สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เครือข่ายประชาคมงดเหล้าจันทบุรี (สคล.) ร่วมกับ วัดตะปอนใหญ่ องค์การบริหารส่วนตำบลตะปอน สภาวัฒนธรรมอำเภอขลุง สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชนมหาวิยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี และสมาคมผู้สื่อข่าวจังหวัดจันทบุรี ร่วมกันจัดงาน แถลงข่าวประเพณีสงกรานต์วัดตะปอนใหญ่ เที่ยวสงกรานวิถีใหม่ ปลอดเหล้าปลอดภัย ห่างไกลโควิด ในวันที่ 7 เมษายน 2565 เวลา 15.00 น ณ อาคารอเนกประสงค์ วัดตะปอนใหญ่ โดยนำเสนอความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์วัดตะปอนใหญ่ การมีส่วนร่วมของประชาชนและการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ในการจัดงาน และภาพสงกรานต์วิถีใหม่ ผลกระทบจากการดื่มเหล้าในช่วงสงกรานต์ แนวทางการจัดงานและการเที่ยวสงกรานต์ให้ปลอดภัย
พระครูสาราภินัน เจ้าอาวาสวัดตะปอนใหญ่ เจ้าคณะตำบลตะปอน กล่าวถึง ความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์วัดตะปอนใหญ่ หลังจากพิธีอัญเชิญพระพุทธบาทผ้าออกจากโบสถ์วัดตะปอนน้อยแล้ว ได้มีการอัญเชิญแห่ขบวนเกวียนผ้าพระบาทออกไปรอบชุมชน ถนนสายวัฒนธรรมเชื่อมโยงงานประเพณีและกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ของ 3 วัด คือ วัดตะปอนน้อย วัดตะปอนใหญ่ และวัดเกวียนหัก นำเสนอวิถีชีวิตของชุมชน ชาวชุมชนตำบลตะปอนต่างร่วมกันสืบสานรักษาประเพณีเก่าแก่ชักเย่อเกวียนพระบาทไว้อย่างมั่นคง ในอดีตเกิดโรคระบาดมีผู้คนเจ็บป่วยเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ครั้งนั้นเชื่อกันว่าพระบาทผ้าสามารถขจัดโรคภัยไข้เจ็บที่ระบาดอยู่ได้จึงนำออกแห่ไปตามที่ต่าง ๆ โดยตลอดเส้นทางจะมีการตีฆ้อง ตีกลอง มีขบวนแห่แหน ผืนผ้าก็จะม้วนใส่ไปในเกวียนซึ่งปฏิบัติสืบทอดต่อเนื่องกันมาและด้วยที่ผ้าพระบาทมีผืนเดียว ชาวบ้านต่างต้องการนำไปทำบุญที่หมู่บ้านของตนเองซึ่งก็เป็นที่มาทำให้เกิดการชักเย่อเป็นประเพณีที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น โดยประเพณีนี้จะมีขึ้นช่วงวันสงกรานต์ของทุกปีอีกทั้งยังเป็นการละเล่นที่ไม่มีใครโกรธเคืองกัน และปัจจุบันได้พัฒนาเป็นกีฬาจัดการแข่งขัน ซึ่งมีการสานต่อกันมายาวนาน ส่วนที่มาของผ้าพระบาทหลวงพ่อเล่าเพิ่มอีกว่า ผ้าพระบาทมีขนาดกว้างประมาณ 5 ศอก ยาว 21 ศอก ผืนผ้ามีรอยพระบาทสี่รอย โดยเขียนเป็นรอยเล็กรอยใหญ่ซ้อนเรียงกันไป เชื่อกันว่าเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ ได้แก่ พระกุตสันโธ พระโคนาดม พระกัสสปะและรอยที่สี่เป็นรอยเล็กสุดของพระพุทธโคดม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน นอกจากนี้บนผืนผ้ายังเขียนรูปเทวดา นางฟ้าไว้ร่วมด้วย ผ้าพระบาทเล่ากันว่ามาทางเรือ ขึ้นฝั่งที่บ้านคลองยายดำซึ่งเมื่อมาถึงสมโภชฉลองกัน 7 วัน 7 คืนจากนั้นนำไปประดิษฐานไว้ที่วัดตะปอนน้อยอยู่ห่างจากวัดแห่งนี้ออกไปไม่ไกล
นางสาวพัชรินท์ ทศานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะปอน กล่าวถึง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ การที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา รวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น จะเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้เพิ่มมากขึ้น เกิดการร่วมคิด ร่วมพัฒนา ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น มีการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อคิดเห็นระหว่างกัน ทาให้เป็นพลังขับเคลื่อนชุมชนให้เข้มแข็งโดยการมีส่วนร่วมของวัดและชุมชนในการจัดกิจกรรมนั้น จะเป็นการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหาของท้องถิ่น การมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินกิจกรรม การมีส่วนร่วมในการลงทุนและการปฏิบัติงาน และการมีส่วนร่วม ในการติดตามและประเมินผลงานย่อมก่อให้เกิดการเรียนรู้การแก้ปัญหาและสร้างความเจริญให้กับชุมชน หรือหมู่บ้านของตนเป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคคลเพราะในกระบวนการมีส่วนร่วม ย่อมจะต้องมีการแลกเปลี่ยนความรู้ และข้อคิดเห็นระหว่างกันเป็นการสนับสนุนการพัฒนาความรักท้องถิ่น และความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นในพฤติกรรมของประชาชนในท้องถิ่น
นายกาญจน์ กรณีย์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขลุง กล่าวถึง กิจกรรมภายในงานสงกรานต์วันที่ 17 เมษายน 2565 ปัจจุบันผ้าพระบาทจะถูกอัญเชิญออกมาในช่วงวันสงกรานต์โดยที่ วัดตะปอนใหญ่กำหนดจัดงานไว้แน่นอนในวันที่ 17 เมษายนของทุกปี นอกจากการเล่นชักเย่อเกวียนพระบาท ตลอดวันนั้นมีประเพณีสงกรานต์ เริ่มตั้งแต่การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในตอนเช้า บ่ายแข่งชักเย่อ เล่นการละเล่น แดดร่มลมตกก็ก่อพระเจดีย์ทราย แยกย้ายไปอาบน้ำอาบท่า ก่อนจะกลับมารวมกันที่วัดอีกครั้งเวลาประมาณ 2 ทุ่ม เพื่อจุดเทียนทำพิธีสมโภชน์พระเจดีย์ทราย มีพระสงฆ์มาสวดให้ศีลให้พรและประกาศรางวัลเจดีย์ทรายสวยงาม
