เพิ่งผ่านพ้นเทศกาล
“สารทเดือนสิบ”
ของจังหวัดนครศรีธรรมราช และภาคใต้เป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณี สืบสานกันมานับพันปี โดยมีการทำบุญ การจัดกิจกรรมต่างๆ ที่จะสอนให้คนรู้สึกเกรงกลัวต่อการกระทำผิด เกรงกลัวละอายต่อบาป ได้อย่างแยบยล และเทศกาลนี้ยังเป็นเสมือน “สัญญาเดือนสิบ” ที่ลูกหลานนครศรีธรรมราชไม่ว่าจะไปเรียนหนังสือ หรือทำงานที่ไหนก็จะกลับมาเพื่อรวมงานประเพณีดังกล่าว เรียกได้ว่าเป็นการรวมญาติสารทไทยครั้งใหญ่ในรอบปี
โดยเฉพาะในปีนี้หลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 เข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post Pandemic) การใช้ชีวิตของประชาชนเริ่มกลับมาเป็นปกติมากขึ้น งานบุญสารทเดือนสิบปีนี้จึงจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ถึง 10 วัน 10 คืน และเพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามผู้เกี่ยวข้องจึงมีนโยบายให้การจัดงานปลอดจากปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ บุหรี่” เพื่อให้คนที่มาร่วมทำบุญ หรือท่องเที่ยวเทศกาลได้รับความสุขทั้งทางกาย และทางใจกลับไปอย่างแท้จริง “การจัดงานสารทเดือนสิบ พื้นที่จัดงานทุกตารางนิ้วถือเป็นพื้นที่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 100% ปลอดบุหรี่ 100% เพราะฉะนั้นในช่วง 10 วันที่มีการจัดงานจึงมีการรณรงค์ห้ามดื่ม ห้ามสูบในพื้นที่อย่างเข้มข้น”
นายวรวุฒิ ประสารพจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมปัจจัยเสี่ยงจังหวัดนครศรีธรรมราชและผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุ นายวรวุฒิ เล่าว่า การรณรงค์ให้คนลด ละ เลิก เหล้า บุหรี่ ตลอดจนยาเสพติด ถือเป็นนโยบายสำคัญของทางจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ผู้นำทุกระดับตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ตำรวจ ภาคีเครือข่ายงดเหล้า สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สนับสนุน ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ก็ขานรับนโยบายและลงมือทำงานกันอย่างเข้มข้น เมื่อมีนโยบายชัดเจนในทางปฏิบัติ ทุกๆ ภาคส่วนก็เดินหน้ากันอย่างเต็มที่ โดยมีการขยายกิจกรรมต่างๆ ในงานชักพระอำเภอสิชล ก็ประกาศเป็นนโยบายงานบุญปลอดแอลกอฮอล์ 100% รวมถึงงานบุญชักพระในอีกหลายพื้นที่ที่เราไปร่วมรณรงค์สร้างกระแสกับเจ้าภาพ ไม่ว่าจะเป็น อำเภอทุ่งสง อำเภอชะอวด และอำเภออื่นๆ
สำหรับงานสารทเดือนสิบที่เพิ่งผ่านพ้นมาหมาดๆ นั้น ในช่วง ในช่วง 5 คืนแรกจะมีการรณรงค์ สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่มาร่วมงานได้รู้ว่าปลอดเหล้า บุหรี่ 100% ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการติดป่ายประกาศตามจุดต่างๆ การเดินเท้าแจกเอกสารสร้างความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์บนเวทีต่างๆ โดยทีมประชาคมกับเหล่ากาชาดร่วมกันรับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์เหล่านี้ จากนั้น พอคืนที่ 6 เป็นต้นไปก็จะเอาจริง มีชุดเคลื่อนที่ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณะสุข เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ปกครอง และเครือข่ายเยาวชนลงพื้นที่ตรวจ เตือน ตรวจจับ และปรับเงินกรณีละ 300 บาทสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน
ทั้งนี้ นายวรวุฒิ บอกว่า ผลจากการทำงานพบว่าในส่วนของการปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นน่าพอใจมาก ตลอด 10 วันมีคนฝ่าฝืนจับปรับไป 1 ราย ซึ่งเป็นการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาจากภายนอกงานแล้วนำมาดื่มในนี้ ส่วนผลการควบคุมไม่ให้สูบบุหรี่นั้นยังมีการจับปรับถึงคืนละ 20-30 ราย ถือว่ายังสูงอยู่ ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น และคนต่างถิ่นที่เพิ่งมาเที่ยวงาน แต่ภายในงาน ร้านรวงต่างๆ ที่มาออกร้านนั้นไม่มีการนำเอาสินค้าพวกนี้เข้ามาขายแต่อย่างใด “ถ้าให้ประเมินผลงานส่วนตัวคิดว่าน่าพอใจ แต่ทางคณะผู้จัดงานต้องมาหารือร่วมกันว่าจะต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้การจัดงานสารทเดือนสิบในปีถัดไป ให้ปลอดปัจจัยเสี่ยงให้ได้อย่างแท้จริง ซึ่งส่วนตัวมองว่าสิ่งที่น่าจะปรับปรุงคือเรื่องการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ป้ายโฆษณาต่างๆ จะต้องทำให้ชัดเจน รวมถึงเรื่องของการสื่อสารการแจ้งคำเตือนและการปรับ”
