วัฒนธรรมการดื่มหนักของคนเกาหลีใต้ เป็นหนึ่งสาเหตุร่วม “การฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก?”

ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (2021, p.4) ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทั่วโลก 703,000 คน โดยปี 2562 อัตราการฆ่าตัวตายมาตรฐานของโลกต่อประชากรหนึ่งแสนคนเท่ากับ 9.0 นอกจากนี้ World Population Review (2021) ได้รายงานว่าในปี 2562 ประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายต่อประชากรหนึ่งแสนคนสูงที่สุดคือประเทศเลโซโทมีอัตราการฆ่าตัวตายเท่ากับ 72.4 คน ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้อัตราการฆ่าตัวตายเท่ากับ 28.6 ซึ่งเป็นอันดับที่สี่ของโลก และอันดับที่หนึ่งของเอเชีย

การฆ่าตัวตายเป็น 1 ใน 4 สาเหตุการตายสำคัญของเกาหลีใต้ โดยการศึกษาพบว่า ในทุกๆ ปี ร้อยละ 40 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย จนทำให้ประเทศเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2562 ซึ่งก่อนสถานการณ์โควิดมีการฆ่าตัวตายสูงถึง 13,799 ราย หรือคิดเป็น 38 ราย/วัน (อันดับ 1- 3 ได้แก่ Lesotho , Guyana , Eswatini )

วัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์แบบดื่มหนัก มีความสัมพันธ์กับอัตราการฆ่าตัวตาย หรือไม่?? เป็นที่ทราบดีว่า ประเทศเกาหลีใต้ มีวิถีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รุนแรงมาก จนการดื่มกลายเป็นช่วงหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมการดื่มที่มากเกินความพอดี (A culture of drinking to excess) โดยเฉลี่ยคนเกาหลีใต้ดื่มเหล้า14 ช็อต/สัปดาห์ ทั้งนี้เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาถูกและส่วนใหญ่อ้างเหตุผลในการดื่มว่าคลายเครียด กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของเกาหลีใต้คาดการณ์ว่าในแต่ละปีเกาหลีใต้มีค่าใช้จ่ายทางสังคมที่เกิดจากผลกระทบของการดื่มแอลกอฮอล์ 687,000 ล้านบาท/ปี  แม้จะมีความพยายามกว่า 20 ปีที่เสนอนโยบายเพื่อลดการดื่มแอลกอฮลก์เช่น ปรับราคาให้สูงขึ้น การจำกัดปริมาณในการขาย การจำกัดโฆษณา แต่ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้รับการพิจารณา ทั้งนี้มีความเชื่อว่านักการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะแก้ไขปัญหา (Chao & Gooch, 2016)

ทั้งนี้ หากพิจารณาปัจจัยทางสังคมเกาหลีใต้ที่มีการแข่งขันกันสูง มีความเครียด ความกดดันทางสังคม และในที่ทำงาน ทำให้เมื่อหลังเลิกงานการดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มคนทำงานจึงเป็นภาพที่ปกติ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์และการคลายเครียด อย่างไรก็ตาม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การดื่มทำให้คลายเครียดหรือสร้างความสัมพันธ์ แต่หลายกรณีผู้ดื่มประสบปัญหาในที่ทำงานหรือในครอบครัว การดื่มเพื่อดับปัญหาจึงนำไปสู่การตัดสินใจปิดชีพตนเอง หรือที่เรียกแบบไทยว่า “ดื่มย้อมใจ” ทำให้การฆ่าตัวตายสามารถทำได้สำเร็จ เพราะการขาดสติยับยั้งชั่งใจอันเกิดจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์ที่สมองส่วนหน้า (Frontal lobe) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมความคิด ความจำ สติปัญญา บุคลิก ความรู้สึกนั่นเอง เมื่อเปรียบเทียบกับ 2 ประเทศ (Lesotho และ Eswatini) ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกา (ส่วน Guyana อยู่อเมริกาใต้)  ซึ่งปัจจัยสำคัญของการฆ่าตัวตายไม่ได้สัมพันธ์กับการดื่มแอลกอฮอล์ หรือ เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีรูปแบบการดื่มแอลกอฮอล์คล้ายๆกับเกาหลีใต้พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์กับการฆ่าตัวตายน้อยกว่าเกาหลีใต้นั้น เพราะปัจจัยของแต่ละประเทศมีลักษณะที่มาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของประเทศนั้นๆ

สำหรับประเทศไทย การศึกษาพบว่า อัตราเสี่ยงสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตายที่เชื่อมโยงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่ 5.3 เท่าเมื่อเทียบกับคนไม่ดื่ม ซึ่งในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ปัจจัยหลักมาจากด้านความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง และปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจจะมาเป็นลำดับที่รอง โดยมีปัจจัยร่วมอื่นๆ ได้แก่ การใช้สุรา ยาเสพติด มีโรคเรื้อรัง สำหรับรายงานอัตราการฆ่าตัวตายต่อประชากรหนึ่งแสนคนในปี 2562 เท่ากับ 6.64 คน (ประมาณ 4,400 ราย) อย่างไรก็ตาม  ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ตลอดปี 2563 อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2562 เป็น 7.35 (ประมาณ 4,800 ราย) ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แนวโน้มในปี 2564 นี้ยังน่ากังวลจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แนวโน้มในปี 2564 อาจจะเพิ่มสูงขึ้น

บทความนี้ มุ่งชี้ให้เห็นว่า แม้ปัจจัยการฆ่าตัวตายมีมาจากหลายสาเหตุ และตามบริบทของแต่ละสังคมประเทศ แต่ปัจจัยการดื่มแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในปัจจัยร่วมที่สำคัญ โดยเฉพาะในสังคมไทย ซึ่งเมื่อเทียบกับสังคมเกาหลีใต้ ที่มีอัตราการฆ๋าตัวตายที่สูงกว่า โดยมีการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์น้อยกว่าสังคมไทย ดังนั้น การควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ การควบคุมการตลาด การทำให้แอลกอฮอล์เป็นสินค้าไม่ธรรมดา จึงเป็นอีกหนึ่งมาตราการที่นอกจากจะลดปัญหารายได้ ปัญหาอุบัติเหตุ และอื่นๆ แล้วยังมีส่วนลดปัญหาการฆ่าตัวตายได้อย่างแน่นอน
 
อ้างอิง
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. (2564). รายงานจำนวนการฆ่าตัวตายของประเทศไทย :แยกตามช่วงอายุ. https://www.dmh.go.th/report/suicide/age.asp.

ข่าวสด. (2563). ตะลึงสถิติเกาหลีใต้วัยสาว ไม่ขออยู่ในโลกต่อไปในปี2020 พุ่ง40%. https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_5541182.

Chao, S. & Gooch, L (2016). The country with the world’s worst drink problem. https://www.aljazeera.com/features/2016/2/7/the-country-with-the-worlds-worst-drink-problem

Our World in Data. (n.d). Suicide. https://ourworldindata.org/suicide?fbclid=IwAR14F4p2mLL5AMYAGpn7q5FNr8FZylSoAVT4u10blkCRpM9ZxDy_lrEjSYE.

Tuleconghoa. (2020). In Korea, 14,000 people committed suicide in 2019 after the death of many Kpop idols!. https://kbizoom.com/in-korea-14000-people-committed-suicide-in-2019-after-the-death-of-many-kpop-idols/
World Health Organization. (2014). Preventing suicide: A global imperative. World Health Organization.

World Population Review. (2021). Suicide Rate By Country 2021. https://worldpopulationreview.com/country-rankings/suicide-rate-by-country