ช่วยศาสตราจารย์ วาริน สุภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชนมหาวิยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี กล่าวถึง การให้การสนับสนุนจากสำนักศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดจันทบุรี ในเรื่องของ 1.ศึกษา วิจัย และส่งเสริมการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม 2.ส่งเสริมให้มีและพัฒนาการพื้นที่การแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยและแหล่งเรียนรู้ 3.ส่งเสริมการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่สร้างคุณค่าทางจิตใจ สังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ 4.บูรณาการความร่วมมือเชิงรุก เพื่อพัฒนางานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของทุกภาคส่วน โดยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย รวมทั้งการสนับสนุนจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ไว้ของวิถีชุมชนของคนจันท์
ร.ต.ต.ปัญญวัฒน์ กระทุ่มเขต ประธานเครือข่ายประชาคมงดเหล้าจังหวัดจันทบุรี กล่าวถึง การให้การสนับสนุนจากเครือข่ายประชาคมงดเหล้าจังหวัดจันทบุรีว่าคณะทำงานมีจุดเน้นร่วมกันคือการร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของอำเภอและจังหวัดให้คงอยู่สืบไป ให้คนได้รู้จักการแสดงถึงที่มาของภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกร่วมในการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่นตนเอง และเกิดการพัฒนาตามยุคสมัยปัจจุบัน ทางเครือข่ายฯให้การสนับสนุนในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ และการจัดเวทีเสวนาระดับุชมชน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้นำชุมชนและคนในชุมชน ให้มีการจัดการบริหารชุมชนได้อย่างทั่วถึงและสร้างจิตสำนึกให้กับคนรุ่นต่อไป
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)กล่าวว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาความรุนแรงผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ลดลง สสส.และเครือข่ายงดเหล้ามีคำแนะนำสำหรับการเที่ยวสงกรานต์วิถีใหม่ แบบ SMS คือ Small Meaningful and Safe Small หมายถึง ชวนกันไปเที่ยวงานในพื้นที่เล็กๆ ที่ไม่แอดอัด อาทิ พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวชุมชน พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจสวนสาธารณะ วัด หรือโบราณสถานละแวกบ้าน หรือผ่านกิจกรรม Online ขณะที่ Meaningful คือการชวนกันไปทำกิจกรรมในสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายกับชีวิต สร้างสิริมงคลให้ตนเองและครอบครัว ส่วน Safe เป็ฯการให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเน้นไปที่กิจกรรมในครอบครัวและกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น สรงน้ำพระ สะเดาะเคราะห์ ทำบุญอัฐิ ก่อพระเจดีย์ทราย ขอพรอยู่หลักผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถทำได้ โดยทางเครือข่าย ส่งเสริมให้มีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อพูดคุยเรื่องคุณค่าและความหมายของงานสงกรานต์ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ และร่วมกับหน่วยงานกำหนดมาตรการเชิงรุก โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำตก หาด อ่างเก็บน้ำ คลองชลประทาน ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนเดินทางไปพักผ่อนเป็นจำนวนมาก สงกรานต์วิถีใหม่ ปลอดเหล้าปลอดภัย ห่างไกลโควิด จึงมุ่งหมายทั้งเรื่องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด ความสุขและความปลอดภัยโดยรวม การจัดงานจะเน้นแก่นแท้ของวัฒนธรรมผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนและคนรุ่นใหม่ ด้วยการจัดงานขนาดเล็กในชุมชนและจัดงานผ่านออนไลน์ นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังเรื่องความเสี่ยงต่างๆ ทั้งอุบัติเหตุทางถนน การเสียชีวิตจากการจมน้ำ เป็นต้น สำหรับประเพณี “สงกรานต์” เป็นประเพณีสำคัญที่ยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ และเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงาม โดดเด่น เป็นขนบธรรมเนียมที่มีความงดงาม อ่อนโยน และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญูการแสดงความเคารพ เป็นสื่อในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน การรักษาคุณค่าทางใจ ความมีน้ำใจ การมีสัมมาคารวะและกตัญญูการช่วยเหลือเกื้อกูลต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการสร้างเสริมสายใยครอบครัว สังคม ให้อยู่อย่างปลอดภัยและมีความสุข
#สงกรานต์วิถีใหม่ #ท่องเที่ยวปลอดภัย #วัดตะปอนใหญ่ #เครือข่ายงดเหล้า #อุดมสุข