
การดูแลสุขภาพช่องปากเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากโรคฟันผุและโรคปริทันต์ที่พบได้บ่อยแล้ว ยังมีปัญหาสุขภาพช่องปากอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต หรือบางครั้งอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบร่างกาย โรคในช่องปากส่วนมากมักไม่มีอาการในระยะเริ่มต้น จึงมีส่วนน้อยที่จะไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากทั้งที่ยังไม่มีอาการใด ๆ โดยมากแล้วผู้ป่วยมักจะมาพบทันตแพทย์เมื่อมีอาการปวดฟันหรือบวม หรือมีอาการอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการบดเคี้ยวและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งโรคฟันที่เป็นอาจรุนแรงทำให้การรักษาซับซ้อน หรือไม่สามารถเก็บฟันซี่นั้นต่อไปได้ หรืออาจเกิดการติดเชื้อลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น โพรงไซนัส ตา หรือระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
แม้หลายคนจะคุ้นเคยกับการรักษาทางทันตกรรมพื้นฐาน เช่น อุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน แต่ยังมีปัญหาสุขภาพช่องปากอีกมากมายที่อาจสร้างความกังวลและข้อสงสัย ไม่ว่าจะเป็นแผลในช่องปาก การติดเชื้ออื่น ๆ หรือกลิ่นปาก ซึ่งหลายอาการเหล่านี้ไม่ควรละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพฟันและอวัยวะข้างเคียง หรือบางครั้งอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของร่างกายที่รุนแรงกว่าที่คาดคิด
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค อาการ สาเหตุ และปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปาก จึงเป็นข้อมูลสำคัญในการป้องกันและหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ช่วยให้เราสามารถรักษาสุขภาพช่องปากได้ถูกวิธีและหลีกเลี่ยงปัจจัยก่อโรคต่าง ๆ ได้
ผศ.ทพญ.ดร.วรรณกมล ปัญญารักษ์ ภาควิชาชีววิทยาช่องปากและวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโรคในช่องปากที่พบมากในประชากรไทย โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ อัตราการเกิดต่ำ การให้ชุดข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง การรักษาและป้องกันโรคในช่องปาก และการดูแลสุขภาพช่องปากเป็นเป้าหมายหลักและเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสุขภาพที่ดีของประชากรไทยทั่วไปและกลุ่มผู้สูงอายุ โดยในบทความนี้จะเน้นให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคในช่องปากที่พบบ่อยในคนไทย ได้แก่ โรคฟันผุ โรคปริทันต์ และโรคมะเร็งในช่องปาก ที่พฤติกรรมสุขภาพของเราอาจเป็นปัจจัยก่อโรคเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว
กินชาและกาแฟเป็นประจำ
จะไม่กล่าวถึงคงไม่ได้เลยสำหรับเครื่องดื่มยอดฮิตวัยทำงาน ในยุคที่ร้านชาและกาแฟผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด จนมีจำนวนแทบจะเทียบเท่ากับร้านสะดวกซื้อ ซึ่งหาซื้อบริโภคได้ง่ายขึ้น ประเด็นเรื่องผลกระทบของเครื่องดื่มต่อสุขภาพช่องปากกลายเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ที่ดื่มชาและกาแฟเป็นประจำ ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในคลินิกทันตกรรมคือ ฟันเหลือง มีคราบติดฟัน และฟันผุ
