ทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) คือทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับตนเองและสังคม แต่เยาวชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการดื่มเหล้าทำให้สูญเสียศักยภาพในการพัฒนาตนเอง นอกจากนี้มีการคาดการณ์ว่า ในยุคโควิดนี้จะมีเยาวชนดื่มเหล้ามากขึ้น
การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2562, น.31) ปี 2560 พบว่าผู้ที่ดื่มเหล้าที่เป็นเยาวชนหรือผู้มีอายุ 15 – 24 ปีจำนวน 2,282,522 คน นอกจากนี้มีการคาดการณ์ว่าในยุคโควิดนี้จะมีเยาวชนดื่มเหล้ามากขึ้นเพราะระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิดเยาวชนมีเวลาดูทีวีและเล่นโซเชียลมีเดียเพิ่มมากขึ้น 50% ซึ่งเยาวชนอาจหลงเชื่อกลยุทธ์ทางการตลาด เยาวชนยังได้เห็นผู้ปกครองดื่มมากขึ้นซึ่งทำให้เกิดความเคยชินและลอกเลียนแบบพฤติกรรม ทั้งนี้อาจทำให้เด็กและเยาวชนกลายเป็นผู้ติดเหล้าในอนาคต (Organization for Economic Co-operation and Development, 2021, p.8)
เยาวชนที่ดื่มเหล้ามีแนวโน้มที่จะพบกับเหตุการณ์ต่างๆ ดังนี้ (Centers for Disease Control and Prevention of USA, 2020)
1. มีปัญหาในการเรียน เช่น ขาดเรียนบ่อย ผลการเรียนไม่ดี
2. มีปัญหาด้านการเข้าสังคม เช่น ต่อต้านสังคม หรือไม่มีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่ควรทำ
3. มีปัญหาด้านกฎหมาย เช่น ถูกจับเพราะเมาแล้วขับ ทะเลาะวิวาท
4. มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น การเมาค้าง การป่วย
5. มีปัญหาด้านเพศ เช่น ไม่มีความต้องการ ไม่ได้ป้องกัน หรือท้องโดยไม่ได้ตั้งใจ
6. พัฒนาการของร่างกายและพัฒนาการด้านสมองหยุดหรือช้าลง
7. มีปัญหาด้านความจำ
8. นำไปสู่การใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและทางเพศ
9. เพิ่มความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายและการฆาตกรรม
10. อุบัติเหตุที่เกี่ยวกับรถ เช่น รถชน รถแฉลบ รถล้ม
11. นำไปสู่การใช้สารเสพติดต่างๆ
12. นำไปสู่การติดสุรา
เพื่อปกป้องเยาวชนจากผลกระทบดังกล่าว Centers for Disease Control and Prevention of USA (2020) เสนอให้ภาครัฐกำหนดนโยบายขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กำหนดให้ผู้จำหน่ายต้องรับผิดชอบที่ทำให้ผู้บริโภคเมา และควบคุมปริมาณการจำหน่าย นอกจากนี้ Division of Population Health of Centers for Disease Control and Prevention of USA (2020) สนับสนุนให้เพิ่มอายุขั้นต่ำในการดื่มให้เป็น 21 ปี โดยพบว่ามลรัฐต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่กำหนดอายุการดื่มขั้นต่ำที่ 21 ปีทำให้อุบัติเหตุทางถนนลดลงร้อยละ 16 นอกจากนี้ยังทำให้จำนวนเยาวชนดื่มลดลง โดยในภาพรวมของทุกมลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่กำหนดอายุการดื่มขั้นต่ำที่ 21 ปีทำให้เยาวชนอายุ 18 – 20 ปีดื่มลดลงจากร้อยละ 59 ในปี 2528 เป็นร้อยละ 40 ในปี 2534 ในกลุ่มเยาวชนที่มีอายุ 21 – 25 ปีก็ลดจำนวนผู้ดื่มเช่นกันโดยลดลงจากร้อยละ 70 ในปี 2528 เป็นร้อยละ 56 ในปี 2534 นอกจากนี้ยังทำให้การตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ การฆ่าตัวตายและการฆาตกรรมลดลง
สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับอายุขั้นต่ำของผู้ดื่มแอลกอฮอล์ 2 ฉบับ คือ มาตรา 29 ของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 กำหนดห้ามไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (10) ห้ามไม่ให้จําหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก (อายุน้อยกว่า 18 ปี)
แนวโน้มที่เยาวชนไทยจะดื่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเยาวชน ภาครัฐควรเพิ่มมาตรการในการปกป้องเยาวชนมากขึ้น เช่นควรขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเพิ่มอายุการดื่มที่ถูกกฎหมาย เป็นต้น หรืออย่างน้อยๆ ควรบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างจริงจังมากขึ้น
อ้างอิง
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2562). การสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2560. http://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B2/2560/2560_Full-Report.pdf.
Centers for Disease Control and Prevention of USA. (2020). Underage Drinking. https://www.cdc.gov/alcohol/fact-sheets/underage-drinking.htm.
Division of Population Health of Centers for Disease Control and Prevention of USA. (2020). Age 21 Minimum Legal Drinking Age. https://www.cdc.gov/alcohol/fact-sheets/minimum-legal-drinking-age.htm
Organization for Economic Co-operation and Development. (2021). The effect of COVID-19 on alcohol consumption, and policy responses to prevent harmful alcohol consumption. https://www.oecd.org/coronavirus/policy-responses/the-effect-of-covid-19-on-alcohol-consumption-and-policy-responses-to-prevent-harmful-alcohol-consumption-53890024/?fbclid=IwAR1W4wThN1SdTXRv23JNwL9iEETjLqILeJCY8boLvRGOCr90bWHTSR68RTk