ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สังคมไทยเผชิญกับปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ มากมาย ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ กาย จิต และสังคมโดยรวม พระสงฆ์ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณ ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นทั้งผู้นำ ผู้ให้ ผู้ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ดีงาม รวมไปถึงการนำเสนอแนวทางเลือกการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์ยังเผชิญกับความท้าทายสำคัญในการสื่อสารกับสังคมสมัยใหม่ ความท้าทายเหล่านี้ ได้แก่ ช่องว่างระหว่างวัย ที่พระสงฆ์ส่วนใหญ่มีอายุมาก ภาษาและวิธีการสื่อสาร อาจไม่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้พระสงฆ์ต้องปรับตัว เรียนรู้ และใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการสื่อสาร ความหลากหลายของสังคมไทยทั้งทางวัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อ พระสงฆ์ต้องสื่อสารให้เข้าถึงและเข้าใจคนกลุ่มวัยต่างๆ และที่สำคัญ ปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารมีมากมาย และหลากหลาย ซึ่งก็มีข้อมูลจำนวนมากเช่นกันไม่ถูกต้อง บิดเบือน พระสงฆ์ต้องมีความรู้ เครื่องมือที่จะกลั่นกรอง แล้วเลือกนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน และพระพุทธศาสนา การจะรับมือกับความท้าทายเหล่านี้จะทำอย่างไร พระสงฆ์ยุคนี้จำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้มีความรู้ ทักษะวิธีการสื่อสารสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เป็นเครื่องมือ นำไปสู่การพัฒนาบทบาทการเป็นพระนักสื่อสารในสังคมปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ถึง วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมาโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุขด้วยหลักพุทธธรรม โดย มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม ร่วมกับ CoFact มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคมภาคอีสานบน ล่าง และภาคีเครือข่าย ด้านการสื่อสารสาธารณะ ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการถวายความรู้ พัฒนาศักยภาพพระนักสื่อสาร ภาคอีสาน “ทักษะการรู้เท่าทันสื่อและทักษะการตรวจสอบข้อมูลด้วยเครื่องมือดิจิทัล” ให้กับเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา ภาคอีสานบน และภาคอีสานล่าง ในจังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม สกลนคร ขอนแก่น หนองคาย นครพนม เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู บึงกาฬ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร มุกดาหาร นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ณ วัดโพธิการาม ตำบลโพนสูง อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด
เพื่อเสริมศักยภาพเครือข่ายพระนักสื่อสารในพื้นที่ชุมชนภาคอีสานให้ร่วมเป็นนักตรวจสอบข้อมูล (Fact-checker) โดยให้มีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ และทักษะการตรวจสอบข้อมูลด้วยเครื่องมือดิจิทัล เพื่อพัฒนาทักษะการผลิตสื่อสร้างปัญญาให้สังคม สกัดสื่อร้าย สื่อที่บิดเบือนในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ขยายสื่อดี หลักการ หลักธรรมที่ถูกต้อง ในพระพุทธศาสนา กับการดำเนินชีวิตในสังคม และเพื่อวางแผนในการสร้างการสื่อสารสาธารณะงานบวชสร้างสุขระดับพื้นที่/ภาค ที่ออกแบบและพัฒนาโดยพระนักสื่อสาร
โดยภายในกิจกรรม ได้พัฒนาทักษะการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการสืบข้นข้อมูลที่ถูกต้อง การใช้เครื่องมือ Canva ในการออกแบบ ผลิตสื่อแบรนด์เนอร์ การเล่าเรื่อง และการตัดต่อวิดีโอ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร พบว่าพระสงฆ์มีความตื่นตัว และให้ความสนใจเรียนรู้เป็นอย่างมาก
พระครูโพธิวีรคุณ เจ้าคณะอำเภอปทุมรัตต์ เจ้าอาวาสวัดโพธิการาม และคณะกรรมการมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม กล่าวว่า ความสำคัญในการสื่อสารในการเผยแผ่ธรรมะ ในการติดต่อประสานงาน สื่อสารกับญาติโยม ถ้าพระเราไม่รู้ จักวิธีการสื่อสาร ก็อาจจะไม่สามารถเข้าถึงญาติโยมได้
เพราะบทบาทของพระสงฆ์เรา จะต้องมีการเผยแผ่ธรรม มีการอบรมสั่งสอน และคลุกคลีกับญาติโยม ไปบิณฑบาตในงาน ในกิจนิมนต์ต่าง ๆ เท่าเรารับรู้ข้อมูลก็จะช่วยสื่อสารกับญาติโยมได้ อีกหนึ่งสิ่งญาติโยมนั้นมีหลายระดับ มีเด็กมีวัยวุ่น วัยกลางคน ผู้สูงอายุ บางครั้งชุมชน ไม่รู้เท่าทันสื่อ การเข้าถึงสื่อ การนำเสนอธรรมมะ การนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ยิ่งในปัจจุบันมีทั้งในสิ่งที่เป็นจริงไม่เป็นจริง บิดเบือนไม่บิดเบือน สื่อออนไลน์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ถ้าพระท่านรู้ ว่าทิศทาง การนำเสนอสื่อมันเป็นอย่างไร เราจะนำมาใช้ประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนาได้อย่างไร การนำเสนอข้อมูล การเผยแผ่ธรรมะ ให้เข้าถึงญาติโยมต้องใช้วิธีการแบบไหน การเข้าใจการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ แม้แต่ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้า หยิบกิ่งไม้ขึ้นมาก็ใช้สื่อสารสอนธรรมะได้ เปรียบเป็นอุปกรณ์ในการสื่อสาร แต่ว่าทุกวันนี้ โลกสมัยใหม่ในการสื่อสารออนไลน์ มันเร็ว เมื่อเร็วแล้วจิตใจเราต้องมีสติ มีสมาธิมากขึ้น การที่เรารู้สติก็หมายถึงการที่เรารู้ว่า อันไหนเท็จอันไหนจริง อันไหนคือสิ่งที่ถูกต้อง รู้เท่าทัน ฉะนั้นบทบาทของพระสงฆ์ไม่ใช่จะเป็นฝ่ายที่รับอย่างเดียว จะต้องเป็นฝ่ายให้ด้วย ให้ความรู้ ให้สติกับญาติโยมได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่พระสงฆ์จะต้องมาเรียนรู้เรื่องการสื่อสารครั้งนี้ อีกประการสำคัญ สิ่งที่พระสงฆ์กำลังขับเคลื่อนกันอยู่ตอนนี้ คือ การส่งเสริม การบวชสร้างสุข ถ้าเราทำกันอยู่แคบ ๆ ไม่บอกกล่าวประชาสัมพันธ์ญาติโยมก็ไม่รู้ และเข้าไม่ถึง หรือเข้าถึงได้น้อย
