบ ในชุมชนมีการดื่มการสูบการขาย ซึ่งข้อจำกัดของโครงการทั่วไปคือมักจะจำกัดการแก้ปัญหาที่ตัวสถานศึกษาเท่านั้น อีกทั้ง ตัวครูซึ่งเป็นแม่พิมพ์ของนักเรียนเป็นปัญหาใหญ่สำคัญที่ยังดื่มและสูบอยู่ที่ทำให้โครงการยังเข้าไม่ถึงปัญหาที่แท้จริง
ปัญหาที่ค้นพบในช่วงเวลาดังกล่าว คือ
1.โครงการของกระทรวงศึกษาที่มีอยู่เน้นสถานที่เป็นเขตปลอดเหล้าบุหรี่ ไม่ได้เน้นที่ตัวบุคคลและชุมชน ผู้ปกครองและครู ซึ่งเป็นผู้ทำให้เกิดปัญหา และต้องมีส่วนในการแก้ปัญหา
2.นักเรียนมีการสูบบุหรี่ในสถานศึกษา แต่การดื่มเหล้าจะดื่มนอกสถานศึกษา ทำให้ขอบเขตการแก้ปัญหาไม่ถึงตัวปัญหาที่แท้จริง
3.ครู พ่อแม่ และชุมชน (รวมถึงร้านค้า) คือแหล่งบ่มเพาะทัศนคติและพฤติกรรมของนักเรียน แต่ครู พ่อแม่ และชุมชนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาในพื้นที่นั้นๆ
4.กระบวนการเรียนการสอน เป็นแบบสั่งการมากกว่าการใช้ความรัก และความเข้าใจ และการเรียนรู้ปัญหาของเหล้าบุหรี่ยังเรียนแต่ตัวหนังสือไม่มีอุปกรณ์ หรือเกมส์ หรือกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมที่จะให้เกิดการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ
นอกจากนั้น กระทรวงศึกษาธิการมีการส่งเสริมให้โรงเรียนจัดการเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ และโรงเรียนคุณธรรม อย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี แต่คำว่าคุณธรรม หรือวิธีพุทธ เป็นการดำเนินการที่ไม่ได้เน้นเจาะจงปัญหาจากเหล้าบุหรี่ ทำให้ขาดความชัดเจนในการแก้ปัญหา ส่วนโครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุข โดยร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) เน้นการแก้ปัญหายาเสพติดที่ผิดกฎหมายมากกว่า ทั้งนี้ ในยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์และยาสูบระดับชาติ กำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขในสถานศึกษาสอดคล้องกับยโยบายของรัฐบาลแล้ว แต่ปัญหาดังกล่าวยังคงเป็นปัญหาสำคัญส่งผลต่อการเรียนการสอน การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กเยาวชน และครอบครัวอย่างต่อเนื่อง
ระยะที่ 2 ริเริ่มใช้รางวัลครูเป็นโครงการนำร่อง ต่อเนื่องด้วยโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา
ปี 2554 ทางโครงการนี้ จึงริเริ่มในการเสนอการมอบรางวัลครูดีไม่มีอบายมุข ปีที่ 1 เพื่อมุ่งเป้าไปที่ครูให้เกิดการตื่นตัว และสร้างเครือข่ายครูที่เล็งเห็นปัญหาจากเหล้าบุหรี่ที่แท้จริง ซึ่งครูเหล่านี้ยังมีอยู่ หลายท่านเคยประสบเหตุการณ์ในวัยเด็กที่ได้รับผลกระทบจากพ่อแม่ที่ดื่มเหล้า เป็นความรู้สึกจำฝังใจและจะพยายามป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ซ้ำเหมือนอย่างที่เขาเป็นมาก่อน โดยเป็นโครงการที่ต่อยอดออกมาจากโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ เพื่อให้สามารถดำเนินการร่วมกับ สพฐ. ได้เป็นการใช้กลยุทธ์สร้างความร่วมมือแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำจากสิ่งที่ สพฐ.มีก่อน ในปีแรกนั้นทางเลขาธิการ สพฐ. ได้มามอบรางวัลด้วยตนเอง ทำให้เกิดกระแสรับรู้จุดเริ่มต้นว่าทาง สพฐ. มีการให้รางวัลครูรางวัลในแนวคุณธรรมจริยธรรมนี้ด้วย (สพฐ.มีรางวัลมอบให้กับครูกว่า 40-50 แบบในแต่ละปีส่วนใหญ่เน้นรางวัลทางวิชาการ) นอกจากนั้น ได้ออกแบบกระบวนการมอบรางวัล คือ
1.การคัดเลือกจะใช้คุณสมบัติ 2 ส่วนคือ พฤติกรรมของครูต้องไม่ดื่มไม่สูบในปัจจุบัน และต้องมีผลงานในการแก้ปัญหาเหล้าบุหรี่ทั้งในสถานศึกษาหรือนอกสถานศึกษา และมีการตรวจทานผู้ที่เข้าข่ายได้รางวัลอย่างจริงจัง
2.ในปีแรกจะคัดเลือกโดยการใช้ความร่วมมือจากครูแกนนำโรงเรียนวิถีพุทธซึ่งมีใจที่อยากแก้ปัญหาเหล้าบุหรี่อย่างจริงจังประมาณ 15 ท่านในขณะนั้น ได้เสนอครูจำนวน 84 คนมารับรางวัล ต่อมาได้ประกาศรับสมัครโดยผ่านกลไกสื่อสารของ สพฐ. ให้ครูสามารถส่งผลงานตรงมายังคณะทำงานได้เลย ซึ่งเหตุที่ไม่เลือกใช้กลไกคัดเลือกจากพื้นที่มานั้น เพราะคณะทำงานมีประสบการณ์การคัดเลือกครูจากพื้นที่มาเป็นลำดับว่ามักจะมีการส่งคนที่ตนเองรักชอบส่วนตัวมากกว่า จึงได้ออกแบบการส่งผลงานโดยตรงและมีการตรวจสอบทานประวัติผลงานในระหว่างการพิจารณาตัดสินการมอบรางวัล
3.ในการมอบรางวัลโครงการได้ออกแบบว่าจะไม่เชิญมาแล้วมอบรางวัลเท่านั้น แต่ต้องมาเข้าค่ายการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันก่อน 2 วัน โดยได้ร่วมมือกับ อ.เกียรติวรรณ อมาตยกุล เจ้าของโรงเรียนอมาตยกุล ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบที่จัดการศึกษาแนวนีโอฮิวแมนนิส คือเน้นการเตรียมตัวของเด็กและการให้ความรัก ความปรารถนาดีอย่างชัดเจนเช่นการกอด การใช้คำพูด การแสดงออกของครู รวมทั้ง ได้นำบุคคลต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจมาเป็นวิทยากรเพื่อให้ครูได้เสริมแรงบวก ได้แก่ อ.ประมวล เพ็งจันทร์ ผู้มีชื่อเสียงด้านการค้าหาตนเอง โดยลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้วออกเดินจากเชียงใหม่มาสมุย แล้วเขียนเป็นหนังสือมีผู้สนใจอ่านมากมาย ได้มาถ่ายทอดอุดมการณ์การใช้ชีวิตและคุณค่าของความเป็นครู รวมทั้ง อ.ธนิตย์ ศรีกลิ่นดี ครูดนตรีไทยในอดีตต่อมาเป็นนักดนตรีไทยที่มีชื่อเสียง นอกจากจะได้แรงบันดาลใจแล้วยังมีเพลงขลุ่ยให้ซาบซึ้งถึงคุณค่าความหมายของความเป็นครูที่กำลังหดหายไปกับสังคมแข่งขันแบบนี้ และ อ.ระพี สาคริก ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้วนั้น ยิ่งตอกย้ำว่าอุดมการณ์เสียสละคุณค่าของตนเองนั้นยิ่งใหญ่ดังประวัติผลงานของอาจารย์ตลอดชีวิตการเป็นครูของท่าน
