“มะเร็ง” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการป่วยและการเสียชีวิตของประชาชนทั่วโลก โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง การลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นการแก้ไขที่ต้นทางในการป้องกัน และลดความเจ็บปวดจากการป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ดีที่สุด

จากข้อมูลใบมรบัตร พ.ศ. 2562 พบว่า โรคมะเร็งทุกชนิดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2562 โรคมะเร็งทุกชนิดเป็นสาเหตุการตายต่อประชากร 100,000 คน คิดเป็น 125.0 คน ซึ่งเพิ่มมากขึ้นจากปี 2558 ที่มีอัตราการตาย 112.8 คนต่อประชากร 100,000 คน (กระทรวงสาธารณะสุข, 2563, น. 76-77)

ทั้งนี้บุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง โดยบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งปากมดลูก สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับ และมะเร็งเต้นนม (โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์, 2563) ถ้าทั้งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่จัด จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ช่องปากและในลำคอด้วย (สถาบันมะเร็งแห่งชาติ)

ในมุมมองระดับโลกพบว่า ในปี 2563 มีผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 741,300 คน โดยเป็นผู้ชาย 586,700 คน หรือร้อยละ 76.7 นอกจากนี้พบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหลอดอาหารมากที่สุดคิดเป็น 189,700 ราย มะเร็งตับ 154,700 ราย มะเร็งเต้นนม 98,300 ราย ตามลำดับ (Rumgay et al., 2021)

การศึกษาของ Rumgay et al., (2021) ยังพบว่า ยิ่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการป่วยด้วยโรคมะเร็ง โดยพบว่า ในบรรดาผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งมีพฤติกรรมการดื่มหนักจำนวน 346,400 คนคิดเป็นร้อยละ 46.7 ของผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง รองลงมาคือการดื่มในระดับเสี่ยง จำนวน 291,800 คนคิดเป็นร้อยละ 39.4 การดื่มระดับปานกลาง 103,100 คนคิดเป็นร้อยละ 13.9

กล่าวโดยสรุปโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่หนึ่งของคนไทยและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ยิ่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มเท่าไรยิ่งเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น

อ้างอิง

กระทรวงสาธารณะสุข. (2563). สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2562. https://bps.moph.go.th/new_bps/sites/default/files/statistic62.pdf

โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์. (2563). มะเร็ง คืออะไร?. https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/cancer

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ. (n.d.) สาเหตุและปัจจัย เสี่ยงของการเกิดมะเร็ง. https://www.nci.go.th/th/Knowledge/reasonrisk.html

Rumgay, H., Shield, K., Charvat, H., Ferrari, P., Sornpaisarn, B., Obot, I., … Soerjomataram, I. (2021). Global burden of cancer in 2020 attributable to alcohol consumption: a population-based study. The Lancet Oncology, 22(8), 1071–1080. doi:10.1016/s1470-2045(21)00279-5

Writer : Dan Theertham#เครือข่ายงดเหล้า#วันมะเร็งโลก#ไม่สูบไม่ดื่ม

กองบรรณาธิการ SDNThailand