แม้หลายคนอาจเชื่อว่าการดื่มชาหรือกาแฟแบบไม่ใส่น้ำตาลจะปลอดภัยต่อสุขภาพฟัน แต่ความจริงแล้ว เครื่องดื่มเหล่านี้มีน้ำตาลแฝงอยู่ในส่วนประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนมที่ผสมเพิ่ม น้ำผึ้ง หรือส่วนประกอบอื่น ๆ แม้จะมีปริมาณไม่มากก็ตาม นอกจากนี้ คราบที่เกิดจากการดื่มยังเป็นสาเหตุสำคัญของกลิ่นปากในระยะยาว โดยเฉพาะในเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการดื่มชา กาแฟ หรือของว่างรสหวานร่วมด้วย แม้ว่าทันตแพทย์จะไม่สามารถห้ามพฤติกรรมเหล่านี้ได้โดยสิ้นเชิงเพราะเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล แต่การปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปาก ทั้งการแปรงฟันที่ถูกวิธีและการพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งการดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับผู้ที่ดื่มชาหรือกาแฟเป็นประจำนั้นไม่ใช่เรื่องยาก วิธีที่ดีที่สุดคือ การลดหรือเลี่ยงการดื่มชา กาแฟที่ผสมน้ำตาลเพื่อลดความเป็นกรดในช่องปากซึ่งส่งผลให้เกิดฟันผุ หรือหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟแทนการดื่มน้ำเปล่าซึ่งส่งผลเสียต่อระบบขับถ่ายปัสสาวะ ทำให้เกิดนิ่วในไต หรือไตวายเรื้อรังได้ เพื่อป้องกันฟันผุหรือคราบฟันที่เกิดจากการบริโภคชา กาแฟ แนะนำให้ดื่มน้ำตามมาก ๆ และแปรงฟันให้สะอาดหลังดื่ม หรือบ้วนปากให้สะอาดก็สามารถช่วยชะล้างคราบได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม การพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันผุ ขูดหินปูนและขัดฟันอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยให้ผิวฟันเรียบขึ้น ลดการเกาะติดของคราบจุลินทรีย์และเชื้อโรค ลดการก่อตัวของหินปูน ส่งผลให้ฟันดูขาวสะอาดและเหงือกมีสุขภาพดีขึ้น นอกจากนี้หากพบฟันผุระยะแรกเริ่มจะได้รับการบูรณะฟันและรับคำแนะนำเพื่อลดโอกาสเกิดฟันผุลุกลามจนสูญเสียฟันไปได้
“กลิ่นปาก” ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม
ในยุคที่ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยเป็นประจำ ปัญหากลิ่นปากหรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Halitosis กลายเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจากกลิ่นมักจะสะท้อนกลับเข้ามาในหน้ากากอนามัยที่สวมใส่ ทำให้ผู้สวมใส่รับรู้กลิ่นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ซึ่งกลิ่นปาก สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทตามสาเหตุ ประเภทแรก คือ กลิ่นปากที่มีสาเหตุมาจากภายในช่องปาก มักเกิดจากการมีโรคในช่องปาก เช่น ฟันผุขนาดใหญ่ แผลในช่องปาก หรือโรคเหงือกที่ไม่ได้รับการรักษา ซึ่งเชื้อก่อโรคเหล่านี้นอกจากจะทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อในช่องปากแล้ว ยังสามารถผลิตกลิ่นได้ด้วย นอกจากนี้ การใส่อุปกรณ์ในช่องปาก เช่น เหล็กจัดฟัน ฟันปลอมที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นแหล่งกักเก็บเศษอาหาร หากไม่ทำความสะอาดอย่างทั่วถึงหรือใช้อุปกรณ์เสริม เช่น แปรงซอกฟัน หรือไหมขัดฟันร่วมกับการแปรงฟันจะทำให้เศษอาหารและเชื้อโรคหมักหมมและเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ นอกจากนี้ การมีนิ่วในต่อมทอนซิล (Tonsil stones) หรือภาวะต่อมอะดีนอยด์โต (Adenoid hypertrophy) ก็สัมพันธ์กับการเกิดกลิ่นปาก แนะนำให้พบโสต ศอ นาสิกแพทย์เพื่อตรวจคอหอยและกำจัดสาเหตุออก นอกจากนี้พฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดกลิ่นปากได้เช่นกัน โดยเฉพาะในผู้สูบบุหรี่ที่มักจะมีกลิ่นติดตัวอยู่แล้ว