มูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมพลศึกษา และเครือข่ายนักพากย์เรือสร้างสุข ร่วมกันจัดเวทีประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 3 ณ แม่น้ำเจ้าพระยา สนามแข่งเรือท่าน้ำนนท์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) เปิดเผยว่า ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา งานแข่งเรือยาวประเพณี(ปลอดเหล้าเบียร์) ได้รับการตอบรับด้วยดีจากเจ้าภาพจัดงานต่างๆทั่วประเทศ โดยถูกใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างความปลอดภัยและลดปัจจัยเสี่ยงในการพื้นที่จัดงาน จึงได้ร่วมกันขยายไปสู่การพากย์เรือ ซึ่งการพากย์เรือยาวถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม นักพากย์เรือเป็นผู้ที่มีความสำคัญ เป็นสีสันทำให้งานแข่งเรือยาวมีเสน่ห์และสนุกสนาน จึงหาวิธีสืบสานส่งต่อจากนักพากย์รุ่นใหญ่สู่นักพากย์เยาวชนรุ่นใหม่ โดยร่วมกันสื่อสารทั้งเรื่องของการสร้างสีสัน การสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม และสร้างความตระหนักรู้เท่าทันผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัจจัยเสี่ยง ซึ่งนักพากย์เรือจะมีบทบาทอย่างมากในการสื่อสารในช่วงการจัดงาน โดยได้จัดให้มีการฝึกอบรมในแต่ละภูมิภาค และผลักดันให้เกิดเวทีประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2562 ณ สนามแข่งเรือยาวประเพณี อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ต่อมาได้จัดเวทีประกวดฯ ขึ้นในปี 2565 จัดขึ้น ณ สนามแข่งขันเรือยาวประเพณี อ.เมือง จ.น่าน เป็นครั้งที่ 2 และปีนี้เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 3 ณ ท่าน้ำนนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี ซึ่งในปีนี้มีเด็กเยาวชนเข้าร่วมการประกวดในรอบชิงแชมป์ประเทศจำนวน 50 คน
ทางด้านนายพีรพงศ์ พรหมบุตร หรืออาจารย์ช้างดำเมืองสุรินทร์ ผู้ดูแลโครงการเครือข่ายนักพากย์เรือสร้างสุข ให้ข้อมูลว่า ผู้เข้าร่วมการเวทีประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เด็กเยาวชนอายุตั้งแต่ 7-22 ปี ที่ผ่านเวทีอบรมนักพากย์เรือเยาวชน จากเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) และ สสส. จากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งการประกวดจัด 2 ประเภท คือ ประเภทเดี่ยวบุคคล และประเภททีม 5 สำหรับเกณฑ์การตัดสินคะแนนรวม 100 คะแนน แบ่งเป็น ภาคทฤษฎี 15 คะแนน เป็นการสอบข้อเขียน 10 คะแนน พร้อมแฟ้มข้อมูล 5 คะแนน และสอบภาคปฏิบัติ 80 คะแนน ประกอบด้วยน้ำเสียง ข้อมูลเนื้อหา เทคนิคลีลา ไหวพริบ และการรณรงค์ให้ปลอดอบายมุข เหล้า บุหรี่ การพนันและปัจจัยเสี่ยง ซึ่งได้รับความสนใจ และได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก โดยนักพากย์เรือรุ่นใหญ่รู้สึกมีความสุขที่เห็นเด็กเยาวชนมีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่นในการฝนฝนตนเอง จนมีฝีไม้ลายมือโดดเด่นขึ้นมาหลายคนในแต่ละภูมิภาค และน้องๆ เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญต่องานพากย์เรือและวงการเรือยาวของประเทศในอนาคต