อาจารย์อังคณา พรมรักษา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงความจำเป็นและสำคัญในการอบรมครั้งนี้ว่า เรามองว่า พระสงฆ์เอง เป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด ในชีวิตประจำวัน เราจึงมองว่า เป็นโอกาสสำคัญ ที่จะได้มาถวายความรู้ และนิมนต์เชิญชวนให้พระสงฆ์มาร่วมเป็น Fact-checker ร่วมกัน โดยพลังเครือข่ายของการเป็นพระนักสื่อสาร ที่จะได้ช่วยญาติโยมในการตรวจสอบข้อมูลความเป็นจริงในปัจจุบัน ช่วยเตือน ช่วยให้สติกับญาติโยมในชุมชนที่เสพสื่อ ข่าวสารข้อมูลที่มีมากมายในปัจจุบัน
พระพานุ พุทฺธิสโร ผู้เข้ารับการถวายการอบรมครั้งนี้ กล่าวถึงการเข้าร่วมกิจกรรมในครี้งนี้ว่า ครั้งนี้ได้ตั้งใจมาร่วมเพื่อเสริมศักยภาพตนเองในการผลิตสื่อ การทำวิดีโอ การตัดต่อ เพื่อจะนำไปต่อยอดในการผลิตสื่อ เผยเผยแผ่ งานบุญ งานกิจกรรมต่าง ๆ ภายในวัด เพื่อสื่อสารกับญาติโยม ผ่านเพจประชาสัมพันธ์ของวัด โดยรวมแล้วคิดว่าในยุคคปัจจุบัน การสื่อสารถือเป็นเรื่องสำคัญ อนึ่งถือเป็นการเผยแผ่ธรรมะ ที่เข้าถึงญาติโยมได้ง่าย และรวดเร็ว จากการมาอบรมครั้งนี้ ทำให้อาตมาภาพได้เรียนรู้หลายอย่างที่ตัวเองไม่เคยรู้ และไม่เคยทำมาก่อน
เช่น ข้อมูลข่าวสารที่มันมีในปัจจุบัน ที่บางครั้งก็เป็นปัญหาอยู่เหมือนกันถ้าหากมีการสื่อสารในทางที่ผิด การเข้าร่วมอบรมครั้งนี้ได้ทักษะใหม่ ๆ เช่น การทำแบรนด์เนอร์ การทำคลิปวิดีโอ ก็คิดว่า จะนำความรู้ที่ได้ในครั้งนี้ ไปต่อยอดในวัด ในชุมชนต่อไป
ด้านนายชัยณรงค์ คำแดง ผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม และผู้จัดการโครงการบวชสร้างสุข ได้กล่าวถึงความคาดหวังในการจัดการอบรมครั้งนี้ ว่า จุดอ่อนของพระสงฆ์ที่ไม่สอดคล้องกับการสื่อสารยุคใหม่ มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ 1) ธรรมเนียมปฏิบัติของพระสงฆ์ ถ้ายอมรับอะไร นิ่ง หรือภาษาบาลีว่า “ตุณฺหี” คือ ให้เงียบ ไม่ต้องพูด ทำ อะไร พระสงฆ์จำนวนมากในกลุ่มไลน์ 150 รูป เมื่อรูปใดรูปหนึ่งโพสต์ น้อยมากที่จะมีผู้แสดงความรู้สึกให้คนอื่นเห็น เช่น สาธุ ดีมากเลย ขออนุโมทนา ขอบคุณมากครับที่ให้ส่งมาให้เรียนรู้ หรือ กดไลค์ กดแชร์ 2) ค่านิยมทางสังคม อดีตถึงปัจจุบันโยมจำนวนไม่น้อยที่มองพระว่า ไม่ควรเล่น โทรศัพท์ line, tik tok ,face book ทำให้พระขาดการพัฒนาตนเองด้านการสื่อสาร และการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาก็มีแต่โยมทำผลิตในสิ่งที่โยมชอบ เช่น การจัดงานบวชที่ยิ่งใหญ่ มีรถแห่ ดนตรี ดื่มกินน้ำเมาลงทุนหลักหมื่นถึงหลักล้านกว่าจะเข้าถึงศาสนาได้ ในส่วนของพระสงฆ์ไม่มีทำผลิตสื่อที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เช่น จัดงานบวชแบบเรียบง่าย ประหยัด นี่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย คืออย่างไร อย่างนี้เลย
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่พระสงฆ์ต้องปรับธรรมเนียมการสื่อสารภายในองค์กรใหม่และผลิตสื่อดีๆ ให้โยมได้เห็นได้เข้าถึงเพื่อลดค่านิยมทางสังคมที่ผ่านมา โดยพัฒนาตนเองเป็นพระนักสื่อสารผลิตสื่อให้ข้อมูล สื่อกิจกรรมที่ถูกต้อง ต้นแบบ ให้สังคมได้เลือกรับสื่อที่เป็นข้อเท็จจริงทางพระพุทธศาสนา ได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายต่อไป
มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.),
โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุขด้วยหลักพุทธธรรม,