44 ปีของ อสม. กับการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี

ประเทศไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาแล้ว 44 ปี ตลอดเวลา อสม. ได้ปรับบทบาทเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคม จากแต่ก่อนที่ร่วมส่งเสริมงานด้านสาธารณสุขมูลฐาน สู่การร่วมป้องกันโรคโควิด 19 นอกจากนี้ อสม.ยังมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์เรื่องเหล้าโดยเฉพาะในชุมชน

44 ปีของ อสม. กับการสร้างคุณค่าต่อสังคมไทย

วันที่ 20 มีนาคม นอกจากเป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ หรือวัน อสม. แล้ว วันที่ 20 มีนาคม 2522 ยังเป็นวันที่รัฐบาลกำหนดให้การสาธารณสุขมูลฐานเป็นนโยบายและโครงการระดับชาติ ทั้งนี้เพราะในขณะนั้นประชาชนในชนบทขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข เนื่องจากการเดินทางลำบากและต้องทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ ทำให้ชาวบ้านเข้ารับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยหนักแล้ว ประกอบกับข้อจำกัดด้านทรัพยากรด้านสาธารณะสุข ทำให้รัฐบาลนำงานสาธารณสุขมูลฐานมาใช้

งานสาธารณสุขมูลฐาน ประกอบด้วยการบริการแบบผสมผสาน 4 ด้าน คือ การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพอนามัย การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ การผลักดันงานสาธารณสุขมูลฐานทำให้กระทรวงสาธารณสุขขยายผลโครงการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้หรือปี 2520 กระทรวงสาธารณสุขได้ทดลองโครงการนี้ใน 20 จังหวัด โดยทดลองในทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ตำบล ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพกันเองด้วยวิธีที่ง่ายประหยัด และทั่วถึง (2) เพื่อช่วยบรรเทาภาวะขาดแคลนบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในชนบท และ (3) เพื่อแก้ไขปัญหารักษาพยาบาลหรือดูแลรักษาสุขภาพที่ไม่ถูกต้องของประชาชน

อสม. มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานสาธารณสุขมูลฐาน เช่น ร่วมมือกับกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำ กลุ่มแม่บ้าน ฯลฯ ในการค้นหาเพื่อส่งเสริมงานโภชนาการในเด็กอายุ 0-5 ปี เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพอนามัยให้แก่ประชาชน ชี้แจงให้ประชาชนทราบว่าในหมู่บ้านมีโรคอะไรที่เป็นปัญหา เช่น โรคอุจาระร่วง โรคพยาธิ ไข้เลือดออก รวมทั้งร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคระบาด ชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน นัดหมายเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขเพื่อให้บริการประชาชนตามจุดนัดพบต่าง ๆ ร่วมสอดส่องดูแลพฤติกรรมของร้านค้า รถขายยาเร่ ฯลฯ หากพบเห็นผู้กระทำผิดกฎหมายก็แจ้งเจ้าหน้าที่ ดำเนินการป้องกันควบคุมอุบัติเหตุ อุบัติภัย ร่วมถึงร่วมค้นหาผู้ป่วยทางจิต ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิต มะเร็ง พร้อมทั้งจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาหรือส่งต่อ เป็นต้น

แม้บริบทของสังคมเปลี่ยนไปแต่ อสม. ยังคงร่วมขับเคลื่อนงานสาธารณสุขมูลฐาน โดยเฉพาะเมื่อเกิดโรคระบาดต่างๆ เช่น โรคเอดส์ และโรคโควิด 19 อสม.ได้เป็นกลไกสำคัญในการควบคุมโรคระบาดนั้นๆ เช่น เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ อสม. ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ และการปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ รวมถึงดูแลผู้ป่วยเอดส์ให้สามารถอาศัยอยู่ในชุมชนได้โดยชุมชนยอมรับและไม่แพร่กระจายโรคเอดส์สู่คนในชุมชน

 การระบาดของโควิด 19 อสม. ก็มีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะให้ความรู้เรื่องวัคซีนและการเป็นด่านหน้าในการต่อสู้การระบาดในชุมชน ดังที่ นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า “…อสม. เป็นกลไกในการเชื่อมโยงกับชุมชนเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 พวกเขาสามารถทำงานประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ปกครองของรัฐ ช่วยสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านในช่วงเวลาที่ไม่มีอะไรแน่นอนและเต็มไปด้วยความวิตกกังวล ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความรู้สึกปลอดภัยและการดูแลตนเองของคนในชุมชน…” (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2564).

 บทบาทของ อสม. ที่มีต่อระบบสาธารณะสุขของประเทศไทยทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2536 กำหนดให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ โดยปัจจุบันประเทศไทยมี อสม. ทั้งหมด 1,051,849 คน (ระบบสารสนเทศงานสุขภาพภาคประชาชน กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน, 2565)

บทบาทของ อสม. กับการรณรงค์เรื่องเหล้า

ด้วยบทบาทของ อสม. ที่มีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมงานสาธารณสุขมูลฐานของประเทศ ซึ่งงานดังกล่าวมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่น การรักษาพยาบาล อสม. มีบทบาทในการติดตามการรักษาและการบำบัดผู้ติดเหล้าในชุมชน, งานอนามัยแม่และเด็กและการวางแผนครอบครัว อสม. ได้ช่วยให้ความรู้แก่สตรีที่ตั้งครรภ์ให้ลด ละเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, งานควบคุมป้องกันโรคติดต่อในท้องถิ่น ดังเช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อสม. มีบทบาทในการดำเนินตามนโยบายของภาครัฐในการป้องกันการแพร่ระบาดในชุมชน เช่น สอดส่องไม่ให้มีการนั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ป้องกันการแพร่บาดในชุมชน โดยเฉพาะในวัดหรือสถานที่จัดงานบุญต่างๆ อสม. ยังชี้แจงให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด, การป้องกันควบคุมอุบัติเหตุ อุบัติภัย และโรคไม่ติดต่อ อสม.ได้ร่วมรณรงค์โรค NCDs ในชุมชนซึ่งสาเหตุของโรคส่วนหนึ่งเกิดจากการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ รวมถึงการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนโดยเฉพาะในเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ซึ่งด่านชุมชนจะมีความสำคัญมากขึ้น และ อสม.จะมีบทบาทในการรณรงค์การดื่มและการตั้งด่านชุมชนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนนมากขึ้น