บุคคลทั้ง 3 ท่านที่ยกตัวอย่ามานั้น ได้ให้ข้อคิดว่าการมอบรางวัลครูดีไม่มีอบายมุขนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องรางวัลเป็นสิ่งภายนอก แต่จำเป็นต้องใช้เพื่อสร้างความยึดโยงอุดมการณ์และสร้างสายสัมพันธ์ของความเป็นครูในด้านจิตวิญญาณด้านใน รวมทั้งการสร้างกระแสสังคมครู และสังคมทั่วไปที่มองมายังอาชีพครู ซึ่งมีรูปธรรมที่แสดงให้เห็นมากกว่าหนังสือกรอบจริยธรรมครูเท่านั้น แต่จะต้องทำด้วยสติรู้ว่าอาจจะมีครูบางคนที่มารับรางวัลที่ไม่มีคุณสมบัติมากพอ ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของการมอบรางวัลทั่วไป อย่างไรก็ตาม ด้วยกระบวนการมอบรางวัลที่ต่อเนื่อง มีเครือข่ายครูที่ได่รางวัลมากขึ้น สังคมสื่อมวลชนที่จับตามากขึ้น ย่อมทำให้ครูท่านนั้นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปโดยปริยาย
4.เมื่อมอบรางวัลแล้วครูที่ได้รางวัลจะมีการดำเนินในพื้นที่ต่อได้แก่ กิจกรรมในระหว่างการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ได้แก่ โครงการโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า เป็นพื้นฐานที่ครูสามารถนำไปดำเนินการได้ และ กิจกรรมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนคือการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนโดยใช้แนวทางโรงเรียนอมายตยกุล ภายใต้โครงการโรงเรียนคำพ่อสอน ซึ่งโครงการจะพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบขยายออกไป ซึ่งการจะดำเนินการดังกล่าวได้นั้น ปัจจัยสำคัญคือการพร้อมของผู้อำนวยการโรงเรียนต้องมุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนใหม่ รื้อทิ้งกระบวนการแบบเก่าที่เน้นสั่งการ และอำนาจลงโทษ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่ต้องค่อยๆ ทำไป เพราะหากสถานศึกษานั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้แล้วนักเรียนจะมีภูมิคุ้มกันไปโดยไม่ต้องมารณรงค์ และจะปรับเปลี่ยนไปถึงครอบครัว และชุมชนด้วย
จะเห็นได้ว่า การมอบรางวัลครูดีไม่มีอบายมุข จึงเป็นหัวใจหลักของการทำงานบูรณาการร่วมกับ สพฐ. โดยใช้กิจกรรมที่ง่าย และต้นทุนต่ำ แต่ต้องการการประสานและการทำงานที่อาศัยความร่วมมือของเครือข่ายครูจิตอาสาที่เสียสละมาร่วมกันจัดงานดังกล่าว ทั้งการอ่านประวัติการพิจารณาตัดสิน และการจัดงานวันมอบรางวัลและกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าว ทั้งนี้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับการยอมรับในกระบวนการในที่สุด โดยจะพบว่าปี 2561 มีผู้ส่งใบสมัครประมาณ 20,000 คน และปี 2562 ที่ผ่านมา มีผู้ส่งใบสมัคร 35,000 คน ซึ่งจะทำการคัดเลือกให้เหลือประมาณ 300 คน
นอกจากนั้น ในแต่ละปี จะมีการมอบรางวัลครูดีไม่มีอบายมุขของแผ่นดิน โดยแบบแด่บุคคลผู้ที่เป็นแบบอย่างให้แก่ครูที่มีรับโล่ โดยมีรายนามดังนี้
ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ปี 2555
อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ปี 2556
ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว) ปี 2557
อาจารย์ ปัญญา ปุลิเวคินทร์ (ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ) ปี 2558
อาจารย์เดชา ศิริภัทร (ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ) ปี 2559
อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ปี 2560
ผศ.รัศมี กฤษณมิษ ปี 2561
ระยะที่ 3 การขยายกิจกรรมจากครูดีมีมีอบายมุข ไปสู่นโยบายดีวันครูปลอดเหล้า งานเลี้ยงวันเกษียณอายุปลอดเหล้า และโรงเรียนคำพ่อสอนต้นแบบ
การยกระดับที่สำคัญ คือการเสนอนโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความตกลงกันของเครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุข ได้แก่ การเสนอให้งานวันครูปลอดเหล้า และการจัดงานเกษียณอายุปลอดเหล้า ซึ่ง สพฐ. ก็ได้มีประกาศเป็นนโยบายออกไป ทั้งนี้ กล่าวได้ว่า งานเลี้ยงดังกล่าวทุกแห่งที่จัดขึ้นคงไม่มีที่ปลอดเหล้าหมดทุกแห่ง แต่เป็นกระแสสังคมในเครือข่ายของครูทั่วประเทศที่จะตระหนักและระมัดระวังในพฤติกรรมของตนเอง
นโยบายงานเลี้ยงเกษียณปลอดเหล้า เบียร์ บุหรี่ ปี 2561 (ปีที่ 1) โดยใช้ต้นทุนงานความร่วมมือกับ สพฐ.ให้ สพฐ.ประกาศไปยัง 225 เขตทั่วประเทศ
นโยบายงานเลี้ยงวันครูปลอดเหล้า เบียร์ บุหรี่ ในการจัดงานวันครู (ปีที่ 4 ) ใช้ต้นทุนงานความร่วมมือกับสพฐ.ให้สพฐ.ประกาศ ไปยัง ๒๒๕ เขตทั่วประเทศ


โครงการโรงเรียนคำพ่อสอนต้นแบบ โดยการรับสมัครโรงเรียนที่มีครูที่ได้รับรางวัลครูดีไม่มีอบายมุข ต้องการที่จะปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนที่บูรณาการปัญหาเหล้าบุหรี่ และเสริมรูปแบบการเรียนรู้วิชาการ
1 โรงเรียนบ้านลวงเหนือ จ.เชียงใหม่
2 โรงเรียนทุ่งฝนวิทยาคาร จ.อุดรธานี
3 โรงเรียนบ้านอ้อประชาสามัคคี จ.นครราชสีมา
4 โรงเรียนบ้านควนตะวันออก จ.ชุมพร
5 โรงเรียนวัดอัมพาวาส จ.ชุมพร
6 โรงเรียนวัดนาทิการาม จ.ชุมพร
7 โรงเรียนคลองกก จ.ชุมพร
8 โรงเรียนเขาพนมแบก จ.สุราษฎร์ธานี
9 โรงเรียนนาม่วง จ.สงขลา
10 โรงเรียนบ้านลาแล จ.ยะลา
11 โรงเรียนชุมชนบ้านยูโย จ.ปัตตานี
12 โรงเรียนคลองใหม่ จ.สมุทรปราการ
กระบวนการสำคัญ คือ การจัดอบรมครู และผู้บริหารในหลักสูตรสำคัญ 3 หลักสูตร ดังนี้
- จิตวิทยานีโอฮิวแมนนิส มุ่งเน้นให้ครูเข้าใจการสร้าง self esteem ที่มีผลต่อพฤติกรรมด้านบวก ในการลดพฤติกรรมเสี่ยง และมีทักษะวิชาการที่สร้างการเรียนรู้แบบ Active learning
- งาน พลังกลุ่ม และความสุข โดยทีมเสมสิกขาลัย มุ่งเน้นการเรียนรู้การทำงานของครูให้เป็นทีม การเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการมากกว่าการสั่งการ การเป็นผู้นำในสถานศึกษา
- การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยทีมเสมสิกขาลัย เป็นการเสริมทักษะครูในการจัดการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ
จะเห็นได้ว่า ระยะนี้ โครงการได้มีผลการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง และต่อยอดการดำเนินการไปสู่นโยบาย โดยมุมมองจากบุคลากรทางการศึกษาเห็นว่าการทำงาร่วมกับเครือข่ายงดเหล้า มีมิติที่หลากหลาย และต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยม ได้แก่ การที่ครูที่ได้รับรางวัลครูดีไม่มีอบายมุข เป็นแบบอย่างให้บุคลากรทางการศึกษาตระหนักถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักเรียน การมีนโยบายงานเลี้ยงวันครู งานเลี้ยงเกษียณอายุปลอดเหล้า อีกทั้ง การที่โรงเรียนต้นแบบที่สามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของนักเรียน และครูได้จริง และกิจกรรมในช่วงเข้าพรรษาลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า ทำให้กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมที่จะนำไปพิจารณาต่อยอดในระยะต่อไป
ระยะที่ 4 การขับเคลื่อนเครือข่ายขยายผล และการจัดทำชุดความรู้ผลสัมฤทธิ์การบูรณาการการเรียนรู้
ในการเสนอโครงการครั้งนี้ จะเป็นระยะการทำงานที่ท้าทายยิ่งขึ้น เพราะจะนำเอาผลที่ได้รับที่ดำเนินการมานั้นขยายขับเคลื่อนเครือข่าย และจะทำการสรุปถอดเป็นบทเรียนชุดความรู้ ซึ่งจะใช้ระยะเวลา 3 ปี คือปี 2563 –2565 ทั้งนี้ ในแต่ละปี จะมีแนวทางดังนี้
ปี 2563 – 2564 (กันยายน 63-สิงหาคม 64) วางกลไกครูจิตอาสาและโรงเรียนคำพ่อสอนต้นแบบ พร้อมทั้ง ทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ในการศึกษาผลสัมฤทธิ์ของกระบวนการบูรณาการ
ปี 2564 – 2565 (กันยายน 64-สิงหาคม 65) กลไกครูจิตอาสาและโรงเรียนคำพ่อสอนต้นแบบ จะดำเนินการเชื่อมเครือข่ายครูดีฯ มีการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับแนวทางพระราชดำริการปฏิรูปการศึกษา และการศึกษาในแนว Active Learning และผลการศึกษาทางวิชาการจะนำไปสู่การขยายผลทำให้นโยบายที่มีการประกาศออกมาแล้วได้นำไปปฏิบัติมากขึ้น
โดยโครงการจะเสนอเป็นระยะ 1 ปี ก่อน และจะเสนอต่อเนื่องหลังจบในระยะนี้แล้ว
นิยามศัพท์เฉพาะ
โรงเรียนคำพ่อสอน คือ โรงเรียนที่นำกระแสรับสั่ง ในการปฏิรูปการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 9 จำนวน 3 ข้อสำคัญมาปรับใช้ในการเรียนการสอน ได้แก่ 1.ให้ครูรักเด็ก และให้เด็กรักครู 2.ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งขันกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าสอนเด็กช่วยสอนเพื่อที่เรียนช้ากว่า 3.ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกันเพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี
โรงเรียนแนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ คือ การเรียนรู้ที่พัฒนาแนวคิดมาจาก พี.อาร์.ซาร์การ์ (P.R.Sarkar) โยคีชาวอินเดียที่ได้นำศาสตร์ทางตะวันออกกับความทันสมัยแบบตะวันตกมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เช่น มีการให้เด็กๆ ฝึกสมาธิ ทำโยคะ ขณะเดียวกันก็ใช้เสียงเพลงและวิธีการสอนใหม่ๆรวมเข้าไปด้วย โดยให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในเด็กเล็ก หลักสูตรการเรียนการสอนแบบ แนวนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ มีหลักการว่า สิ่งแวดล้อมและการศึกษาในวัยต้นของชีวิต(วัยเด็ก) มีอิทธิพลต่อ คุณธรรมและความสุข ส่วนความเก่งและความฉลาดของแต่ละคน เป็นศักยภาพที่มีอยู่ในตัวมนุษย์อยู่แล้ว ทั้งนี้ความเป็นคนที่สมบูรณ์นั้นต้องเกิดจากศักยภาพที่สำคัญ 4 ด้าน และการศึกษาที่่ดีต้องอาศัยศักยภาพทั้ง 4 ด้าน นี้ไปพร้อมกันด้วย คือ
1. ร่างกาย (PHYSICAL) จะต้องแข็งแรง
2. จิตใจ (MENTAL) มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์
3. ความมีน้ำใจ (SPIRITUAL) มีเมตตาช่วยเหลือคนอื่นโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน
4. วิชาการ (ACADEMIC) เรียนรู้ และฝึกฝนหาวิชาความรู้ เพื่อหนทางในการพัฒนาตนเอง
รูปแบบการเรียน จุดเด่น ของโรงเรียนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ รูปแบบการเรียนของโรงเรียนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ต้องสอดคล้องกับหลักการทั้ง 4 ข้อ คือ คลื่นสมองต่ำ การประสานของเซลล์สมอง ภาพพจน์ต่อตัวเอง และการให้ความรัก ซึ่งต้องไปด้วยกัน จะช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กให้ไปในทิศทางที่ดี
1. คลื่นสมองต่ำ
ประสิทธิภาพการทำงานของคนเราจะเปลี่ยนไปตามคลื่นสมองที่เราส่ง ยิ่งต่ำลงมากเท่าไรยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น เพราะแสดงว่ามีความสงบทางจิตใจ อารมณ์ดี ใจเย็น มีความคิดสร้างสรรค์สูง เกิดสมาธิจิตใจเป็นหนึ่งเดียวไม่ฟุ้งซ่านไม่วอกแวก
กิจกรรม : ฝึกทำโยคะ นั่งสมาธิ ก่อนเข้าห้องเรียน จะช่วยให้กล้ามเนื้อและประสาทผ่อนคลาย เป็นกิจกรรมที่สร้างให้เด็กเกิดภาวะคลื่นสมองต่ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการของการพัฒนาศักยภาพของเด็ก เช่น เตรียมความพร้อมให้เขาเรียนหนังสือได้อย่างสบายใจ หรือ กิจกรรมการเล่านิทาน การกอด เสียงเพลง ท่าที หรือแม้แต่คำพูดจากคนรอบข้าง มีส่วนทำให้คลื่นสมองต่ำได้เช่นเดียวกัน
2. การประสานของเซลล์สมอง แนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ เชื่อว่าความฉลาดเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนกันได้ ไม่ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์แต่ขึ้นกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า ความฉลาดเกิดจากเซลล์สมองประสานเข้าด้วยกัน เรียกว่า เซลล์ประสานประสาท ถ้าใครมีมากคนนั้นจะเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้เร็ว เซลล์ประสานประสาทนี้จะขยายตัวได้ดีเมื่อมือกับเท้าทำงานมาก เพราะสองส่วนนี้จะมีปลายประสาทอยู่มาก ดังนั้นกิจกรรมในแนวคิดนีโอ-ฮิวแมนนิสต์จึงเน้นให้เด็กเรียนและเคลื่อนไหวไปพร้อมกัน ให้เด็กได้ออกนอกห้อง ปีนป่าย วิ่งเล่น เพื่อให้มือกับเท้าทำงานมากที่สุด
แนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ ไม่เชื่อเรื่องให้เด็กเรียน หรือ เล่น อย่างเดียว เพราะช่วงที่สมองของคนเราเจริญเติบโตมากที่สุดคือ ช่วงอายุ 3-6 ปี ดังนั้นจึงต้องเรียนบ้าง เล่นบ้าง โดยกระจายให้เหมาะสมและใช้วิธีการที่จูงใจให้เด็กเรียนรู้ด้วยคลื่นอัลฟาหรือคลื่นสมองต่ำมากที่สุด