เมื่อรวมกับเชื้อโรคในช่องปากจะยิ่งก่อกลิ่นรุนแรงมากขึ้น ซึ่งทั้งสองอย่างนี้นอกจากจะทำให้เกิดกลิ่นปาก คราบเหลืองติดฟันแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเหงือกอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันในช่องปาก เนื่องจากสารประกอบในบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะรบกวนระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้ต่อสู้กับเชื้อก่อโรคในช่องปากทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์หรือโรคเหงือกที่รุนแรงกว่าคนทั่วไป และที่สำคัญคือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งช่องปากอีกด้วย (อ่านเพิ่มเติม มะเร็งช่องปาก-ภัยเงียบจากพฤติกรรมเสี่ยงที่ถูกมองข้าม)
ประเภทที่สอง คือ กลิ่นปากที่มีสาเหตุจากภายนอกช่องปาก เกิดจากความผิดปกติในระบบร่างกายส่วนอื่น เช่น การรับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรง โรคระบบทางเดินอาหาร โรคกรดไหลย้อน โรคลำไส้ต่าง ๆ หรือแม้แต่อาการท้องผูกเรื้อรัง ก็สามารถทำให้เกิดกลิ่นปากได้ ดังนั้น แนะนำผู้ที่มีภาวะผิดปกติในระบบดังกล่าวปรึกษาแพทย์ระบบทางเดินอาหารเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ร่วมกับปรึกษาทันตแพทย์เพื่อรักษาสุขภาพช่องปากควบคู่กันไป
ประเภทสุดท้าย คือ กลิ่นปากเทียม ซึ่งไม่ได้เกิดจากกลิ่นจริง แต่เป็นความรู้สึกที่เกิดจากอาการวิตกกังวลของผู้ป่วยเอง จัดเป็นอาการทางจิตวิทยามากกว่าปัญหาสุขภาพช่องปาก
การทดสอบการมีกลิ่นปากสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การใช้เครื่องทดสอบกลิ่น หรือการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียก่อกลิ่น แต่เบื้องต้นสามารถทดสอบได้ด้วยตนเอง เช่น การใช้มืออังลมหายใจจากปาก หรือการใช้ไม้ไอศกรีมหรือนิ้วมือที่สะอาดกดเบา ๆ ที่บริเวณโคนลิ้น ทิ้งไว้สักครู่ แล้วดมกลิ่น หากมีกลิ่นเล็กน้อยและจางหายไปอย่างรวดเร็วถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากในน้ำลายมีเชื้อจุลินทรีย์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่หากกลิ่นยังคงอยู่เป็นเวลานาน อาจเป็นสัญญาณของการมีเชื้อก่อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก
อีกปัจจัยสำคัญที่มักถูกมองข้ามและละเลยไปคือการทำความสะอาดลิ้น เนื่องจากลิ้นมีลักษณะพื้นผิวที่ขรุขระ มีปุ่มรับรสอยู่มากมาย ซึ่งพื้นผิวนี้กักเก็บเศษอาหารและเชื้อโรคได้มาก การแปรงลิ้นและความสะอาดลิ้นอย่างถูกวิธีจึงช่วยลดกลิ่นปากได้โดยใช้แปรงสีฟันขนนุ่มโดยไม่ต้องใช้ยาสีฟัน ก้มหน้าเล็กน้อย แลบลิ้นออกมา และแปรงเบา ๆ จากโคนลิ้นมาถึงปลายลิ้นในทิศทางเดียวจนทั่วจนลิ้นมีสีชมพูอ่อน ไม่มีคราบขาวติดลิ้น และระวังไม่ให้แปรงแรงเกินไปจนลิ้นถลอกเป็นแผล หรือแปรงลึกเกินไปจนอาเจียน หากยังทำไม่ได้ในครั้งแรก ให้ค่อย ๆ ฝึกทำความคุ้นเคยก่อน ควรทำความสะอาดลิ้นวันละครั้งตามด้วยการบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดกลั้วคอ ก่อนการแปรงฟันก่อนนอน
โรคฟันผุ
โรคฟันผุ เป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบได้ในทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ วัยทำงาน ไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ โดยเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีผู้ป่วยทางทันตกรรมจำนวนมากในประเทศไทย แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการเน้นการทำงานในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุเป็นหลัก แต่การปลูกฝังการดูแลสุขภาพช่องปากตั้งแต่วัยเด็กก็ยังคงมีความสำคัญไม่น้อย