นายวรกันต์ ทองรอด อายุ 15 ปี ผู้ชนะเลิศนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ประเภทเดี๋ยวบุคคล จากจังหวัดชุมพรกล่าวว่า ได้ฟังเสียงนักพากย์ตั้งแต่เด็กๆชอบมาก และสนใจ สมัครเข้าร่วมอบรมเป็นนักพากย์เรือเยาวชน สร้างสุข มาเป็นปีที่ 5 แล้ว วันนี้ดีใจมากที่ความพยายามส่งผลขนาดนี้ คิดว่าเราต้องทำให้เต็มที่ ดีที่สุด และการเตรียมความพร้อมมาอย่างดี เต็มที่เพราะใจรัก มีครูอาจารย์เป็นต้นแบบที่ดี คือต้องเตรียมความพร้อมด้านข้อมูล มีการชื่นชมบรรยากาศโดยรอบของสถานที่ในสนามแข่ง ใส่ความสนุกสนานเข้าไปอีกนิด หาเอกลักษณ์เฉพาะตัว ต่อจากนี้คิดว่าจะตั้งใจจะนำความรู้ที่ได้ เวลาที่มี มาสอนให้กับน้องๆในภาคใต้ ให้พวกเขาได้เข้าเรียนรู้คุณค่าความหมายในวิถีวัฒนธรรมแห่งงานบุญประเพณี ท้องถิ่น กิจกรรมนี้เป็นประโยชน์ เพื่อห่างไกลเหล้า บุหรี่ การพนัน อบายมุข และสามารถนำความรู้เกี่ยวกับนักพากย์ ติดตัวไปใช้ต่อยอดในอนาคตได้ด้วย
ส่วนด้าน เด็กชายวีรยุทธ จินดาแดง อายุ12 ปี ผู้เข้าร่วมประกวดนักพากย์เรือเยาวชน จากโรงเรียนนครนนท์วิทยา1 วัดท้ายเมือง จังหวัดนนทบุรี เล่าว่า มีโอกาสเข้ามาฝึกอบรม เรียนรู้เติมทักษะ เทคนิคการพากเรือ ในโครงการของ สสส. และวันนี้ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมประกวดนักพากย์เรือยาวประเพณีครั้งแรก นับเป็นประสบการณ์ที่สุดยอด ประทับใจมาก เราไม่ได้คาดหวังว่าจะชนะเลิศเพราะเป็นมือใหม่ แต่คิดว่าโครงการมีประโยชน์มากน่าเรียนรู้ สอนให้ผมมีความกล้า มีความมั่นใจ มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น สามารถนำไปใช้ต่อยอดงานที่เกี่ยวกับการพูด การสื่อสาร เช่นผู้ดำเนินรายการ หรือเป็นพิธีกรงานต่างๆได้ในอนาคต และผมก็เต็มที่กับกิจกรรมครั้งนี้อย่างมาก สนุกมากๆครับ
ขอแสดงความยินดีกับ รางวัลชนะเลิศนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ประเภทบุคคล ได้แก่ นายวรกันต์ ทองรอด อายุ 15 ปี นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข จากจังหวัดชุมพร ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ พร้อมทุนการศึกษา 10,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับทุนการศึกษา 7,000 บาท ได้แก่นายจิตติพัทธ์ ต่อสุข น้องเจ อายุ 16 ปี นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข จังหวัดสุรินทร์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มี 2 รางวัล ได้รับทุนการศึกษา 4,000 บาท ได้แก่ เด็กหญิงปริยฉัตร ปะระมะ น้องออมสิน อายุ 13 ปี นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข จากจังหวัดน่าน และ นายณัฐพล สีหาราช น้องนัท อายุ 19 ปี นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข จากจังหวัดอุดร
สำหรับผลการแข่งขันประเภททีม 5 คน ถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ พร้อมทุนการศึกษา 25,000 บาท จากทีมนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุขจากภาคเหนือ จังหวัดน่าน ได้แก่ 1) เด็กชายภูพิพัฒน์ กิตินันท์ 2) เด็กหญิงรุจิลักษณ์ ชัยสมทิพย์ 3) เด็กชายศุภณัฐ สวนศรษฐ 4) เด็กชายศักรินทร์ ยาแก้ว 5) เด็กชายศุภณัฐ สวนศรษฐ กิจกรรมในครั้งนี้น้องๆได้ฝึกฝนและได้ใช้พลังเสียงกันอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ เก่งมากจริงๆ