กิจกรรม : ผสมผสานการเรียนและการเล่นเข้าด้วยกัน เปลี่ยนการท่องจำตัวหนังสือของเด็ก มาทำให้เขารู้จักตัวหนังสือเหล่านี้ผ่านเกม ที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมกัน โดยวิ่งไปตามพื้นห้องให้เป็นรูปตัวอักษร หรือเล่นเกมบัตรคำสนุก นับตัวเลขจากสิ่งของหรือผลไม้ หากเป็นวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต พาเด็กๆ ไปสัมผัสกับประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน เช่น การไปเรียนรู้ธรรมชาติที่สวนสาธารณะ ไปดูปลาในบ่อ รู้จักสัญญาณไฟจราจรริมถนน เป็นต้น
3. ภาพพจน์ของตัวเอง (SELF CONCEPT) วัยเด็กเป็นวัยที่มีการรับรู้สูงที่สุด เป็นเรื่องของจิตใต้สำนึก จึงควรปลูกฝังเรื่องด้านบวกและเรื่องที่ดี เพราะถ้าจิตใต้สำนึกบันทึกไว้แต่เรื่องด้านลบ ได้ยินคนพูดเรื่อยๆ ว่าไม่เก่ง ซน เมื่อเด็กโตขึ้นเขาจะกลายเป็นคนที่ไม่เก่ง ซน ซุ่มซ่าม เมื่อภาพพจน์ที่มีต่อตัวเองเป็นลบ พฤติกรรมที่ออกมาก็จะเป็นลบด้วย บทบาทของครูจึงเป็นเรื่องสำคัญ แนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ พฤติกรรมของครูคือบทเรียนที่ดีที่สุดของเด็ก เช่น ถ้าครูพูดจาไพเราะ เด็กจะพูดจาไพเราะ ดังนั้นคนที่เป็นครูจึงต้องสมบูรณ์พร้อมทั้งพฤติกรรมส่วนตัวและเทคนิคการสอน เด็กจึงจะเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ
4. การให้ความรัก ถ้าเด็กรู้สึกว่าเขาได้รับความรักเต็มที่ ความรักของเด็กคนนั้นย่อมเผื่อแผ่ไปถึงผู้อื่น แต่ถ้าเด็กรู้สึกขาดความรัก เขาย่อมเรียกร้องต้องการการแสดงออกซึ่งความรัก เพื่อที่จะทำให้เขาได้รับความรัก จึงเป็นเรื่องปกติที่คุณครูในโรงเรียนนีโอ-ฮิวแมนนิสต์จะเป็นคุณครูที่มีบุคลิกอ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส ให้คำชมพร้อมสัมผัสเด็กด้วยการกอดซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความรัก
สรุปสภาพแวดล้อมเรียน และกิจกรรม การสอนแนวนีโอ-ฮิวแมนนิสต์
- แนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์สร้างบรรยากาศและกิจกรรมในโรงเรียนด้วยการให้เด็กนั่งสมาธิและเล่นโยคะ เพื่อให้เด็กอยู่ในภาวะคลื่นสมองต่ำมากที่สุด เพราะจะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพการเรียนรู้ที่ดีตามมา
- แนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์พูดคุยเรื่องข่าวสารเหตุการณ์ต่างๆ และร้องเพลงร่วมกัน เรียนรู้เรื่องของคุณค่าชีวิตในด้านต่างๆ เช่น ความสงบ ความกล้าหาญ และความสนุกสนาน ผ่านการเล่นเกมส์
- แนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์เรียนรู้เกี่ยวกับหลักศีลธรรมและท่องจำเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยสามารถอธิบาย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักศีลธรรม และประเมินผลการกระทำของตนเองได้
- แนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ให้เด็กมีโอกาสทำกิจกรรม เช่น ทำงานอาสาสมัคร ร่วมงานเทศกาลในหมู่บ้าน ไปทัศนศึกษา เพื่อให้เกิดแรงเสริมต่อการเรียนรู้ เป็นรางวัลจากการค้นพบการเรียนรู้เอง
- แนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์เรียนรู้ระบบนิเวศวิทยา ชีววิทยา วิทยาศาสตร์ การเกษตร และภูมิศาสตร์ จากการทำสวน ให้เด็กได้ดูแลต้นไม้ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ได้อยู่กับธรรมชาติ ฤดูกาล และได้รู้จักชีวิตความเป็นอยู่โดยรอบ
- แนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ฝึกให้เด็กมีระเบียบวินัย
- แนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ให้กำลังใจ ให้รางวัล ด้วยการคิดและพูดในสิ่งที่ดีอยู่เสมอ
สิ่งที่เด็กจะได้รับจากแนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์
โรงเรียนแนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ จะช่วยพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกให้เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยใช้กิจกรรมเพื่อพัฒนาในทุกด้านของชีวิต ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) จะทำให้คนเรามีความสุขในชีวิตได้ง่าย มุ่งมั่นในการกระทำจนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างมีความสุข ใช้ชีวิตอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ มุ่งพัฒนา อัจฉริยภาพในตัวเด็กทุกคนให้ปรากฏออกมามากที่สุด โดยจะพัฒนาเด็กให้เป็นคนสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจด้วย
โรงเรียนที่เปิดสอนแนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ โรงเรียนอมาตยกุล
Website : http://www.amatyakulschool.com/
แหล่งที่มา เวปไซต์รักลูก

โครงการมอบโล่รางวัลครูดี โรงเรียนดี ไม่มีอบายมุข ครั้งที่ 9
โดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
ข่าวงดเหล้าทั่วไทย, วันที่ 7 มกราคม 63 / อ่าน : 745

ศธ. หนุน สพฐ. – สสส. เครือข่ายงดเหล้าและภาคีเครือข่าย มอบโล่รางวัลครูดีไม่มีอบายมุข 426 คน และโรงเรียนดีไม่มีอบายมุข 27 แห่ง
ร่วมประกาศเจตนารมณ์และยื่นข้อเสนอให้เกิดการจัดการศึกษา เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ อบายมุขและการพนัน ให้ประเทศชาติ ในขณะที่ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่า เด็กและเยาวชน อายุ15–24 ปี หรือกลุ่ม “นักดื่มหน้าใหม่” จำนวน 2,282,523 คน หรือร้อยละ 23.91 หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของเยาวชนทั้งหมด อาจเป็นนักดื่มประจำและนักดื่มหนักเพิ่มมากขึ้น