ด้าน นายพิสันต์ เพชราภรณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า เหล้า บุหรี่ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งผู้ดื่ม ผู้สูบและคนรอบข้างได้ ก่อโรคหลายๆ อย่าง ตลอดจนทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงเป็นปัจจัยตัวกระตุ้นให้เกิดการทะเลาะวาท และอุบัติเหตุได้ ดังนั้น สสจ. นครศรีธรรมราช จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายงดเหล้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุ่มสุดตัวในการรณรงค์ ป้องกัน ออกตรวจไม่ให้มีการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ภายในงานอย่างแข็งขัน ตลอด 10 วัน 10 คืน ที่ผ่านมา แม้ว่าบางช่วงอาจจะมีฝนตกลงมา ซึ่งทุกๆ คืนก็ยังพบว่ามีคนกระทำผิดเหมือนเดิม คือการสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ ได้ส่งปรับตามกฎหมายคืนละประมาณ 20 ราย ที่เป็นเช่นนี้เพราะถึงแม้ภายในงานไม่มีการจำหน่ายแน่นอน แต่คนที่เข้ามา และสูบบุหรี่นั้นสามารถทำได้ง่าย แค่ไปแอบสูบตามรั้ว ตามที่ไกลๆ ไม่ค่อยพบกรณีเดินสูบทั่วงาน โดยคนที่ยังมีการฝ่าฝืนสูบบุหรี่อยู่นั้น ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ก็จะตามตัวค่อนข้างจะยาก เพราะบุหรี่สูบแล้วทิ้งง่าย กว่าทีมจะเข้าไปถึงตัว เขาก็หนีไปแล้ว ดังนั้นคิดว่าการจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จได้ก็ต้องอยู่ที่สำนึกส่วนตัวของคนด้วย เจ้าหน้าที่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ไปหมดแล้ว จับจริง ปรับจริง ก็ยังมีคนฝ่าฝืน อย่างไรก็ตาม ถ้าประเมินตามจำนวนคนที่มาท่องเที่ยวคืนละหลายพันคน กับพื้นที่ในการจัดงานค่อนข้างกว้าง มีหลายเวที อาจจะค่อนข้างควบคุมยาก แต่ในจำนวนที่จับปรับได้ เมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนหน้านี้ ถือว่าไม่ได้มากเหมือนกับการจัดกิจกรรมเมื่อก่อน นายพิสันต์ ย้ำว่า กว่าจะทำให้มีงานหรือกิจกรรมต่างๆ ปลอดเหล้าได้ 100% นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องมีกระบวนการรณรงค์ ให้ความรู้ถึงพิษภัยของอบายมุข กันมานาน และสม่ำเสมอ โดยภาครัฐ ร่วมกับภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ทุกฝ่ายที่ต้องเห็นความสำคัญร่วมกัน และร่วมมือดำเนินการ แล้วใช้กิจกรรมงานบุญ ประเพณี หรือกิจกรรมต่างๆ ของคนในพื้นที่เป็นตัวกลางในการสื่อสาร ตั้งแต่ประเพณีสารทเดือนสิบ งานชักพระ ลอยกระทง และกิจกรรมอื่นๆ อย่างปีใหม่ สงกรานต์ ซึ่งเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง ก็ยังสามารถใช้เป็นกิจกรรมในการสื่อสารได้
แน่นอนว่า งานสารทเดือนสิบครั้งนี้ ทางเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สรรพสามิต ตำรวจ พนักงานควบคุมความประพฤตินักเรียนนักศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาคุยถอดบทเรียนกันดูว่ากิจกรรมต่อไปจะเอายังไงกันดี การรณรงค์ ลด ละ เลิก ปัจจัยเสี่ยง “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” และ “บุหรี่” เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก้าวทันกับยุคซีเชียลมีเดียที่ทำให้การสื่อสารง่ายเพียงปลายนิ้ว นั่นหมายความว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้สามารถเข้าถึงตัวเด็ก และเยาวชนได้ง่าย และเร็วมาก หากฝ่ายปฏิบัติงานแผ่ว หรือตามไม่ทัน จะมีลูกหลานตกเป็นเหยื่อของอบายมุขได้ง่าย และง่ายมากที่จะนำไปสู่การใช้สารเสพติดชนิดที่รุนแรงกว่านี้ และเสี่ยงก็เกิดภัยสุขภาพ ภัยทางสังคมดังที่ได้เห็นในปัจจุบัน ///////// ข้อมูลประกอบการทำบุญเดือนสิบชาวบ้านจะมีการจัดสำรับไปทำบุญที่วัดเรียกว่า “จัดหฺมฺรับ” โดยต้องมีขนม 5 อย่างเป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ คือ 1.ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ 2.ขนมลา แทนเครื่องนุ่งห่มแพรพรรณ 3.ขนมกง หรือ ขนมไข่ปลา แทนเครื่องประดับ 4.ขนมดีซำ แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย 5.ขนมบ้า แทนสะบ้าใช้เล่นในงานเทศกาลสงกรานต์ ส่วนขนมชนิดที่ 6 ซึ่งคนเฒ่าคนแก่บางคนบอกว่าจำเป็นต้องมีคือ ขนมลาลอยมัน ใช้แทนฟูกหมอน.