การเกิดโรคฟันผุนั้นเกิดจากการทำงานร่วมกันของปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ จุลินทรีย์ สารอาหาร ตัวฟัน และระยะเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะเชื้อจุลินทรีย์ในกลุ่มสเตรปโตคอคไค (Streptococci) ที่อาศัยอยู่ในแผ่นคราบจุลินทรีย์บนผิวฟัน จะย่อยสลายน้ำตาลที่ตกค้างในช่องปาก เพื่อใช้เป็นพลังงานในการเจริญเติบโต กระบวนการนี้ก่อให้เกิดกรดแลคติคซึ่งสามารถทำลายแร่ธาตุของฟัน (Demineralization) จนผิวฟันเกิดการผุกร่อน ลุกลามเข้าสู่ชั้นเนื้อฟันเป็นโพรง อย่างไรก็ตาม ฟันผุเป็นโรคที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากกรดต้องใช้เวลาในการสัมผัสกับผิวฟันอย่างต่อเนื่องจึงจะสามารถทำลายโครงสร้างของฟันอันแข็งแรงได้ โดยในฟันผุระยะแรก ผู้ป่วยอาจไม่สังเกตเห็นความผิดปกติ จะสังเกตได้ต่อเมื่อผิวฟันหรือหลุมร่องฟันดำ หรือฟันแตกผุเป็นโพรง อาจมีอาการเสียวฟัน หรือเศษอาหารติดคาอยู่ในรู มีกลิ่นปาก หากไม่รักษาอาจผุลุกลามจนถึงโพรงเส้นประสาทฟัน ซึ่งเมื่อถึงระยะนี้แล้วมีอาจอาการปวดฟันมาก ปวดฟันขึ้นมาเอง หรือปวดเมื่อทานของเย็นของร้อนแล้วอาการคงอยู่ไม่หายไป หรือบางรายอาจไม่มีอาการใดๆ แต่มีหนองปลายรากฟัน เนื่องจากเชื้อทำให้ฟันตายและติดเชื้อลงสู่ปลายรากฟัน การดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอและมาพบทันตแพทย์เป็นประจำร่วมกับเอกซเรย์ในช่องปาก เพื่อตรวจฟันผุระยะเริ่มต้น จะลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันเนื่องจากฟันผุลุกลามได้
ซึ่งรอยผุระยะเริ่มต้นที่ยังไม่เป็นโพรง ทันตแพทย์จะแนะนำการดูแลสุขภาพช่องปากหรือทาฟลูออไรด์เพื่อเสริมความแข็งแรง หวังผลการคืนกลับของแร่ธาตุที่ผิวฟัน (Remineralization) แต่เมื่อฟันผุเป็นโพรงแล้วทันตแพทย์จะกำจัดรอยผุ และอุดบูรณะให้ฟันกลับมาใช้งานได้ แต่หากรอยผุนั้นเข้าสู่โพรงประสาทฟันแล้ว การรักษาจะซับซ้อนขึ้น เช่น รักษาคลองรากฟันแล้วทำครอบฟัน หรือหากฟันผุมากจนบูรณะไม่ได้ ทันตแพทย์จะพิจารณาถอนฟันและแนะนำให้ใส่ฟันเทียมทดแทน ดังนั้น การตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันโรคฟันลุกลาม เสียค่าใช้จ่ายไม่มาก และลดโอกาสเสี่ยงในการสูญเสียฟันในภายหลัง
โรคปริทันต์ หรือ รำมะนาด
โรคปริทันต์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าโรคเหงือก และในภาษาพื้นบ้านบางพื้นที่เรียกว่า “โรครำมะนาด” คำว่า “ปริทันต์” มาจากคำว่า “ปริ (ปะ-ริ)” แปลว่า “รอบ ๆ” และคำว่า “ทันต์” ที่แปลว่า “ฟัน” เมื่อรวมกันจึงหมายถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะรอบฟัน ได้แก่ เหงือก เนื้อเยื่อปริทันต์ และกระดูกเบ้าฟันที่ทำหน้าที่ยึดฟันให้อยู่ในตำแหน่งที่แข็งแรง โรครำมะนาดเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบบ่อยในวัยทำงานและผู้สูงอายุ เกิดจากคราบจุลินทรีย์สะสม ก่อตัวเป็นหินน้ำลายหรือหินปูน ทำให้เหงือกอักเสบ เลือดออกตามไรฟัน เหงือกร่น ฟันโยก นำไปสู่การสูญเสียฟันได้หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม
โรคปริทันต์เป็นโรคที่แฝงตัวมาอย่างเงียบ ๆ เช่นเดียวกับโรคฟันผุ กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ ความเสียหายก็มักลุกลามไปมากแล้ว โดยเริ่มต้นจากการคราบจุลินทรีย์ที่ก่อตัวขึ้นจากการแปรงฟันไม่สะอาดในแต่ละวันรวมกับเชื้อแบคทีเรียในช่องปากสะสมตัวบริเวณขอบเหงือก ทำให้เหงือกอักเสบ แปรงฟันแล้วมีเลือดออก ผู้ป่วยมักกังวลและหลีกเลี่ยงการแปรงบริเวณนั้น ก็ยิ่งทำให้เหงือกอักเสบมากขึ้น คราบเหล่านี้จะค่อย ๆ แข็งตัวกลายเป็นหินน้ำลาย หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “หินปูน”
หินปูนที่ว่านี้ไม่ใช่แค่สิ่งสกปรกธรรมดา แต่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียชั้นดี พื้นผิวที่ขรุขระของมันเป็นเหมือนบ้านหลังใหม่ให้เชื้อโรคเข้ามาอยู่อาศัย และที่สำคัญมันไม่สามารถกำจัดออกได้ด้วยการแปรงฟันธรรมดา ต้องได้รับการขูดหินปูนจากทันตแพทย์เท่านั้น
เมื่อปล่อยให้หินปูนสะสมนานวันเข้า เชื้อแบคทีเรียจะปล่อยสารพิษออกมาทำลายเนื้อเยื่อรอบ ๆ ฟัน เริ่มจากเหงือกที่เป็นด่านแรก ทำให้เกิดการอักเสบ บวมแดง และมีเลือดออกง่ายเวลาแปรงฟัน หากยังไม่ได้รับการรักษา การอักเสบจะลุกลามลึกลงไปถึงเนื้อเยื่อปริทันต์และกระดูกเบ้าฟัน ทำให้กระดูกที่รองรับรากฟันค่อย ๆ ละลายตัว เหงือกร่นลง จนเห็นรากฟันโผล่ ฟันเริ่มโยก และในที่สุดก็หลุดออกมา
ที่น่าสนใจคือ โรคปริทันต์ไม่ได้เกิดจากแค่การดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่ดีเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การสูบบุหรี่ที่ทำให้การไหลเวียนเลือดในเหงือกแย่ลง โรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ความเครียดที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ และแม้แต่พันธุกรรมก็มีส่วนทำให้บางคนมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่าคนอื่น
โรคปริทันต์เป็นโรคที่ป้องกันได้ และถ้าตรวจพบเร็ว ก็รักษาให้หายได้ การดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกวิธี ทั้งการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน และที่สำคัญคือการพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้คุณมีฟันที่แข็งแรง และรอยยิ้มที่สดใสไปตลอดชีวิต
เรื่องของโรคปริทันต์จึงไม่ใช่แค่เรื่องของฟันโยกหรือมีกลิ่นปากธรรมดา แต่เป็นโรคที่ต้องให้ความสำคัญและใส่ใจดูแล เพราะสุขภาพช่องปากที่ดีไม่เพียงแต่ทำให้คุณยิ้มได้อย่างมั่นใจ แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมอีกด้วย อย่าลืมว่า การป้องกันดีกว่าการรักษา และไม่มีใครดูแลสุขภาพช่องปากของคุณได้ดีเท่ากับตัวคุณเอง
แผลในช่องปาก
แผลในช่องปาก เป็นอาการที่หลายคนอาจเคยประสบพบเจอ แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า แผลในช่องปากนั้นมีหลายประเภท และบางชนิดอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง
แผลที่พบได้บ่อยที่สุด คือ แผลที่เกิดจากการบาดเจ็บ หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Traumatic Ulcer ซึ่งมักเกิดจากอุบัติเหตุเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน เช่น การโดนแปรงสีฟันกระแทก กัดโดนเมื่อเคี้ยวอาหาร แผลประเภทนี้มักรักษาหายได้ง่าย โดยหาซื้อ ยาทาแผลในปากที่มีส่วนผสมของยาต้านการอักเสบพวกเสตียรอยด์อย่างอ่อน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะหายได้เองภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งถึงสองสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม มีแผลในช่องปากอีกประเภทหนึ่งที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ นั่นคือแผลเรื้อรังที่ไม่หายภายในระยะเวลาปกติ แผลประเภทนี้มักมีขนาดใหญ่และมีอาการเจ็บปวดมาก หากพบว่าแผลไม่หายภายใน 2-4 สัปดาห์ ควรรีบพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด
ที่น่าเป็นห่วงคือ แผลในช่องปากบางชนิดอาจเป็นสัญญาณแรกเริ่มของมะเร็งช่องปาก ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากแผลทั่วไป การสังเกตและเฝ้าระวังจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เนื่องจากพฤติกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่ลดประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในช่องปากเท่านั้น แต่ยังทำให้กระบวนการหายของแผลช้าลง และเพิ่มความเสี่ยงในการพัฒนาไปเป็นมะเร็งช่องปากอีกด้วย
หากพบว่ามีแผลในช่องปากที่ไม่หายภายในระยะเวลาสองสัปดาห์ โดยเฉพาะในผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ควรให้ความสำคัญและรีบปรึกษาทันตแพทย์แต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันการลุกลามของโรคที่อาจร้ายแรงในอนาคต
การดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงโดยเฉพาะผู้เป็นแผลในช่องปาก แล้วเป็นผู้ดื่มหนัก สูบหนักด้วย ก็มีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นรอยโรคมะเร็งในช่องปากได้
การเข้าถึงบริการทันตกรรมในประเทศไทย
จากข้อมูลที่ ผศ.ทพญ.ดร.วรรณกมล ปัญญารักษ์ ได้กล่าวถึงปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบบ่อย การดูแลสุขภาพช่องปากถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรให้ความใส่ใจ เนื่องจากไม่เพียงช่วยรักษาความแข็งแรงของฟัน แต่ยังเป็นการป้องกันปัญหาสุขภาพช่องปากที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้การดูแลสุขภาพฟันนั้น ผศ.ทพญ.ดร.วรรณกมล ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับ การดูแลสุขภาพช่องปากแห่งชาติ: แผนยุทธศาสตร์ 2566-2580
การดูแลสุขภาพช่องปากในประเทศไทยได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว พ.ศ. 2566-2580 ซึ่งครอบคลุมการดูแลตั้งแต่ระดับโครงสร้าง ตั้งแต่ระดับบุคคลจนถึงระดับประเทศ โดยภาครัฐได้ดำเนินการสร้างสิ่งแวดล้อมและระบบประกันสุขภาพที่เอื้อต่อการเข้าถึงบริการทันตสาธารณสุขของประชาชน ทั้งในโรงพยาบาลใกล้บ้านและคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยแผนยุทธศาสตร์ได้แบ่งการรณรงค์ออกเป็น 3 แคมเปญ ตามช่วงวัย โดยแคมเปญแรกจะเป็นกลุ่มวัยเด็ก มุ่งเน้นการป้องกันและดูแลปัญหาฟันผุ โดยตั้งเป้าหมายให้เด็กไทยมีฟันดีปราศจากฟันผุ หรือมีอัตราฟันผุเป็นศูนย์ แคมเปญที่ 2 คือ วัยทำงาน เน้นการลดปัญหาโรคปริทันต์หรือโรคเหงือก ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบบ่อยในวัยนี้ เพื่อป้องกันการสูญเสียฟันก่อนวัยอันควร และสุดท้ายคือ วัยสูงอายุ จะดำเนินการผ่านโครงการ 80/20 มีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุมีฟันธรรมชาติเหลือในช่องปากมากกว่า 20 ซี่ หรือมี 4 คู่สบฟันหลัง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในการบดเคี้ยวอาหาร โดยหลายท่านอาจจะเคยได้ยินในการรณรงค์แคมเปญแบบนี้ดังนั้นเป้าหมายในปี 2580 ระยะยาว จึงเป็นการมุ่งเน้นทำงานใน 3 วัย คือ วัยเด็ก วัยทำงานและวัยสูงอายุนั่นเอง