อสม. บางท่านได้ร่วมทำงานกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ทำให้การรณรงค์เรื่องเหล้าในชุมชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ของ สคล.ยังได้ร่วมทำงานร่วมกับ อสม. ซึ่งทำให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน

นายวิษณุ  ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะและทุนอุปถัมภ์ กล่าวว่า “…ที่ผ่านมา พี่น้อง อสม. ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการรณรงค์งดเหล้าในงานบุญประเพณี วัฒนธรรมและเทศกาลสำคัญต่างๆ ทั้ง สงกรานต์ กาชาด แข่งเรือ ลอยกระทง บุญบั้งไฟ งานเทศกาลอาหาร รวมทั้งงานบุญงานศพในชุมชน เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดชาวบ้านและชุมชน โดยมีกิจกรรมอาทิ การทำน้ำดื่มสมุนไพรทางเลือกเพื่อทดแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้เข้ามาร่วมงาน มีบทบาทในการออกเดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่จัดงาน ในขบวนแห่ และคอยสื่อสารบอกกล่าวตักเตือนลูกหลานและนักดื่มในชุมชน ให้เข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองและชุมชน ด้วยความห่วงใย ทำให้การทำงานเรื่องเหล้าเกิดกองหนุนในระดับพื้นที่ ถือเป็นด่านหน้าที่สำคัญในการร่วมกันปรับเปลี่ยนค่านิยมทางสังคมในการลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละพื้นที่…”

ดังที่ น.ส.พิมพ์มณี เมฆพายัพ ผู้ประสานงานโครงการนโยบายและชุมชนคนสู้เหล้า สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า “…อสม. เป็นกลไกที่ดูเหมือนเล็กแต่ทรงพลังมากสำหรับการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน ในงานของเครือข่ายองค์กรงดเหล้านั้น มีพี่ๆ น้องๆ ในระดับแกนนำชุมชน อำเภอและจังหวัด อยู่หลายท่านที่เป็น อสม. และร่วมขับเคลื่อนงานการรณรงค์ปรับเปลี่ยนค่านิยมและพฤติกรรมสุขภาพด้านลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้งานรณรงค์ดังกล่าวเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคือผู้ดื่ม และมีการดำเนินงานรณรงค์ชวน ช่วย ชมเชียร์ ร่วมกับชมรมคนหัวใจเพชรซึ่งทำให้การดำเนินงานดังกล่าว ได้รับการออกแบบที่ใส่ใจในฐานะเพื่อนช่วยเพื่อน และยังสอดคล้องกับหลักการของการบำบัดรักษาผู้ติดสุราตามแนวทางของระบบสาธารณสุขด้วย จึงขอใช้โอกาส วันอสม. ในการแสดงความชื่นชม และขอบคุณพี่น้องเครือข่าย อสม.ทั่วประเทศมา ณ ที่นี้…”

น.ส.ละออ นาสมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนนักรณรงค์งดเหล้าและกิจกรรมรณรงค์สร้างสรรค์ กล่าวว่า “…ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตัวแทนของแกนนำเยาวชนงดเหล้า YSDN (Young Stop drink Network) ได้ร่วมทำงานกับ อสม. ในการป้องกันการแพร่ระบาด การช่วยเหลือคนในชุมชน และการให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด การที่ YSDN ได้ทำงานร่วมกับ อสม. ทำให้น้องๆ ได้เครือข่ายในการทำงานและได้เรียนรู้งานในชุมชน…”

นายธิติ ภัทรสิทธิกฤษ ผู้ประสานงานความร่วมมือหน่วยงานและประเด็นปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า “…เหล้าบุหรี่เป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาสุขภาพต้นๆ และยังคงเกี่ยวข้องกับโรคอุบัติใหม่ ที่ อสม.กำลังเผชิญ การให้ความร่วมมือ การให้กำลังใจ และส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ที่เสียสละทำงานด้วยใจเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะช่วยลดความรุนแรงของปัญหาสุขภาวะในชุมชน อีกทั้งยังเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานที่นำไปสู่การพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของคนในพื้นที่ได้…”

อ้างอิง

กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กระทรวงสาธารณสุข. (n.d). องค์ประกอบของงานสาธารณสุขมูลฐาน จำนวน 14 องค์ประกอบ. http://phc.moph.go.th/www_hss/central/Intro1_3.php

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2564). 20 มี.ค. วัน อสม.แห่งชาติ อาสาเพื่อสุขภาพชุมชน. https://www.thaihealth.or.th/Content/54309-20%20%E0%B8%A1%E0%B8%B5.%E0%B8%84.%20%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%20%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%A1.%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%20%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%99.html

ระบบสารสนเทศงานสุขภาพภาคประชาชน กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน. (2565). จำนวน อสม. จำแนกตามระดับการศึกษา ตามรายจังหวัด. https://www.thaiphc.net/phc/phcadmin/administrator/Report/OSMRP00014.php