ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ทั้งนี้เหตุผลหนึ่งมาจากผู้หญิงสามารถทำงานและมีรายได้เป็นของตนเองรวมถึงสังคมให้การยอมรับการดื่มของผู้หญิงมากขึ้น อย่างไรก็ตามเพื่อเข้าใจเหตุผลว่าทำไมผู้หญิงจึงดื่มมากขึ้น บทความนี้จึงนำเสนอปัจจัยของการดื่มและผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในผู้หญิง
แนวโน้มของการดื่มแอลกอฮอล์
การสำรวจของสำนักงานสถิติ (2564) พบว่าในภาพรวมอัตราการดื่มเครืองดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มลดลง โดยลดลงจากร้อยละ 28.4 ในปี 2560 เหลือร้อยละ 28.0 ในปี 2564 อย่างไรก็ตามเมื่อจำแนกตามเพศและเปรียบเทียบระหว่างผลการสำรวจสองครั้งล่าสุดคือปี 2560 และปี 2564 พบว่าอัตราการดื่มของเพศชายลดลง (จากร้อยละ 47.5 ในปี 2560 เหลือร้อยละ 46.4 ในปี 2564) แต่อัตราการดื่มของเพศหญิงเพิ่มขึ้น (จากร้อยละ 10.6 ในปี 2560 เพิ่มเป็นร้อยละ 10.8 ในปี 2564)
ทำไมอัตราการดื่มของผู้หญิงจึงเพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้อัตราการดื่มของผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยด้านความเชื่อและทัศนคติ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และปัจจัยด้านสังคม ดังนี้
ปัจจัยด้านความเชื่อและทัศนคติ
1. ความเชื่อว่า การดื่มสุราทำให้สนุกสนาน (เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2562a และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2554)
2. ความเชื่อว่า การดื่มเป็นการเข้าสังคมและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (เผ่าไทย สินอำพล, 2560)
3. การดื่มสุราทำให้กล้าแสดงออก (เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2562a)
4. ผู้หญิงต้องการได้รับการยอมรับว่า เป็นคนมั่นใจ (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2554)
5. ความเชื่อว่า การดื่มสุราทำให้คลายเครียด เพราะมีปัญหาครอบครัว หรือความไม่สบายใจต่างๆ (เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2562a)
6. ความเชื่อว่า การดื่มทำนอนหลับง่าย โดยเฉพาะเวลาเครียด หรือหลังจากการทำงานหนักๆ จนปวดเมื่อยร่างกาย (เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2562a)
7. ความเชื่อว่า การดื่มเป็นการหลีกเลี่ยงความทุกข์ (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2554)
8. ความเชื่อว่า การดื่มยาดองเหล้าหลังคลอดเป็นยาบำรุงร่างกาย ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว (เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2562a และ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา, 2556)
9. ความเชื่อว่า ดื่มเป็นยาบำรุงกำลังโดยการดื่มยาดองจะทำให้มีแรงทำงาน รับประทานอาหารอร่อย และทำให้นอนหลับสนิท (เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2562a)
10. ความเชื่อว่า ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตต่ำ การดื่มช่วยเพิ่มความดันโลหิตได้ (เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2562a)
11. ความเชื่อว่า เป็นเรื่องปกติที่ต้องดื่มในงานเลี้ยง งานฉลอง และงานเทศกาลต่างๆ (เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2562a)
12. คิดว่าเป็นธรรรมเนียมที่ต้องดื่มหลังจากงานสำเร็จ เช่นเมื่อทำไร่เสร็จเจ้าของไร่ต้องซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลี้ยง (เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2562a)
13. อยากลองดื่ม มีคนชักชวน และดื่มตามบุคคลใกล้ชิด (เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2562a)
“…สาเหตุที่ผู้หญิงดื่มและหันมาดื่มหนักเพราะมาจากความเครียด
ซึ่งความเครียด ที่เกิดขึ้นในผู้หญิงส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นเรื่องครอบครัว สามี และลูก…”
(จะเด็จ เชาว์วิไล อ้างจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2554)
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
1. สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย (เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2562a)
2. การมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในการครอบครอง โดยในงานพิธีกรรมต่างๆ เช่น การไหว้พระแม่โพสพ ไหว้เจ้าที่ ไหว้ศาล ไหว้แม่ยานางรถ ฯลฯ จะมีเหล้าเป็นเครื่องไหว้ด้วย หลังจากไหว้แล้วทำให้ง่ายที่จะนำเครื่องดื่มดังกล่าวมาดื่ม (เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2562a)
3. อิทธิพลของสื่อต่างๆ โดยเฉพาะการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำให้ผู้รับสารอยากดื่ม และสร้างความเชื่อว่าการดื่มเป็นสิ่งดีงานและเป็นเรื่องน่าภูมิใจ นอกจากนี้ยังมีสื่ออื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ ละคร และเพลงที่ชักชวนทำให้ผู้รับสารคล้อยตาม (เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2562b)
4. การรณรงค์เพื่อป้องกันการดื่มส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง เพราะผู้ชายเป็นกลุ่มที่ดื่มมากและดื่มหนักกว่าผู้หญิง สำหรับผู้หญิงจะถูกสื่อสารในฐานะของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวและปัญหาความรุนแรงทางเพศ (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2554)
ปัจจัยด้านสังคม
1. วัฒนธรรมของการเลี้ยงเพื่อแสดงความขอบคุณ โดยมีความเชื่อในกลุ่มเกษตรกรที่มาช่วยลงแขกว่า ทุกเย็นและหลังจากเสร็จงานเจ้าของไร่ต้องเป็นเจ้าภาพเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเป็นการแสดงน้ำใจ หรือเป็นการขอบคุณผู้มาช่วยงาน (เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2562a)
2. วัฒนธรรมการเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานต่างๆ โดยเฉพาะการเลี้ยงโต๊ะจีนที่บนโต๊ะต้องมีน้ำอัดลมและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2562a)