ประเทศไทย นับว่ามีระบบบริการทันตกรรมที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการรับบริการในโรงพยาบาลหรือคลินิกทันตกรรมใกล้บ้าน ด้วยความสะดวกในการเข้าถึงบริการนี้ จึงควรส่งเสริมให้มีการปลูกฝังการดูแลสุขภาพช่องปากตั้งแต่วัยเด็ก หลายคนอาจเข้าใจว่าฟันน้ำนมไม่จำเป็นต้องดูแลมากนัก เพราะจะหลุดไปเองตามธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ควรเริ่มพาเด็กไปพบหมอฟันตั้งแต่มีฟันซี่แรกขึ้นในช่องปาก ซึ่งโดยทั่วไปคือช่วงอายุประมาณ 6 เดือน การพาเด็กไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่เล็ก ช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับการไปพบหมอฟัน ลดความกลัวที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และการไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถตรวจพบและรักษาปัญหาสุขภาพช่องปากตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะใช้วิธีการรักษาที่ไม่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาในระยะที่โรคลุกลามแล้ว และเป็นการสร้างนิสัยการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก
คำแนะนำการดูแลช่องปาก
- การดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีนั้น สามารถเริ่มต้นจาก การเลือกแปรงสีฟันที่เหมาะสม แม้ว่าหลายคนอาจเชื่อว่าแปรงสีฟันที่นุ่มมาก หรือมักเรียกกันว่า Super soft ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ส่วนใหญ่แล้วจะแนะนำให้เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงระดับนุ่มปานกลาง หรือแบบ Soft ด้วยเหตุผลประสิทธิภาพในการทำความสะอาด โดยแปรงสีฟันที่นุ่มเกินไป หรือแบบ Super soft อาจไม่สามารถกำจัดคราบและเศษอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในทางตรงกันข้าม แปรงสีฟันที่ใหญ่แข็งเกินไปอาจทำให้เข้าไปทำความสะอาดซอกฟันที่อยู่ด้านในได้ยาก เกิดปัญหาคอฟันสึกและเหงือกร่น นอกจากความนุ่มของขนแปรง ขนาดของหัวแปรงก็มีความสำคัญแล้ว โดยแปรงสีฟันที่ดีควรมีคุณสมบัติที่มีขนาดหัวแปรงที่พอเหมาะสมกับช่องปาก ไม่ใหญ่เกินไป เพื่อให้สามารถเข้าถึงซอกฟันด้านในได้ง่าย และควรมีขนาดที่ครอบคลุมฟัน 3 ซี่ มีขนแปรงนุ่มปานกลาง ไม่แข็งหรือนุ่มจนเกินไป การเลือกแปรงสีฟันที่มีขนาดเหมาะสมกับช่องปากของแต่ละบุคคลจะช่วยให้การทำความสะอาดฟันมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากในระยะยาว และควรเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3 เดือน
- การเลือกยาสีฟัน สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือปริมาณฟลูออไรด์ที่ผสมอยู่ในยาสีฟัน โดยปัจจุบันแนะนำให้ผู้ใหญ่ควรเลือกใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ 1,500 ppm ซึ่งเพิ่มขึ้นจากคำแนะนำเดิมที่ 1,000 ppm เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคในปัจจุบันที่มีการบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่สูงขึ้น ทั้งจากเครื่องดื่มและอาหารต่างๆ สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ตามองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงแนะนำให้ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ 1,000 ppm เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยและเหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อให้การใช้ยาสีฟันเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันฟันผุ ควรแปรงฟันในตอนเช้า หลังอาหาร และก่อนนอน โดยหลังแปรงฟันเสร็จ ไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ฟลูออไรด์คงอยู่ในช่องปากได้นานขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุได้ดียิ่งขึ้น, คำว่า ppm ย่อมาจาก part per million คือ ปริมาณสารที่สนใจในปริมาณสารทั้งหมดล้านส่วน นั่นคือ ยาสีฟันฟลูออไรด์ 1,500 ppm มีสารฟลูออไรด์ 1,500 กรัมต่อยาสีฟัน 1 ล้านกรัม หรือเท่ากับฟลูออไรด์ 1.5 มิลลิกรัมต่อยาสีฟัน 1 กรัม