วันที่ 6 มกราคม 2563 เวลา 10.00 น. นายอนายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) เป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณครูดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 9) และโรงเรียนดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 4) ประจำปี พุทธศักราช 2562 ทั้งนี้นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณครั้งนี้ โครงการครูดีไม่มีอบายมุข จัดโดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.), เครือข่ายโรงเรียนคำพ่อสอน, เครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุข ซึ่งได้คัดเลือกบุคลากรการศึกษาที่มีคุณสมบัติปลอดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด บุหรี่ และการพนัน อีกทั้งทำหน้าที่ ช่วยเหลือนักเรียน ชุมชน ให้มีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดอบายมุข เครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุข 4 ภาค ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ และนำข้อเสนอให้เกิดการจัดการศึกษา เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ อบายมุขให้ประเทศ เพื่อเป็นข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
นายอนายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการครูดีไม่มีอบายมุข และโรงเรียนดีไม่มีอบายมุข เป็นโครงการที่ดี และมีความสำคัญอย่างยิ่งเป็นรางวัลที่ไม่ต้องแข่งขันกับใครแต่เป็นการแข่งกับใจตนเอง นับเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ พิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “ครูดีไม่มีอบายมุข” ทำให้เห็นว่าการดำรงตนอยู่ในศีลธรรมปลอดอบายมุขเป็นสิ่งสำคัญที่สังคมปรารถนาให้มี โดยเฉพาะผู้เป็นครู ซึ่งทำหน้าที่อบรมบ่มเพราะลูกหลานไทย การที่จะร่วมกันจัดการศึกษาเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ ให้ประเทศชาติ ซึ่งมีผลต่อข้าราชการครู ตั้งแต่ระดับครูผู้สอน ผู้บริหารสถานศึกษาลงมาถึงเยาวชน ครอบครัว ให้ปลอดภัยจากอบายมุข เหล้า เบียร์ บุหรี่ การและพนัน ด้วยอบายมุขทำความเสียหายให้กับการศึกษา สังคม ประเทศชาติ โดยเฉพาะความเสียหายต่อเยาวชนที่กำลังเติบโต เขาต้องอาศัย พ่อแม่ และครู เป็นผู้บ่มเพาะหล่อหลอมให้มีปัญญา รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และให้มีศีลธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิตต่อไป

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีล่าสุด (2560) โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่า เด็กและเยาวชน อายุ 15-24 ปี หรือกลุ่ม “นักดื่มหน้าใหม่” จำนวน 2,282,523 คน หรือร้อยละ 23.91 หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของเยาวชนทั้งหมด ที่ระบุว่าดื่มสุราในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา โดยนักดื่มประจำและนักดื่มหนักมีสัดส่วนลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (นักดื่มประจำ ข้อมูลปี 2557 จำนวน 703,885 คน ปี 2560 จำนวน 684,598 คน ส่วนนักดื่มหนัก ข้อมูลปี 2557 จำนวน 1,122,797 คน ปี 2560 จำนวน 1,005,462 คน ซึ่งในวันข้างหน้าประเทศไทยอาจมีเยาวชนที่เป็นนักดื่มประจำและนักดื่มหนักเพิ่มมากขึ้น
สำหรับผู้เข้าร่วมการรับโล่ประกาศเกียรติคุณครั้งนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 453 คน เป็นโล่ประกาศเกียรติคุณประเภทครูดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 9) จำนวน 426 คน ได้แก่ (1.)ระดับบุคลากรเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 18 คน (2) ระดับผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 83 คน (3) ระดับครูผู้สอน จำนวน 325 คน และโล่ประกาศเกียรติคุณโรงเรียนดีไม่มีอบายมุข(รุ่นที่ 4) จำนวน 27 โรงเรียน
ดร.ประพจน์ แย้มทิม ผู้อำนวยการโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย จังหวัดสมุทรสาคร สพม.10 ประธานเครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุข (รุ่นที่ 9) รับโล่โรงเรียนดีไม่มีอบายมุข กล่าวว่า หลังจากการประชุมปฏิบัติการระดับชาติ “การจัด การศึกษา เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ ด้วยคำพ่อสอน” ครั้งที่ 4 เครือข่ายครูดีไม่มีออบายมุข และโรงเรียนดีไม่มีอบายมุข 4 ภาค ได้มีการร่วมกันตั้งปณิธาน และร่วมกันหารือวิธีการแก้ไขปัญหา เพื่อเป็นข้อเสนอให้เกิดการจัดการศึกษา เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า บุหรี่ อบายมุขให้ประเทศ
ต่อท่านเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
(1) ควรมีนโยบายที่สนับสนุนโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้า เบียร์ บุหรี่ อบายมุข ที่ลงสู่ผู้เรียนโดยตรง เช่น โครงการโรงเรียนคำพ่อสอน ครูดีไม่มีอบายมุข
(2)ปรับปรุงหลักสูตรเรื่องการลดละเลิกเหล้าเบียร์บุหรี่อบายมุข ให้ครอบคลุมทุกประเภทการศึกษาและทุกช่วงวัย
(3)สนับสนุนให้ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ได้รับการพัฒนายกระดับจิตวิญญาณ เพื่อเป็นแบบอย่างในการเลิกอบายมุข
(4) กระทรวงฯ เป็นแกนหลักประสานความร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เรื่องการปลอดเหล้า เบียร์ บุหรี่ อย่างเป็นรูปธรรม
(5) สร้างขวัญกำลังใจแก่ครูดีไม่มีอบายมุขโดยกำหนดเป็นเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผล และการเลื่อนวิทยฐานะ

นางสาวริมล โพธิ์ชัยรัตน์ โรงเรียนคลองใหม่ จ.สมุทรปราการ ผู้รับโล่ครูดีไม่มีอบายมุขรุ่นที่ 9 กล่าวว่า กิจกรรมที่พานักเรียนทำคือ กิจกรรมพี่สอนน้อง คือพี่มัธยม ม. 3 สอนน้องประถม เขียนจดหมายขอให้พ่อ-แม่เลิกเหล้าเข้าพรรษาในปีที่ผ่านมา เมื่อผู้ปกครองได้รับจดหมายก็จะตื้นตันเพราะไม่เคยได้รับจดหมายจากลูกมาก่อน บางคนก็อาจจะรู้สึกผิด บางคนก็ประทับใจ และได้งดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา บางคนมีแนวโน้มว่าจะเลิกเหล้าตลอดไปเพื่อลูก นับว่าเห็นผลชัดเจน ตัวอย่างของทางโรงเรียนฯ เคสของน้องไปรท์ ที่เขียนจดหมายชวนคุณพ่อให้เลิกเหล้าได้สำเร็จ และมีโอกาสเข้าพบท่านนายกฯ พร้อมกับพี่มัธยมที่ทำกระบวนการพี่สอนน้องด้วย กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ดีมาก ไม่ใช่สอนเฉพาะตัวบุคคลเอง ได้ช่วยเหลือครอบครัวและช่วยเหลือสังคมอีกด้วย ตราบใดที่ยังเป็นคุณครู จะทำหน้าที่เช่นนี้ จะสอนสิ่งที่ดีๆ จะเป็นแบบอย่างที่ดี จากที่ได้เข้ามาสัมผัสและเริ่มเข้ามาเป็นครูจิตอาสาในเครือข่ายครูดีไม่มีอบายมุขนี้เพราะตั้งใจทำเพื่อพ่อหลวง ร. 9 คนที่อยู่บนฟ้า ที่คอยมองดูพวกเราอยู่เสมอ ในขณะที่สังคมยังแย่อยู่เราต้องช่วยกันสร้างให้ดีขึ้นให้ได้

นางศศิธร บุตรเมือง ผอ.โรงเรียนบ้านสันดาบ สพป.สมุทรสาคร ผู้รับโล่ครูดีไม่มีอบายมุขรุ่นที่ 9 กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางโรงเรียนเข้าร่วมเป็นเครือข่ายโรงเรียนคำพ่อสอน และได้ทำกิจกรรมตามแนวทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนเรื่องความพอเพียง ปลอดอบายมุขและ ตระหนักในโทษภัยของเหล้า บุหรี่ ในปีที่แล้วจึงได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนดีฯ รับโล่ในนามโรงเรียนดีไม่มีอบายมุขรุ่น 3 ปีการศึกษา 2561 และปีนี้ก็สามารถได้รับการคัดเลือกได้มารับโล่เป็นรางวัลครูดีไม่มีอบายมุขรุ่น 9 ปีการศึกษา 2562 ต่อเนื่องกันค่ะ สำหรับกิจกรรมให้ครูรักเด็กให้เด็กรักครูซึ่งจะทำให้เด็กและครู มีความใกล้ชิดและเข้าใจกันมากขึ้น มีกิจกรรมเยี่ยมบ้าน เพื่อจะได้รับทราบถึงปัญหาโดยจะนำมาวิเคราะห์กันเป็นรายบุคคลเพื่อช่วยเหลือครอบครัวในชุมชน มีปัญหาเรื่องการดื่มเหล้าและการพนัน ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เมื่อทางโรงเรียนได้รับโล่โรงเรียนดีไม่มีอบายมุขมาแล้วนั้น ทำให้ชุมชนโดยรอบ มีความตระหนักมากขึ้นในเรื่องของอบายมุขต่างๆ
โครงการโรงเรียนคำพ่อสอน บูรณาการการเรียนรู้พร้อมไปกับแก้ปัญหาเหล้าบุหรี่
โดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า

เครือข่ายงดเหล้า-สสส.ภูมิใจโรงเรียนก้าวตามพ่อ น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ปีที่3 เพื่อแก้ปัญหาเหล้าบุหรี่ปัจจัยเสี่ยงเห็นผลชัดเจน พร้อมขอให้กระทรวงศึกษานำแนวทางไปใช้ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร13ตุลาคม นี้
วันที่ 5 ต.ค. ที่ห้องประชุมคุรุสภา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดแถลงรายงานผลการดำเนินงานปีที่ 3 โรงเรียนต้นแบบก้าวตามพ่อ น้อมนำกระแสพระราชดำรัสรัชกาลที่ 9 ได้แก่ 1.ให้ครูรักเด็ก และให้เด็กรักครู 2.ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งขันกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าสอนเด็กช่วยสอนเพื่อที่เรียนช้ากว่า 3.ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกันเพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี โดยมีโรงเรียนต้นแบบ 12 แห่ง
นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานแถลงผลงาน กล่าวว่า รู้สึกยินดีและประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ที่เห็นโรงเรียนได้แสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการน้อมนำคำสอนของพระองค์ท่าน มาสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยที่นำไปสู่การเป็นคนดี มีศีลธรรม พึ่งตนเองได้ ปลอดอบายมุข และได้นำผลจากการทำดีนั้น น้อมถวายเป็นพระราชสักการะ โดยน้อมนำคำสอนของพระองค์ท่านมาปฏิบัติเป็นก้าวที่ 2 คือ “สร้างความดีที่ตน ด้วยทศพิธราชธรรม สร้างอาหารให้เราและโลกด้วย โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งภาพรวมการขับเคลื่อนโรงเรียนคำพ่อสอนนั้น ตรงตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่นักเรียน 4 ด้าน คือ 1. มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม 3.มีงานทำ-มีอาชีพ และ4.การเป็นพลเมืองดี
ผศ.ดร.วิไลลักษณ์ ลังกา คณะศึกษาศาสตร์ มศว. ได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่องการสังเคราะห์องค์ความรู้กระบวนการพัฒนาครูผ่านโรงเรียนคำพ่อสอนที่ส่งผลต่อสมรรถนะการเรียนรู้ และพฤติกรรมการปกป้องตนเองจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารเสพติด โดยใช้โมเดลเชิงเหตุปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการปกป้องตนเองจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บุหรี่ และสารเสพติดของนักเรียน พบว่า กระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางโรงเรียนคำพ่อสอน คือ การปรับเปลี่ยนคุณลักษณะของครูให้สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน ได้แก่ ทักษะการแสดงความรัก ทักษะการฟังอย่างเข้าใจ ทักษะด้านจิตตะศึกษา ทักษะการถามเพื่อการเรียนรู้ เป็นต้น ซึ่งผลการวิจัยพบว่า ทำให้นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อโครงการในระดับคะแนน 4.57 จาก 5 และเกิดความตระหนักรู้ในโทษของแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติด ในระดับ 3.83 จาก 4 จนเกิดเป็นพฤติกรรมการปกป้องตนเองได้ ในระดับ 3.45 จาก 4 รวมทั้ง ได้ติดตามสอบถามเชิงคุณภาพในสถานศึกษาแล้วพบว่าความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนดีมาก ผลการเรียนดีขึ้น และชุมชนมีความพอใจ ซึ่งการปรับคุณลักษณะครู คือคำตอบในการปฏิรูปการศึกษาซึ่งโครงการนี้เอาปัญหาปัจจัยเสี่ยงมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาการศึกษาในโรงเรียนได้สำเร็จ
น.ส.ริมล โพธิ์ชัยรัตน์ ครูโรงเรียนคลองใหม่ จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า โรงเรียนคลองใหม่ เป็นโรงเรียนระดับขยายโอกาสในชุมชนที่แวดล้อมด้วยโรงงาน และชุมชนส่วนใหญ่ที่มีอาชีพรับจ้าง โดยมีนักเรียนหลายคนจะประสบปัญหาในครอบครัว การใช้ชีวิต โดยเฉพาะผู้ปกครองมีการดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อเด็กนักเรียนเมื่อโรงเรียนได้เริ่มใช้กระบวนการตามกระแสพระราชดำรัส โดยเริ่มเปลี่ยนที่ครูให้ครูเปิดประตูหัวใจให้ครูรักเด็กและให้เด็กรักครูก่อน รวมทั้งการสอนให้เราใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตตัวเองโดยก่อนเข้าร่วมกิจกรรม ครูเป็นคนที่ใจร้อนมาก และเป็นคนที่มุ่งมั่นแต่เรื่องของการสอนเพียงอย่างเดียว จนมองข้ามการให้ความรักกับนักเรียน การเรียนการสอนจึงค่อนข้างตึงเครียด เกิดช่องว่างระหว่างครูและนักเรียนขึ้นมา หลังเข้าร่วมโครงการทำให้ใจเย็นมากขึ้นและพร้อมที่จะรับฟังปัญหาต่างๆ ของเด็กเสมอ บรรยากาศในการเรียนเต็มไปด้วยความรักและความเข้าใจ และก็เป็นผลให้คะแนน O-Net วิชาภาษาอังกฤษ ในปีที่ผ่านมาเพิ่มมากขึ้น
น.ส.นาวิกา สมไสยา นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนทุ่งฝนวิทยาคาร จ.อุดรธานี กล่าวว่า ตนเองอาศัยอยู่กับตายาย ทำให้รู้สึกว่าห่างไกลจากพ่อแม่ จึงรวมกลุ่มกับเพื่อนตั้งแต่ตอนเรียน ม.ต้น ใช้ชีวิตเที่ยวเตร่ ดื่มเหล้าเบียร์สูบบุหรี่ ทำตัวต่อต้านสังคม มีปากเสียงกับครูตลอด แต่จุดเปลี่ยนของชีวิตโดยตนเองเริ่มคิดว่าทำไมเราทำตัวแย่ แต่ก็ไม่กล้า ไม่รู้ที่จะแก้ตัวอย่างไร พอดีมีครูสุดารัตน์ แสงสิทธิ์ ซึ่งสอนวิชาภาษาอังกฤษ ครูได้สอบถามและให้กำลังใจตนเอง ให้เวลากับตนเองที่จะพูดคุยด้วย ทำให้เกิดความมั่นใจและรู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำมานั้นก้าวพลาดนั้น ยังสามารถแก้ไขได้โดยคุณครูให้โอกาส ให้ความรัก ตามแนวทางของโรงเรียนคำพ่อสอน ทำให้ตนเองกลับมาใหม่ได้ และปัจจุบันเป็นรองประธานนักเรียน จึงมั่นใจว่าหากครูเปลี่ยนแปลงและให้โอกาสรับฟัง นักเรียนทุกคนจะมีที่พึ่ง จึงอยากให้กระทรวงศึกษาธิการนำแนวทางเน้นให้ครูเปลี่ยนความคิดความเชื่อ แล้วนักเรียนจะมีความสุข และไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวกับเหล้าบุหรี่ยาเสพติด

เด็กชายพีรวุธ สอนสุวรรณ นักเรียนชั้นป.5 โรงเรียนบ้านควนตะวันออก จ.ชุมพร กล่าวว่า ก่อนที่โรงเรียนจะเข้าโครงการนี้ ผมรู้สึกกลัวครูเพราะครูเสียงดัง ไม่กล้าอยู่ใกล้ครู ไม่กล้าพูดคุยกับครู กลัวครู ไม่กล้าช่วยคุณครูทำงาน แต่พอโรงเรียนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนคำพ่อสอน คุณครูใจดีมากขึ้น มีเหตุผล ไม่ดุด่า ทำร้ายจิตใจ และไม่ลงโทษให้เกิดความเจ็บปวด ตอนนี้ผมรักครู สนิทกับครู กล้าพูดคุยปรึกษาคุณครูมากขึ้น แม้เรื่องส่วนตัวก็กล้าปรึกษา เช่นเรื่องพ่อแม่ และตอนนี้ผมมีน้ำใจ อยากช่วยงานครู
นายธีระ วัชรปราณี ผจก.เครือข่ายงดเหล้า กล่าวว่า โครงการจะดำเนินการพัฒนาต้นแบบ และขยายผลเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับสถานศึกษาที่สนใจอยากปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในกระแสครูใช้ความรุนแรงกับนักเรียน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะทิศทางการศึกษาของเราเน้นไปที่ความสำเร็จและผลการเรียน มากกว่าจะเน้นการสร้างความสัมพันธ์ และการแก้ปัญหาความเสี่ยงของนักเรียน เช่น ในครอบครัวที่ดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้นักเรียนไม่มีความสุข แต่โรงเรียนสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียนได้
โครงการโพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า (ภายใต้โรงเรียนคำพ่อสอน)
โดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
ความสำคัญ นักเรียนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่ผู้ปกครองดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นักเรียนประสบปัญหาไม่มีความพร้อมในการเรียนรู้ หากมีพ่อแม่ผู้ปกครองดื่มเหล้าจะนำมาซึ่งความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ และเกิดการซึมซับพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากครอบครัวและอิทธิพลจากการโฆษณาในรูปแบบต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ดื่ม ทำให้เกิดผู้ดื่มหน้าใหม่ และก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา
ในขณะเดียวกันลูกก็มีอิทธิพลต่อพ่อแม่ด้วยเช่นกัน ด้วยสายสัมพันธ์ความรัก ถ้าคุณครูออกแบบการเรียนรู้ให้ลูกๆ ช่วยให้พ่อแม่ เลิกเหล้า โดยให้พี่ๆ ไปสอนน้อง บทเรียนและประสบการณ์ตรงเหล่านี้ จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับเด็กๆ ทั้งพี่และน้อง
การที่เด็กๆ ทั้งพี่และน้อง ได้ทำกิจกรรม เขียนจดหมายสื่อรัก ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองเลิกเหล้านั้น เป็นการเรียนรู้แบบซึมซับผ่านประสบการณ์ตรงด้วยโจทย์ในชีวิตจริงของครอบครัว จะทำให้เด็กๆ เกิดความตระหนักอย่าง มีพลัง
ผลที่ได้รับปีที่ผ่านมา มีสถานศึกษาเข้าร่วม ๑,๙๗๙ แห่ง โดยสามารถรวบรวมข้อมูลได้ ๓๗๗ แห่ง ซึ่งมีข้อมูลคือ มีผู้ปกครองงดเหล้าครบพรรษา ๑๖,๖๙๑ คน ผู้บริหารและคุณครูงดเหล้าครบพรรษา ๔,๖๖๒ คนนักเรียนเขียนจดหมายสื่อรักขอพ่อแม่เลิกเหล้า ๒๒,๗๒๒ คน นักเรียนที่พ่อแม่ไม่ดื่มก็เขียนจดหมายขอบคุณ ๒๑,๙๙๗ คน และเราได้ขออนุญาตครอบครัวของนักเรียน นำกรณีศึกษาที่คุณพ่อเลิกเหล้าได้มาทำสื่อสร้างสรรค์ เพื่อสร้าง แรงบันดาลใจให้กับโรงเรียนอื่นๆ
เป้าหมายปี ๒๕๖๓ : เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด๑๙ สถานศึกษาต้องปรับการเรียนการสอน จำนวนสถานศึกษาที่เข้าร่วมตั้งไว้ที่ ๑,๐๐๐ แห่ง โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการเปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการ
Link http://www.xn--42cf8cbyvfb1e3ab0d9a5l1a0itd.com/forms/form1

พื้นที่ต้นแบบ : โรงเรียนคลองใหม่ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สมุทรปราการเขต ๑

โรงเรียนได้ร่วมโครงการโรงเรียนคำพ่อสอน ตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ ผู้อำนวยการโรงเรียน ชื่อนายสราวุธ พิบูลย์สวัสดิ์ ได้สนับสนุนให้ครูเข้าร่วมโครงการโรงเรียนคำพ่อสอน ซึ่งน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในเรื่องการศึกษาว่า
๑ ให้ครูรักเด็ก และให้เด็กรักครู
๒.ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แค่ให้แข่งกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า
๓.ให้ครูจัดกิจกรรมให้เด็กทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี..”
ซึ่งในปี ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา โรงเรียนได้นำแนวคิดว่า พี่สอนน้อง ส่งเสริมให้นักเรียนรุ่นพี่ได้ช่วยคุณครูในการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหา เพราะเด็กๆ ด้วยกันจะเข้าใจและสื่อสารกันได้ดี อีกทั้งเป็นการเสริมพลังความมั่นใจของรุ่นพี่ (self esteem) โดยในปีนี้ ทางโรงเรียนต้องปรับการเรียนรู้ของนักเรียน โดยการสลับนักเรียนมาโรงเรียน แต่ไม่ได้ทำให้เป็นอุปสรรคที่จะดำเนินโครงการ พี่สอนน้องชวนพ่อแม่หยุดเหล้า อีกทั้ง จะเป็นการเรียนรู้พิษภัยและการระมัดระวังเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ๑๙

พี่สอนน้องเขาพาทำอะไรบ้าง :
เด็กชายศิวกานต์ ศรีเพชร (น้องบอส) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ โรงเรียนคลองใหม่ จ.สมุทรปราการ
พี่ๆ สอนให้เขียนจดหมายสื่อรัก ขอให้พ่อกับแม่เลิกเหล้า
ผมอยากให้พ่อเลิกเหล้า จึงได้เขียนจดหมายสื่อรักให้พ่อ บอกพ่อว่า “ผมรักพ่อครับ”
..เมื่อก่อนพ่อชอบดื่มเหล้า บางวันพ่อก็จะดื่มเหล้าอย่างเดียวเลย
แม่ก็เคยขอให้พ่อเลิกดื่มเหล้า แต่ก็ไม่สำเร็จ พี่ๆก็สอนเขียนจดหมายบอกพ่อ..
รู้สึกว่าพ่อก็จะมีแรงสู้ขึ้นมาเลย ดีใจมากๆ ครับ

คุณสุมาลี ศรีเพชร ผู้ปกครองของน้องบอส
เมื่อก่อนคุณพ่อก็เคยอยากเลิกแต่ก็เลิกไม่ได้ซักที อาจจะไม่มีแรงบันดาลใจว่าจะทำเพื่อใคร
แต่พอที่โรงเรียนมีกิจกรรมนี้ มีพี่สอนน้องเขียนจดหมายมาให้คุณพ่อ
คุณพ่อเขาจะเกิดความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าสำหรับลูก และทางโรงเรียนก็ให้ความสำคัญให้คุณค่า
กับเรื่องนี้ ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวมาก
ได้อะไรจากกิจกรรมพี่สอนน้อง :
นายฉัตรมงคล จินดางาม (น้องเบิร์ด) เยาวชนโพธิสัตว์น้อยฯ กลุ่มพี่สอนน้อง
จากโรงเรียนคลองใหม่ จ.สมุทรปราการ
เมื่อก่อนผมเคยเป็นเด็กขี้เกียจจะอยู่เฉยๆ ไม่ชอบเขาหาน้องๆ แต่พอได้ทำกิจกรรมตรงนี้ คิดว่าสามารถ ปลูกจิตสำนึกผมขึ้นมาได้ว่าผมควรสอนน้องๆ ในทางที่ดีและผมก็เห็นว่าเพื่อนๆ คนอื่นๆ ก็เข้ากับน้องๆ ได้ดีเพราะในเวลาพักเที่ยงก็จะมีน้องๆ วิ่งเข้ามาหามาเล่นด้วยบางทีตอนพี่ๆสอบน้องๆ ก็จะมาให้กำลังใจรู้สึกดีมากๆ เลยครับ

น้องเบิร์ด (ถือไมค์)
น้องๆ มีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างไร
คุณอารีวรรณ จินดาราม ผู้ปกครองของน้องเบิร์ด
เปลี่ยนแปลงจริงๆ จากเดิมที่น้องเบิร์ดไม่เคยพูดคุยไม่เล่นด้วยกัน ไม่เคยนอนคุยกัน เดี๋ยวนี้ ดีขึ้นมากๆ
อยู่ที่บ้านก็จะสอนน้อง สอนทำการบ้าน สอนน้องว่าเราเป็นพี่เป็นน้องกันเราต้องรักกัน ช่วยเหลือกัน
สอนให้น้องพูดจาดีดีอย่าว่าพ่อแม่ ต้องพูดเพราะๆ เวลาตื่นมาเมื่อก่อนจะไม่ค่อยทำอะไร
เดี๋ยวนี้เขาทำเองหมดงานไหนที่เขาช่วยพ่อแม่ได้ เขาก็จะทำเลยไม่ต้องบอกไม่ต้องว่าเหมือนก่อน
ประทับใจอะไรบ้าง สำหรับกิจกรรมพี่สอนน้องชวนพ่อแม่เลิกเหล้า
น.ส.พนารัตน์ กุลกำพล ครูประจำชั้นประถมศึกษา โรงเรียนคลองใหม่ จ.สมุทรปราการ
กิจกรรมนี้ ทำให้เกิดความประทับใจหลายอย่าง ที่สุดเลยก็คือ ประทับใจผู้ปกครอง
ที่เขาสามารถเลิกเหล้าได้ในช่วงเข้าพรรษา ระยะเวลาสั้นๆเพียง ๓ เดือน เขาก็เลิกเหล้าได้แล้ว
บางคนก็อาจจะยังเลิกไม่ได้ แต่เขาก็มีความพยายามที่จะเลิก
หลังจากทำกิจกรรมช่วงเข้าพรรษาผ่านไปแล้ว หลายคนก็สามารถเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ได้
กิจกรรมพี่สอนน้องทำให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงได้
น.ส.ริมล โพธิ์รัตน์ ครูประจำชั้นนักเรียนมัธยม โรงเรียนคลองใหม่ จ.สมุทรปราการ
เด็กๆ เปลี่ยนแปลง จากที่เคยเอาเปรียบเพื่อนเขาก็เริ่มทำอะไรเพื่อคนอื่น จากบางคนที่บอกว่าไม่เคยรักเด็ก ไม่เคยคิดจะดูแลน้องเล็กๆ แต่ตอนนี้เขาดูแลกัน มีความผูกพันกัน และครูก็รู้สึกว่าครูมีคุณค่ามากขึ้นด้วย
กิจกรรมโพธิสัตว์น้อยชวนพ่อแม่เลิกเหล้าจะมีส่วนในการหยุดโควิด-๑๙ ได้อย่างไร
หยุดได้..เพราะคนที่ไม่ไปปาร์ตี้สังสรรค์ก็จะไม่ไปรวมตัวกัน เขาก็อยู่บ้านตัวเองอยู่กับครอบครัว เมื่อไม่ไปรวมกันอยู่ โควิดก็จะไม่เพิ่มการแพร่ระบาด ไม่มีการแพร่กระจายเชื้อได้