3. สังคมยอมรับการดื่มของผู้หญิงมีมากขึ้น (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2554)
ผลกระทบ
ผลกระทบต่อสุขภาพ : ก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุน มีบุตรยาก เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด โรคเส้นเลือดแตกในสมอง โรคมะเร็งเต้านม โรคซึมเศร้า เสี่ยงต่อการทำร้างตนเอง (สุนทรี ศรีโกไสย, 2556) นอกจากนี้ยังทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงและเกาต์ (เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2562a)
ผลกระทบต่อบุตร : การดื่มขณะตั้งครรภ์จะทำให้เสี่ยงต่อการแท้งบุตร (ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา, 2556) หากดื่มตั้งแต่ 4 มาตรฐานขึ้นไประหว่างการตั้งครรภ์จะเสี่ยงที่บุตรจะมีปัญหาสุขภาพจิตโดยเฉพาะโรคสมาธิสั้น (สุนทรี ศรีโกไสย, 2556) นอกจากนี้ยังเสี่ยงที่ทารกจะเป็นกลุ่มอาการผิดปกติของทารก (Fetal Alcohol Specturm Disorder : FASD) ซึ่งมีอาการได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ ไปจนถึงเมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มของแม่ ลักษณะอาการขั้นรุนแรงจะเรียกว่า Fetal alcohol syndrome : FAS ซึ่งมีลักษณะทางร่างกายที่ผิดปกติ คือ ช่องตาสั้น ร่องริมฝีปากบน (Thin upper lip) เรียบ ริมฝีปากบนยาวและบาง หนังคลุมหัวตามาก (epicanthal folds) จมูกแบน ปลายจมูกเชิดขึ้น ส่วนกลางใบหน้ามีการพัฒนาน้อยกว่าปกติ (midface hypoplasia) และที่สำคัญที่สุด คือ เกิดการทำลายของเซลล์ประสาท จะส่งผลให้มีการเจริญเติบโตบกพร่อง น้ำหนักแรกเกิดน้อย และมีอัตราการเจริญเติบโตน้อย ศีรษะเล็ก เกิดความผิดปกติของโครงสร้างสมอง เช่น ไม่มีสมองใหญ่ (anencephaly) สมองใหญ่มีร่องผิดปกติ (schizencephaly) เยื่อหุ้มสมองและเนื้อสมองเลื่อน (lumbarmeningomyelocele) ส่วนด้านพัฒนาการของสติปัญญาก็มีความบกพร่อง มีปัญหาด้านความจำ การเคลื่อนไหวผิดปกติ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตเวช เช่น ภาวะวิตกกังวล (anxiety disorder) มีภาวะซึมเศร้า (depression) พฤติกรรมอันธพาล (conduct disorder) และมีปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ เช่น อาการซุกซนไม่อยู่นิ่ง และสมาธิสั้น (ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา, 2556)
ผลกระทบต่อครอบครัว : ความเชื่อว่าการดื่มเหล้าทำให้เกิดความสนุกสนานและทำให้เกิดความสนิทสนมกันมากขึ้น ทำให้มีการชักชวนสมาชิกในครอบครัวดื่ม จนกลายเป็นเรื่องปกติที่สมาชิกในบ้านจะดื่มร่วมกันทุกเย็น ซึ่งนำไปสู่การทะเลาะวิวาทและรายจ่ายจำนวนมากจากการซื้อเครืองดื่มแอลกอฮอล์ (เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน, 2562a)
สรุป
แนวโน้มของการดื่มแอลกอฮอล์ของผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากหลายเหตุผลทั้งความเชื่อโดยเฉพาะความเชื่อว่าการดื่มสุราทำให้สนุกและทำให้เข้าสังคมได้ง่ายขึ้น ปัจจัยด้านสังคมที่มีการโฆษณาเชิญชวนมากขึ้นและมีการยอมรับผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น อย่างไรก็ตามการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มมากขึ้นนี้ทำให้ผู้หญิงเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากขึ้นเช่นกันทั้งต่อสุขภาพของตนเองและของบุตร รวมถึงผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
อ้างอิง
เผ่าไทย สินอำพล. (2560). “พื้นที่และเวลา” ในการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักศึกษาหญิงในมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่. http://cas.or.th/cas/wp-content/uploads/2019/07/13.59-A1-0009-%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%AE%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%8C-%E0%B8%AD.%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2.pdf
เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน. (2562a). พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของสตรีวัยแรงงานภาคเกษตรกรรม. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 13(3), 143-158. https://he01.tci-thaijo.org/index.php/EAUHJSci/article/download/231585/157882/
เพียงพิมพ์ ปัณระสี และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน. (2562b). พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของสตรีไทยกับวิธีการลดการดื่ม. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 11(2), 58-69. https://he01.tci-thaijo.org/index.php/EAUHJSci/article/view/89793/75741
ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา. (2556). สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบในประเทศไทย ปี2556. http://e-lib.ddc.moph.go.th/pdf/material_291/material_291.pdf
สุนทรี ศรีโกไสย. (2556). การดื่มสุราและการเสพติดสุราของสตรี : ทบทวนองค์ความรู้ (พิมพ์ครั้งที่ 3). แผนงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา (ผรส.).
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2554). ผู้หญิงอีสานกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน. https://www.thaihealth.or.th/Content/17036-%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%AE%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%99.html
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2064). การสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564. http://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3/2564/fullreport_health_64.pdf?fbclid=IwAR36PJV36wQ16rPgM10qo6Lr2MeAp4wd5E4OJTtEvGl0vtQNbVZOGra_zkY.