- วิธีการแปรงฟันที่ถูกต้องเพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี แม้ว่าในทางทันตกรรมจะมีเทคนิคการแปรงฟันถึง 5 วิธี แต่สำหรับการดูแลสุขภาพช่องปากในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป มีวิธีที่แนะนำและปฏิบัติได้ง่าย 2 วิธี คือ วิธีแรก เป็นการปัดขึ้นปัดลง (Roll Technique) เป็นวิธีพื้นฐานที่ง่ายที่สุดในการทำความสะอาดฟัน โดยใช้แปรงสีฟันเอียงทาบลงบนขอบเหงือก 45° แล้วปัดขึ้นลงตามแนวฟัน วิธีที่ 2 เป็นเทคนิคขั้นสูง เป็นการพัฒนาต่อยอดจาก Roll Technique เรียกว่า วิธีขยับ-ปัด (Modified Bass’s technique) โดยวางขนแปรงบริเวณคอฟันวางเฉียงเข้าไปในบริเวณคอฟันที่ชิดกับขอบเหงือก 45° แล้วก็สั่นเล็กน้อย จากนั้นค่อย ๆ ปัดขึ้นหรือลงตามแนวฟัน วิธีนี้นอกจากจะช่วยกำจัดเศษอาหารแล้วก็เป็นการนวดเหงือกได้ในตัว
- การแปรงฟันแบบแห้ง เป็นแนวทางหนึ่งในการดูแลสุขภาพช่องปากที่หลายคนอาจเคยได้ยินมาแล้ว หลักการของวิธีนี้คือ การหลีกเลี่ยงการใช้น้ำระหว่างแปรงฟัน เพื่อให้สารออกฤทธิ์ในยาสีฟันสามารถทำงานได้เต็มที่และอยู่ในช่องปากได้นานขึ้น การแปรงฟันแบบแห้งสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละบุคคล คือแตะแปรงสีฟันกับน้ำเพียงเล็กน้อย แค่พอให้ขนแปรงชุ่ม แล้วจึงบีบยาสีฟันลงไป สำหรับผู้ใหญ่ให้บีบเต็มแปรง ส่วนในเด็กให้บีบเท่าปริมาณเม็ดถั่วลันเตา จากนั้นแปรงฟันในช่องปากที่ยังแห้งอยู่ แล้วบ้วนน้ำลายและฟองออกโดยไม่ต้องล้างน้ำ หรือบางรายอาจแปรงแบบไม่ใช้น้ำเลย โดยบีบยาสีฟันลงบนแปรงที่แห้งสนิท แล้วแปรงฟันตามปกติ เสร็จแล้วให้บ้วนเอาฟองออกโดยไม่ใช้น้ำ สำหรับผู้ที่เริ่มลองใช้วิธีนี้อาจรู้สึกว่า ช่องปากยังไม่สะอาดเต็มที่ หรือไม่สดชื่นหลังแปรง อนุโลมให้บ้วนน้ำเพียงครั้งเดียว เพื่อขจัดฟองยาสีฟันออก
- กรมอนามัยนำเสนอสูตรการแปรงฟัน เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีแบบ 2-2-2 หมายถึง แปรงฟันอย่างน้อย 2 นาที เพื่อให้ฟลูออไรด์คงอยู่ในช่องปากให้นานที่สุด แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ก็คือ ตอนเช้าและก่อนนอน และก็งดรับประทานอาหารหลังการแปรงฟันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
แม้จะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ก็ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยทุก 6 เดือน เนื่องจากปัญหาบางอย่างอาจไม่แสดงอาการให้เห็น เช่น หินปูน ฟันผุในระยะเริ่มต้น หรือรอยโรคที่ตรวจไม่พบได้ด้วยตัวเอง การตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้สามารถรักษาปัญหาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เสียค่าใช้จ่ายน้อย และลดโอกาสการสูญเสียฟัน รวมถึงการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปากทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดการรับประทานอาหารรสหวานจัด งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา งดเคี้ยวหมาก การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคในช่องปากได้ เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของทุกคนในระยะยาว